50% ติด'โควิด-19'ตาย คนไม่แก่-ไม่มีโรค
แม้ข้อมูลทั่วโลกและในประเทศไทยจะพบว่าผู้ติดโควิด-19 ส่วนใหญ่ที่จะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตจะเป็นผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว ทว่า คนที่ไม่ได้อยู่ใน 2 กลุ่มเสี่ยงนี้ก็มีโอกาสอาการหนักและเสียชีวิตได้เช่นกัน
ณ วันที่ 3 เมษายน 2563 อัตราตายจากโรคโควิด-19ในกลุ่มอาเซียน พบว่า ประเทศอินโดนีเซีย 9.60 % ฟิลิปปินส์ 4.06 % มาเลเซีย 1.60 % สิงคโปร์ 0.38 % เวียดนาม 0 ส่วนประเทศไทยอยู่ที่ 0.96 % โดยมีผู้เสียชีวิตจำนวนรวม 19 ราย จากที่มีผู้ป่วยยืนยันสะสมทั้งสิ้น 1,978 ราย ในจำนวนนี้ อาการหนัก 23 ราย ขณะที่รักษาหายกลับบ้านแล้ว 581 ราย
ผู้ติดเชื้อโควิด-19และเสียชีวิตในประเทศไทย จำนวน 19 ราย
1 มีนาคม 2563 เสียชีวิตรายแรก ชายไทย 35 ปี
24 มีนาคม เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย ชายไทย 70 ปี เป็นผู้ป่วยที่มีโรควัณโรคร่วม ชายไทย 79 ปี มีโรคประจำตัวหลายโรค ชายไทย อายุ 45 ปี มีโรคเบาหวาน และภาวะอ้วน
27 มีนาคม 2563 เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ชายไทย 50 ปี
28 มีนาคม 2563 เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย หญิงไทย 55 ปี มีประวัติป่วยเป็นโรคเบาหวาน ควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี และไขมันในเลือดสูง
29 มีนาคม 2563 เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ชายไทย 68 ปี มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน
30 มีนาคม 2563 เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย ชายไทย 54 ปี มีโรคปะจำคือเบาหวานและความดันโลหิตสูง หญิงไทย 56 ปี
31 มีนาคม 2563 เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ชายไทย 48 ปี มีประวัติเป็นโรคเบาหวานและมะเร็ง
1 เมษายน 2563 เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย ชายไทย 79 ปี มีประวัติโรคประจำตัว เบาหวาน ไตวายเรื้อรัง และชายไทย 58 ปี
2 เมษายน 2563 เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย ชายไทย 57 ปี ,ชายไทย 77 ปี และชายไทย 55 ปี
3 เมษายน 2563 เสียชีวิตเพิ่ม 4 ราย ชาย ไทย 59 ปี ชายไทย 72 ปีมีโรคไต ชายไทย 84 ปีมีโรคไต ความดันโลหิตสูง เก๊า และชายไทย 84 ปี
จากรายงานจะเห็นได้ว่าเป็นผู้สูงอายุ 7 ราย ส่วนผู้ที่อายุไม่ถึง 60 ปีแต่เป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว 4 ราย แสดงว่าข้อมูลเบื้องต้นนี้ในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด 19 ราย เป็นผู้ที่มีอายุไม่เกิน 60 ปีและไม่มีโรคประจำตัว 8 ราย
ในคนติดโควิด-19ที่มีประวัติโรคประจำตัว ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ภูมิแพ้ หอบหืด เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจโต เกาต์ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ไขมันในเลือดสูง ไตวายเรื้อรัง มะเร็งลำไส้ ตับอักเสบ กลุ่มอาการต้านฟอสโฟลิพิด เส้นเลือดสมองตีบ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก ติดเชื้อเอชไอวี ลมชัก สะเก็ดเงิน ภาวะซึมเศร้าที่เกิดจากการปรับตัว มะเร็งต่อมน้ำลาย ไซนัส ไทรอยด์
