ผ่ามาตรการ 'ศบค.-จังหวัด' ปักหลักสู้วิกฤติ 'โควิด-19'
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ครบ 1 สัปดาห์ แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือโรค “โควิด-19” กลับลามไปยังพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น
ตัวเลขผู้ป่วยสะสมก่อนวันประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (25 มี.ค. 2563) อยู่ที่ 934 ราย แบ่งเป็น รักษาตัวที่โรงพยาบาล 860 ราย รักษาหาย 70 ราย เสียชีวิต 4 ราย
แต่ยอดผู้ป่วยสะสม หลังประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ณ วันที่ 4 เม.ย. อยู่ที่ 2,067 ราย แบ่งเป็น รักษาตัวที่โรงพยาบาล 1,435 ราย รักษาหาย 612 ราย เสียชีวิต 20 ราย
จำแนกยอดผู้ป่วยสะสมหลังประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 10 วัน มีดังนี้ วันที่ 26 มี.ค. 111 ราย วันที่ 27 มี.ค. 91 ราย วันที่ 28 มี.ค. 109 ราย วันที่ 29 มี.ค. 143 ราย วันที่ 30 มี.ค. 136 ราย วันที่ 31 มี.ค. 127 ราย วันที่ 1 เม.ย. 120 ราย และวันที่ 2 เม.ย. 104 ราย วันที่ 3 เม.ย. 103 ราย วันที่ 4 เม.ย. 89 ราย
โดยยอดผู้ป่วยสะสม 10 ลำดับแรก ประกอบด้วย กทม. 985 ราย นนทบุรี 128 ราย ภูเก็ต 107 ราย สมุทรปราการ 93 ราย ชลบุรี 59 ราย ยะลา 52 ราย ปัตตานี 44 ราย สงขลา 37 ราย เชียงใหม่ 33 ราย ปทุมธานี 28 ราย
ขณะเดียวกัน เหลือเพียง 15 จังหวัด ที่ยังไม่พบผู้ป่วยโควิด-19 ประกอบด้วย กำแพงเพชร ชัยนาท ตราด น่าน บึงกาฬ พังงา พิจิตร ระนอง สกลนคร สตูล สิงห์บุรี สมุทรสงคราม และอ่างทอง (ณ วันที่ 4 เม.ย.)
จะเห็นได้ว่า ยอดผู้ป่วยสะสม แม้จะมีเพิ่มขึ้นและลดลงในบางวัน แต่ยอดผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นอยู่ในหลักร้อยต่อวัน ทำให้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ นั่งเป็นประธาน ต้องประเมินสถานการณ์รายวัน
เมื่อตัวเลขผู้ป่วยสะสม และตัวเลขประมาณการผู้ป่วยสะสม พร้อมข้อมูลจากทุกหน่วยงาน ถูกกางบนโต๊ะประชุม พล.อ.ประยุทธ์-หัวหน้าผู้รับผิดชอบ ใช้เวลา 8 วันประเมินแล้วว่ามาตรการขอความร่วมมือจาก “ประชาชน” ใช้ไม่ได้ผล เนื่องจากยังมี “ประชาชน” จำนวนมากเดินทางออกจากบ้าน โอกาสติดเชื้อโควิด-19 จึงยังมีสูง
สูตรสำเร็จของการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่จะเน้นมาตรการจากเบาไปหนัก จึงถูกงัดออกมาใช้ โดยการประกาศเคอร์ฟิว ห้ามประชาชนออกจากบ้านทั่วราชอาณาจักร ในช่วงเวลา 22.00 น. ถึง 04.00 น. ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะถูกประเมินว่าได้ผลหรือไม่ ก็ต่อเมื่อผ่านช่วงเวลา 14 วันหลังจากนี้
แต่ในระหว่างนี้ พล.อ.ประยุทธ์-หัวหน้าผู้รับผิดชอบ จะประเมินพฤติกรรมของ “ประชาชน” ว่าให้ความร่วมมืออยู่ในเกณฑ์ใด โดยมีเป้าหมายให้ “ประชาชน” ให้ความร่วมมืออยู่ที่ร้อยละ 90 จึงจะได้ผลลัพธ์ที่ดี
แต่หาก “ประชาชน” ให้ความร่วมมือต่ำกว่า 90% จะมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้นกว่าเดิม ซึ่งนั่นอาจจะถึงเวลาจำเป็นต้องประกาศเคอร์ฟิวส์ 24 ชั่วโมง เหมือนที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เคยระบุไว้ว่า “ไวรัสมีอยู่ 24 ชั่วโมง จะไปเคอร์ฟิวบางช่วงเวลาไม่ได้”
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่รัฐบาลจะประกาศเคอร์ฟิว มีหลายจังหวัดที่ชิงประกาศ “ล็อคดาวน์” ไปก่อนแล้ว เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยสะสมพุ่งสูงขึ้น จนเกรงว่าจะควบคุมสถานการณ์ไม่ได้
โดย “ผู้ว่าราชการจังหวัด” สามารถประเมินสถานการณ์ พร้อมใช้อำนาจตามมาตรา 22 และมาตรา 3 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ประกอบข้อกำหนดซึ่งออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในการออกคำสั่งได้ทันที
พื้นที่ “ล็อคดาวน์” ประกอบด้วย ปัตตานี ประกาศปิดเมืองเมื่อวันที่ 28 มี.ค. จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง มีผู้ป่วยสะสม 44 ราย นราธิวาส ประกาศปิดเมืองเมื่อวันที่ 29 มี.ค. จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย มีผู้ป่วยสะสม 17 ราย ยะลา ประกาศปิดเมืองเมื่อวันที่ 29 มี.ค. จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย มีผู้ป่วยสะสม 52 ราย
ขณะที่ ภูเก็ต ประกาศปิดเกาะ หยุดสัญจรทั้งทางบกและทางน้ำเมื่อวันที่ 30 มี.ค.-30 เม.ย. ส่วนการปิดท่าอากาศยานภูเก็ต เพื่อปิดการสัญจรทางอากาศ จะเริ่มขึ้นในวันที่ 10-30 เม.ย. มีผู้ป่วยสะสม 88 ราย
โดยทั้ง 4 จังหวัด จัดอยู่ในหมวดพื้นที่สุ่มเสี่ยงสูง ทำให้ ฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ไฟเขียวทุกคำสั่งที่ผู้ว่าราชการจังหวัดจะดำเนินการ
17 จังหวัดประกาศ “เคอร์ฟิว-เคอร์ฟิวร้านสะดวกซื้อ” ประกอบด้วย 28 มี.ค. ภูเก็ต 20.00-03.00 น. 31 มี.ค. นนทบุรี 23.00-05.00 น. 1 เม.ย. พิษณุโลก 23.00-05.00 น. 1 เม.ย. แม่ฮ่องสอน 22.00-04.00 น.
