คนไทย เสียชีวิตจากโควิด-19 เป็นลำดับ 4 อาเซียน 0.96%
สธ.พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 103 ราย ตายเพิ่ม 4 ราย ผู้ป่วยสะสม 1,978 ราย ใน 62 จังหวัด กลุ่มผู้ป่วยใหม่ส่วนใหญ่อายุ 20-29 ปี ภูเก็ต สูงสุด 26 มี.ค. - 2 เม.ย. อัตราป่วย 24.6 ต่อแสนประชากร อัตราตายไทย 0.96% ลำดับ 4 อาเซียน อินโดฯ อันดับหนึ่ง 9.6%
- ผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม 103 ราย ตายเพิ่ม 4 ราย
วันนี้ (3 เมษายน 2563) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงข่าว สถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ประจำวันนี้ ว่า ประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 103 ราย รวมยอดสะสม 1,978 ราย อาการรุนแรง 23 ราย เสียชีวิตเพิ่มอีก 4 ราย รวม 19 ราย รักษาหายกลับบ้านเพิ่ม 76 ราย รวม 581 ราย ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์เฝ้าระวัง 22,513 ราย รายใหม่ 60 ราย ผู้เดินทางคัดกรองสะสม สนามบิน 4,380,811 ราย ท่าเรือ 130,922 ราย ด่านพรมแดน 1,749,389 ราย และ สตม. แจ้งวัฒนะ 141,823 ราย
ทั้งนี้ ผู้ป่วยติดเชื้อทั้งหมดมีสัญชาติไทย 1,684 ราย สัญชาติอื่น ๆ 294 ราย จำนวนผู้ป่วยจำแนกตามพื้นที่กทม. 48% ต่างจังหวัด 42% รอยืนยัน 10% แบ่งเป็น กรุงเทพฯ-นนทบุรี 1,049 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 94 ราย ภาคเหนือ 74 ราย ภาคกลาง 291 ราย ภาคใต้ 277 ราย อายุเฉลี่ย 39 ปี อายุสูงสุด 86 ปี อายุน้อยสุด 6 เดือน
นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 103 รายนี้ สามารถแบ่งเป็น 3 กลุ่มดังนี้ กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 48 ราย ได้แก่ กลุ่มสนามมวย 1 ราย กลุ่มสถานบันเทิง 2 ราย พิธีกรรมทางศาสนา ประเทศอินโดนีเซีย 6 ราย กลุ่มผู้สัมผัสกับผู้ป่วยที่มีรายงานมาแล้ว 39 ราย
กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 44 ราย เป็นกุล่มคนไทยที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ 7 ราย คนต่างชาติเดินทางมาจากต่างประเทศ 8 ราย สัมผัสผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 2 ราย ไปสถานที่ชุมชน เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว 4 ราย กลุ่มอาชีพเสี่ยง เช่น ทำงานในสถานที่แออัด หรือทำงานใกล้ชิดสัมผัสกับชาวต่างชาติ 13 ราย บุคลากรทางสาธารณสุข 5 ราย กลุ่มที่ 3 อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค 11 ราย
ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายใหม่ 103 ราย อยู่ในพื้นที่ 14 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 47 ราย ภูเก็ต 12 ราย นนทบุรี, สมุทรปราการ, สงขลา, ยะลา 5 ราย ชลบุรี 4 ราย นราธิวาส, ฉะเชิงเทรา 2 ราย ปทุมธานี, กระบี่, ขอนแก่น, กาฬสินธุ์, หนองคาย 1 ราย และ อยู่ระหว่างสอบสวน 11 ราย
นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับผู้เสียชีวิต 4 ราย ได้แก่ รายที่ 1 ชายไทย 59 ปี อาชีพ พนักงานการรถไฟ วันที่ 21 มีนาคม ไปพบแพทย์โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง และได้กลับไปทำงานโดยปกติ แสดงว่าในช่วงแรกอาการน้อยมาก แต่ปรากฏว่าในวันที่ 31 มีนาคม มีอาการเหนื่อยหอบมากขึ้น ได้เข้ารักษาในโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่ง ตรวจพบเชื้อโควิด-19 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 2 เมษายน