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลผู้ติดโควิด-19ในไทย พบว่า ไม่มีอาการ 20% มีอาการ 80% แยกเป็น อาการไม่รุนแรงคล้ายไข้หวัด 65% ปอดอักเสบไม่รุนแรง 12% และปอดอักเสบรุนแรง 3%
“กรุงเทพธุรกิจ” สอบถามว่า กรณีผู้ติดโควิด-19และกรณีผู้เสียชีวิต ยังเป็นกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นส่วนใหญ่หรือไม่
รองศาสตราจารย์(พิเศษ)นายแพทย์ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวว่า ถูกต้อง เพราะว่าเชื้อตัวนี้ออกมาจะโจมตีผู้สูงอายุกับผู้ที่มีโรคประตัว ซึ่งสมมติเชื้อตัวนี้มาเมื่อ 100 ปีก่อน มันโจมตีกลุ่มนี้เช่นกันแต่ในสมัยนั้นจำนวนผู้สูงอายุมีไม่มาก กลายเป็นเหมือนไข้หวัดธรรมดาแล้วก็หาย แต่สมัยนี้ผู้สูงอายุมีจำนวนมาก ประเทศไทยเพศหญิงมีอายุขัยเฉลี่ย 84 ปี เพศชายอายุขัยเฉลี่ย 82 ปี ส่วนใหญ่จะมีโรคประจำตัวด้วย จึงเป็นกฎเกณฑ์ธรรมชาติที่เชื้อโรคต่างๆก็จะมาจู่โจมผู้สูงอายุและทำให้เสียชีวิต เพราะเมื่อจู่โจมคนหนุ่มสาวที่แข็งแรงก็จะเจาะไม่เข้า
กรณีที่ผู้เสียชีวิตหรือมีอาการหนักที่ไม่ใช่ผู้สูงอายุและไม่มีโรคประจำตัว รองศาสตราจารย์(พิเศษ)นายแพทย์ทวี บอกว่า ปัจจัยเสี่ยง 2 ข้อนั้นไม่ใช่จะต้อง 100 % คนที่ไม่เข้ากลุ่มเสี่ยงนั้น คงมีปัจจัยอย่างอื่น เช่น 1.ไปรับเชื้อจำนวนมาก อยู่ในที่แออัดเป็นเวลานาน 2.คนที่สูบบุหรี่ ซึ่งจะทำให้ปอดอ่อนแอลง เหมือนฟองน้ำที่เมื่อชุ่มน้ำแล้วก็ทำงานได้ไม่ดี 3.คนสำมะเลเทเมา นอนดึกต่างๆ ภูมิต้านทางของกร่างกายลดลง คนอดนอนภูมิต้านทางของร่างกายจะลดลง และโรคต่างๆก็จะตามมา
อาจมีบางกรณีหรือไม่ที่เข้ารับการรักษาช้า รองศาสตราจารย์(พิเศษ)นายแพทย์ทวี กล่าวว่า มีบางคนที่ป่วยอยู่ตั้ง 12-13 วัน ตอนนี้เริ่มเห็นข้อมูลมากขึ้น โรคนี้ไม่เหมือนไข้เลือดออก ที่จะมีไข้สูง 39-40 องศา ไม่ลดเลย แต่โรคนี้ บางคนไอ น้ำมูกนิดๆไปซื้อยากินเอง และต้องยอมรับว่าบางคนอยู่ในระดับที่ไม่สามารถพบแพทย์ได้ทุกวัน เพราะฉะนั้น ก็มีการยืดยาวมาเรื่อยๆจนร่างกายไม่ไหว ถึงช่วงเวลานั้นเริ่มเหนื่อยหอบ แสดงว่าลงไปที่ปอดแล้ว จะทำให้รักษายาก เพราะโรคของมันเอง หากสามารถจัดการได้เลยเหมือนไข้หวัดใหญ่ที่มีไข้สูง 39-40 องศา 2-3 วันจะต้องพบแพทย์แล้วก็จะรักษาได้ แต่โรคนี้จะคลึงไปเรื่อยๆช้าๆ เป็นลักษณะของโรคที่กำลังเรียนรู้กับมันอยู่
คำแนะนำที่จะไม่ให้ผู้ติดเชื้อมาพบแพทย์ช้าเกินไป รองศาสตราจารย์(พิเศษ)นายแพทย์ทวี กล่าวว่า แต่ละคนจะต้องพยายามที่จะดูแลตัวเองมากขึ้น โดยคนที่รู้ตัวว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไปมีพฤติกรรมที่อาจจะทำให้ติดเชื้อ หากเริ่มมีอาการป่วย ไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูกให้รีบพบแพทย์และแจ้งประวัติเสี่ยง ส่วนคนที่ยังไม่มีอาการจะตรวจโควิดคงเป็นไปไม่ได้ เพราะเหมือนการเหวี่ยงแห ทอดไปก็ไม่ได้ปลา แต่จะเสียทรัพยากรเสียแรง
ขณะที่นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า ในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดในประเทศไทย 50% เป็นกลุ่มเสี่ยง คือ เป็นผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว ส่วนอีก 50% ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง
คนที่มีอาการต่อไปนี้ให้รีบมาพบแพทย์ 1.ไข้สูง 37.5 องศาขึ้นไป 2.อาการไข้ไม่ดีขึ้น และแย่ลง 3.เริ่มหายใจเร็ว และเหนื่อยหอบ หายใจอึดอัด หายใจไม่อิ่ม