ปิดร้านสะดวกซื้อ/ร้านที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน 25 มี.ค. เพชรบูรณ์ 00.01-04.49 น. 26 มี.ค. อุดรธานี 22.01-04.59 น. 27 มี.ค. . มุกดาหาร 22.01-04.59 น 27 มี.ค. ฉะเชิงเทรา 23.00-05.00 น. 30 มี.ค. ชลบุรี 22.00-05.00 น. 31 มี.ค. ปราจีนบุรี 23.00-05.00 น.
1 เม.ย. สุโขทัย 22.01-04.59 น. 1 เม.ย. สุรินทร์ 22.01-04.59 น. 1 เม.ย. สมุทรปราการ 23.00-05.00 น. 1 เม.ย. สุราษฎร์ธานี 24.00-05.00 น. 2 เม.ย. กทม. 00.01-05.00 น. 2 เม.ย. สระแก้ว 23.01-04.59 น. 4 เม.ย. พังงา 22.00 -04.00 น.
นอกจากนี้ยังมีผู้ว่าฯ อีก 2 จังหวัดชายแดนประกาศ ปิดพรมแดนที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างไม่มีกำหนดคือ สระแก้ว และตาก
อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลจะออกคำสั่งห้ามประชาชนทั่วราชอาณาจักร ออกนอกเคหะสถาน ในช่วงเวลา 22.00-04.00 น. เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่หากคำสั่งของ “ผู้ว่าราชการจังหวัด” ในจังหวัดใด กำหนดห้วงเวลา “ห้ามออกนอกเคหะสถาน-ปิดร้านค้า” ที่ใช้ระยะเวลามากกว่ารัฐบาล ให้ยึดคำสั่งที่เข้มข้นกว่าเป็นหลัก
ขณะเดียวกัน มีกลุ่มคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ซึ่งต้องโดนกักตัว 14 วัน โดยกลุ่มสุดท้ายที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย มีจำนวน 166 คน ประกอบด้วย เที่ยวบิน TG 641 จากญี่ปุ่น จำนวน 16 คน NH 847 จากญี่ปุ่น จำนวน 19 คน SQ 976 จากสิงคโปร์ จำนวน 44 คน JL31 จากญี่ปุ่น 76 คน และ GR 832 จากกาตาร์ 11 คน
โดยมี 158 คน ที่หลบหนีเดินทางกลับภูมิลำเนา ซึ่งถูกออกคำสั่งให้มารายงานตัว ภายในเวลา 18.00 น. ไม่เช่นนั้นจะถูกดำเนินคดี ซึ่งเกินกว่าครึ่งเข้ารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่แล้ว
ขณะเดียวกันมีกรณีชายชาว จ.ลำปาง หนีการกักตัว จึงโดนศาลสั่งจำคุก 15 วัน ซึ่งเป็นการลงโทษสถานหนัก ฐานขัดคำสั่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นรายแรก
สำหรับกลุ่มขัดคำสั่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แบ่งเป็น กลุ่มฝ่าฝืนคำสั่งห้ามออกนอกเคหะสถาน กลุ่มหนีกักตัว กลุ่มจัดปาร์ตี้สังสรร เป็นต้น จะโดนดำเนินคดีสถานหนักเช่นกัน โดยยึดโทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่กำหนดให้ลงโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 หรือทั้งจำทั้งปรับ
หลังจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์-ทีม ศบค. จะประเมินสถานการณ์วันต่อวัน หากยังพบว่าประชาชนให้ความร่วมมือไม่ถึงเกณฑ์ที่ตั้งเอาไว้ โดยคาดว่าภายในสัปดาห์หน้า ศบค. จะออกมาตรการที่เข้มข้นขึ้นกว่าเดิม เพื่อบังคับให้ประชาชนอยู่บ้านในเวลาที่นานขึ้น
เพื่อ ชะลอ-ยับยั้ง การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ให้ได้ผลมากที่สุด