รายที่ 2 เป็นชายไทย อายุ 72 ปี มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันมาก่อนหน้านี้ซึ่งเป็นลูกที่ไปดูมวยที่สนามมวย ผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ มีโรคประจำตัว คือ โรคไต เริ่มป่วยเมื่อวัน 16 มีนาคม และเสียชีวิต 1 เมษายน รายที่ 3 ชายไทย อายุ 84 ปี ทำงานที่สนามมวยราชดำเนิน มีโรคประจำตัว คือ โรคไต ความดันสูง โรคเก๊า ฯลฯ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบลในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม เสียชีวิต 2 เมษายน สำหรับ รายที่ 4 เป็นชายไทย อายุ 84 ปี มีประวัติไปสนามมวย และเริ่มป่วยเมื่อวันที่ 14 มีนาคม เข้ารักษาเมื่อวันที่ 21 มีนาคม ด้วยการไข้ 39.3 มีน้ำมูก ไอ ในโรงพยาบาลรัฐในกทม. และเสียชีวิต ในวันที่ 2 เมษายน
“จะเห็นว่า 3 ใน 4 ราย เป็นผู้สูงอายุทั้งสิ้น รวมถึงมีโรคประจำตัว ขอเน้นย้ำว่า ตอนนี้โดยเฉพาะในเทศกาลสงกราต์ หากท่านเป็นลูกกตัญญู ไม่ควรเข้าใกล้พ่อแม่ คนที่สูงอายุ เพราะเขามีความเสี่ยงสูง ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นตลอดคือ อายุ 20-29 ปี ต้องเพ่งไปที่กลุ่มนี้เพราะมีการเดินทาง เคลื่อนย้าย พบปะสังสรรค์ ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง ที่เกิดแพร่กระจาย ของเชื้อ ผู้ปกครอง ครอบครัวควรจะช่วยกันแนะนำด้วย”
สำหรับสถานการณ์ทั่วโลก 202 ประเทศ มีผู้ป่วยยืนยันสะสมทั้งหมด 1,014,296 ราย ผู้ป่วยหนัก 37,698 ราย รักษาหาย 212,018 ราย เสียชีวิต 52,298 ราย ผู้ป่วยมากที่สุดอันดับ 1 คือ สหรัฐอเมริกา 244,230 ราย อันดับ 2 อิตาลี 115,242 ราย และอันดับ 3 สเปน 112,065 ราย สำหรับประเทศไทย อยู่อันดับที่ 37
- 10 จังหวัดที่มีผู้ป่วยสูงที่สุด
นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับ 10 จังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด (ข้อมูล 3 เมษายน) อันดับ 1 ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 947 ราย ถัดมา คือ นนทบุรี 114 ราย ภูเก็ต 100 ราย สมุทรปราการ 88 ราย ชลบุรี 54 ราย ยะลา 50 ราย ปัตตานี 43 ราย สงขลา 34 ราย เชียงใหม่ 32 ราย ปทุมธานี 24 ราย อยู่ระหว่างสอบสวนโรค 187 ราย
ส่วน 15 จังหวัด ที่ยังไม่มีรายงานพบผู้ป่วย (ข้อมูล 3 เมษายน) ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยนาท ตราด น่าน บึงกาฬ พระนครศรีอยุทธยา พังงา พิจิตร ระนอง ลำปาง สกลนคร สตูล สิงห์บุรี สมุทรสงคราม และอ่างทอง
ทั้งนี้ หากดูสัดส่วนที่มีผู้ป่วยสะสมสูงสุด 10 อันดับแรกของประเทศไทย 1 เดือนที่ผ่านมา (ในอัตราป่วยต่อแสนประชากร) พบว่า อันดับ 1 ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต อัตราส่วน 26.67 ต่อแสนประชากร ถัดมา คือ กรุงเทพมหานคร 15.78 ต่อแสนประชากร นนทบุรี 8.80 ต่อแสนประชากร ยะลา 7.93 ต่อแสนประชากร สมุทรปราการ 6.22 ต่อแสนประชากร ปัตตานี 5.04 ต่อแสนประชากร ชลบุรี 3.28 ต่อแสนประชากร สมุทรสาคร 2.79 ต่อแสนประชากร กระบี่ 2.54 ต่อแสนประชากร และ ประจวบคีรีขันธ์ 2.38 ต่อแสนประชากร ตามลำดับ
