คิดจะผลิต ‘หน้ากากผ้า’ ขาย ต้องรู้คุณสมบัติอะไรบ้าง?
เรื่องน่ารู้สำหรับผู้ประกอบการที่ผลิตหน้ากากผ้าจำหน่าย ทั้งเรื่องคุณลักษณะของผ้า และคุณลักษณะของหน้ากากที่ทำจากผ้า
หลังจากที่โรคระบาดโควิด-19 หรือไวรัสโคโรน่าระบาดหนักมากขึ้น จำนวนผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่ในต่างประเทศเท่านั้น ประเทศไทยก็พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเช่นกัน ปัจจุบัน (3 เมษายน 2563) พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 103 ราย ทำให้มียอดสะสม 1,978 ราย ขณะที่ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 4 ราย รวมมีผู้เสียชีวิตสะสม 19 ราย รักษาหายแล้วกลับบ้าน 581 ราย
แน่นอนว่าส่งผลให้ประชาชนเกิดความตื่นหนก และตระหนักถึงความปลอดภัยของตัวเองไปพร้อมๆ กัน ทุกคนต่างมองหาอุปกรณ์ป้องกันอย่างหน้ากากอนามัย แต่ต้องยอมรับว่าช่วงก่อนหน้านี้ค่อนข้างที่จะหายาก จนอาจกลายเป็นแรร์ไอเทม เมื่อความต้องการยังมีอยู่มาก ในท้องตลาดจึงมีสินค้าทดแทนอย่าง “หน้ากากผ้า” ออกมาขาย
ล่าสุดกระทรวงอุตสาหกรรมได้ประกาศออกมา เรื่อง ข้อแนะนำคุณลักษณะผ้าที่ใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัยสำหรับประชาชน เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ซึ่งเป็นการกำหนดคุณลักษณะของผ้า และกำหนดคุณลักษณะของหน้ากากที่ทำจากผ้า ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เช่น คุณภาพผ้าที่จะนำไปตัดเย็บนั้น ต้องมาจากผ้าทอ ผ้าถัก ที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติ เส้นใยประดิษฐ์ หรือเส้นใยผสม ต้องมีความสะอาด อ่อมนุ่มต่อผิวสัมผัส ไม่เกิดการระคายเคือง ต้องมีความปลอดภัยและความคงทนของสี
ขณะเดียกวัน ด้านคณะกรรมการบริหารเครื่องหมายคุณภาพสิ่งทอไทย ก็มีมติเห็นชอบในหลักเกณฑ์และอนุมัติให้ใช้เครื่องหมาย “Smart Fabric หน้ากากผ้า” โดยเปิดทางให้ผู้ประกอบการที่ผลิตหน้ากากผ้าออกมาจำหน่าย สามารถนำ “ผ้า” มาทดสอบเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค แต่โครงการนี้ระบุไว้ว่าเป็นไปด้วยความสมัครใจ ไม่ได้บังคับแต่อย่างใด
หากผู้ประกอบการที่สนใจ อยากจะทดสอบมีวิธีการดำเนินการตั้งแต่ต้นจนจบมี 5 ขั้นตอน ได้แก่
1.เข้าไปดาวน์โหลดแบบฟอร์ม ใบสมัครจากที่เว็บไซต์ https://testing.thaitextile.org/?page_id=1471
2.หลังจากนั้นเตรียมนำตัวอย่างผ้า โดยต้องจัดเรียงชั้นผ้าให้เหมือนกับหน้ากากของจริง ขนาด A4 จำนวน 3 ชิ้น ซึ่งจะต้องเย็บริมโดยรอบ และระบุด้านหน้าผ้าด้วย หากจะส่งหน้ากากไปทดสอบ ต้องส่งทั้งหมดจำนวน 10 ชิ้น ให้กับสถาบัน และในกรณีที่ต้องการทดสอบคุณสมบัติการสะท้อนน้ำ ต้องส่งผ้าที่ตกแต่งสะท้อนน้ำ ขนาด 0.5 เมตร และต้องระบุด้านหน้าผ้าให้ชัดเจน
ขั้นตอนต่อไป
3.นำใบคำร้องขอทดสอบ และตัวอย่างผ้าหรือหน้ากากใส่ถุงให้เรียบร้อย ส่งไปยังที่หน่วยบริการลูกค้า ศูนย์วิเคราะห์ทดสอบ ซึ่งมีให้เลือก 2 ช่องทาง ตามความเหมาะสมของแต่ละคน คือ ส่งทางไปรษณีย์ และส่งด้วยตัวเอง
4.หน่วยบริการจะใช้เวลาทดสอบราวๆ 7 วันทำการ และจะโทรกลับหาลูกค้า เพื่อทบทวนคำขอและแจ้งยอดค่าทดสอบ และ
5.ขั้นตอนของการชำระเงิน และส่งหลักฐานการชำระเงินทางอีเมล [email protected] เมื่อผ่านหลักเกณฑ์แล้ว ก็จะได้รับการอนุมัติให้ใช้สัญลักษณ์ Smart Fabric ได้ ทั้งบนผลิตภัณฑ์หน้ากาก บรรจุภัณฑ์ รวมถึงแผ่นโฆษณา และการประชาสัมพันธ์
หากเจาะลึกไปที่ขั้นตอนของการทดสอบนั้น มีตรวจสอบ 5 เรื่องหลักๆ มีเรื่องต้องถูกตรวจสอบดังนี้
1.การซึมผ่านของอากาศ (Air permeability) ซึ่งจะต้องมากกว่า 1 ลูกบาศก์เซนติเมตรต่อตารางเมตรหรือวินาที แต่ต้องน้อยกว่าหรือเท่ากับ 50 ลูกบาศก์เซนติเมตรต่อตารางเมตรหรือวินาที
2.ความหนาแน่น (Density)
3.ปริมาณฟอร์แมลดีไฮด์ มีปริมาณน้อยกว่าหรือเท่ากับ 75 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
4.สีเอโซ (Azo dye) ต้องมีปริมาณน้อยกว่าหรือเท่ากับ 30 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
5.ความคงทนของสี (Colour Fastness Tests) มากกว่าหรือเท่ากับ 3
หลักการตรวจสอบหน้ากากผ้าข้างต้นนั้น ใช้สำหรับตรวจสอบหน้ากากผ้าทุกชนิด "ยกเว้นผ้าขาว และผ้าไม่ย้อมสี" ซึ่งเมื่อผ่านการทดสอบ หน้ากากผ้าจะต้องมีประสิทธิภาพสามารถใช้งานซ้ำและผ่านการซักล้างได้อย่างน้อย 10 ครั้งขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม ต้องบอกก่อนเลยว่ามีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการด้วย สำหรับผ้าสีขาว ราคาทดสอบรวมทั้ง 10 อย่าง พร้อมกับขอฉลาก Smart Fabric อยู่ที่ 23,000 บาท แต่หากเป็นผ้าสี ราคาจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ 25,000 บาท ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7%
ทั้งนี้เบื้องต้นในเว็บไซต์ของสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ได้รายงานรายชื่อผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรอง Smart Fabric แล้ว 10 บริษัท (ตารางด้านล่าง)
ที่มา : thaitextile