“สำหรับ จังหวัดภูเก็ต ภายใน 1 เดือนที่ผ่านมา มีอัตราการเจ็บป่วย มากที่สุดในประเทศ เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร ขณะที่ 26 มีนาคม - 2 เมษายน 2563 ภูเก็ตมีผู้ป่วยรวม 100 ราย อัตราป่วย 24.6 ต่อแสนประชากร อายุระหว่าง 6 เดือน – 69 ปี กระจายทั้ง 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกระทู้ 45 ราย อำเภอเมืองภูเก็ต 26 ราย และอำเภอถลาง 10 ราย ไม่ระบุ 19 ราย และมีผู้เดินทางไปป่วยพื้นที่อื่น อาทิ กทม. ชลบุรี อุบลราชธานี และสุพรรณบุรี” โฆษก ศบค. กล่าว
โฆษก ศบค. กล่าวต่อไปว่า สำหรับสถานการณ์โดยรวมผู้ป่วยยืนยันตามปัจจัยเสี่ยง จำแนกตามรายสัปดาห์ พบว่า ในกลุ่มที่เรากังวลใจมากที่สุด คือ กลุ่มคนที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยัน ซึ่งมีจำนวนมากที่สุด ถัดมา คือ กลุ่มสถานบันเทิง คนไทยมาจากต่างประเทศ อาชีพเสี่ยง และคนต่างชาติที่เข้ามาจากต่างประเทศ ยังต้องกังวลอยู่ ขณะที่ผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับสนามมวย ขณะนี้ มีการติดเชื้อลดลง
- อัตราเสียชีวิตไทย 0.96%
นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในกลุ่มประเทศอาเซียน ประเทศไทยถือเป็น อันดับ 3 ที่มีจำนวนผู้ป่วย 100 รายขึ้นไป โดยอันดับ 1 ได้แก่ สิงคโปร์ วันที่ 1 มีนาคม , มาเลเซีย วันที่ 10 มีนาคม , ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ วันที่ 15 มีนาคม , เวียดนาม 23 มีนาคม , บรูไน 25 มีนาคม และกัมพูชา 29 มีนาคม ขณะที่อัตราการเสียชีวิต ในกลุ่มประเทศอาเซียน (ณ วันที่ 3 เมษายน 2563) อินโดนีเซีย มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 9.6% ฟิลิปปินส์ 4.06% มาเลเซีย 1.60% ไทย 0.96% สิงคโปร์ 0.8 และ เวียดนาม 0%
- ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก
นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำว่า ด้านการแพทย์และสาธารณสุขเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะมาตรการ การเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing และ การรณรงค์ให้ทุกคน อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ รวมถึงปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์ ทั้งนี้ บุคลากรทางการแพทย์ ต้องได้รับการสนับสนุนเร่งด่วนด้านเวชภัณฑ์ในโรงพยาบาลทุกพื้นที่ และต้องมีระบบการกระจายที่มีประสิทธิภาพ จะขาดแคลนไม่ได้
“ซึ่งทางนายกรัฐมนตรี จะติดตามด้วยตัวเอง เพื่อให้ทีมหมอที่เปรียบเสมือนนักรบที่อยู่แนวหน้าคอยต่อสู้สกัดกั้นข้าศึกที่มองไม่เห็นด้วยความเสียสละอดทน และในฐานะแม่ทัพจะไม่ยอมให้กำลังหลักต้องต่อสู้ภายใต้ความขาดแคลนไม่ได้อย่างเด็ดขาด ต้องมีขวัญกำลังใจที่เข้มแข็งอยู่เสมอ เพื่อเอาชนะวิกฤตครั้งนี้ให้ได้ โดยระบุว่า “สุขภาพนำ เสรีภาพ” เป็นที่มาของการประกาศข้อกำหนด ห้ามบุคคล ออกนอกเคหะสถานระหว่างเวลา 22.00 – 04.00 น. ทั่วราชอาณาจักร ยกเว้นผู้ที่มีเหตุจำเป็น หรือผู้ที่ปฏิบัติงานทางด้านการแพทย์ การธนาคาร การขนส่งสินค้าที่จำเป็นเพื่อนอุปโภคบริโภค ยาเวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ เชื้อเพลิง รวมถึงการเดินทางของประชาชนเพื่อเข้าออกเวรทำงาน หรือท่าอากาศยาน ทั้งนี้ต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ในเขตนั้นๆ โดยจะเริ่มในวันนี้ (3 เมษายน) ขออย่าตื่นตระหนกและไม่ต้องกักตุนสินค้า เพราะท่านสามารถออกมาซื้อสินค้าได้ตามปกติ และให้เว้นระยะห่างทางสังคม” โฆษก ศบค. กล่าว