การกลับมาของ ‘สรยุทธ’ เพราะข่าวลวง ‘โควิด-19’ สะเทือนถึงเรือนจำ
สรยุทธ อดีตผู้ประกาศข่าวชื่อดังได้กลับหวนคืนหน้าจออีกครั้ง ในรายการ 'เรื่องเล่าชาวเรือนจำ' ที่ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของกรมราชทัณฑ์
- อดีตกรรมกรข่าวมือหนึ่งของไทย
ก่อนที่จะมีคำพิพากษาสั่งจำคุก 6 ปี 24 เดือน โดยไม่รอลงอาญา สรยุทธ สุทัศนะจินดา ถือว่าเป็นผู้ประกาศข่าวอันดับต้นๆ ของประเทศไทย
สรยุทธเป็นบุตรคนที่ 2 จากทั้งหมดสามคน นามสกุลเดิมของพ่อแซ่โล้ หลังเข้าศึกษาโรงเรียนอำนวยศิลป์ เคยมีประวัติเข้าไปอยู่ในกลุ่มทะเลาะวิวาทจนกระทั่งถูกจับกุม ต้องใช้ชีวิตในบ้านเมตตา 15 วัน กระทั่งจบชั้นมัธยมฯ เรียนต่อมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง นิเทศศาสตรบัณฑิต เมื่อปี 2530
เริ่มทำงานเป็นนักข่าว หนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น เมื่อปี 2531 อยู่สายข่าวรัฐสภา 2 ปี และทำข่าวสายทำเนียบรัฐบาลอีก 2 ปี เข้าประจำในกองบรรณาธิการ ปี 2535 เป็นผู้ช่วยหัวหน้าข่าวการเมือง และหัวหน้าข่าวการเมือง ปี 2537 บรรณาธิการข่าว ปี 2540 สุดท้ายเป็นรองบรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น
นับตั้งแต่ปี 2539 สรยุทธทำงานให้เครือเนชั่นกรุ๊ป เป็นนักวิเคราะห์ข่าวการเมือง ที่ไอทีวี และเนชั่นแชนแนล เช่น ไอทีวี ทอล์ก เวทีไอทีวี , ฟังความรอบข้าง เก็บตกจากเนชั่น รายการคมชัดลึก และก๊วนกวนข่าว เป็นต้น จนกระทั่งปี 2545 เนชั่นร่วมกับโมเดิร์นไนน์ทีวีทำรายการวิเคราะห์ข่าวและเล่าข่าว
รายงานทีวีที่ได้รับความนิยมอย่างมาก อย่างรายการ ถึงลูกถึงคน และคุยคุ้ยข่าว และลาออกจากเนชั่น ไปร่วมบริหารและผลิตรายการกับช่อง 3 จนได้รับความนิยมสูง คือ เรื่องเล่าเช้านี้ , เรื่องเด่นเย็นนี้ , เรื่องเล่าเสาร์-อาทิตย์ และจับเข่าคุย โดยเป็นเจ้าของ บริษัท ไร่ส้ม จำกัด และบริษัท ชัดถ้อยชัดคำ จำกัด พร้อมออกหนังสือเล่มขายดี อย่าง กรรมกรข่าว , กรรมกรข่าว 2 งานรับเหมา , คุยนอกสนาม และกรรมกรข่าว 3 เป็นต้น
ทั้งนี้จุดเปลี่ยนที่ทำให้ชีวิตพลิกผันจากนักเล่าข่าวมือหนึ่งสู่ผู้ต้องขังเรือนจำคือ การฟ้องร้องบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ที่สรยุทธเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท และถูกศาลฎีกาพิพากษาสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 ปี 24 เดือน ไม่รอลงอาญา
- ‘สรยุทธ’ หวนจออีกครั้ง ในเรือนจำ
เรื่องราวของ สรยุทธ เงียบหายหลังจากมีคำตัดสินศาลตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2563 แต่เมื่อวันที่ 4 เมษายน ชาวโซเชียลได้เห็นการเล่าข่าวของ สรยุทธ อีกครั้งในรายการ เรื่องเล่าชาวเรือนจำ ที่ถ่ายทำทั้งหมดภายในเรือนจำ
ภายใต้การอนุญาตของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ โดยมีจุดประสงค์คือเป็นการให้ความรู้ที่เป็นข้อเท็จจริงในเรื่องโควิด-19 ในเรือนจำ รวมถึงบอกเล่าในมาตรการต่างๆ ที่กรมราชทัณฑ์ทำให้ผู้ต้องขังทั่วประเทศ จะได้ไม่เข้าใจผิด จนเกิดการปลุกปั่นและเผาเรือนจำแบบที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งตามปกติ นักโทษคดีร้ายแรงมักมีความคิดแหกคุก พยายามปลุกปั่น หากทางการสามารถรับมือได้ การปลุกปั่นจะไม่สามารถหลอกผู้อื่นได้ด้วยการให้ความรู้ผู้ต้องขัง 143 แห่งทั่วประเทศ เผยแพร่ให้ญาติพี่น้องของผู้ต้องขัง รวมถึงสังคมสบายใจ
หลังจากส่วนหนึ่งของเทปรายการ เรื่องเล่าชาวเรือนจำ ถูกแผยแพร่บนโลกออนไลน์ ผู้คนแสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่ไปในทิศทางเดียวกันคือ ยังคงคิดถึงลีลาการเล่าข่าวที่มีเอกลักษณ์ของสรยุทธอยู่เช่นเดิม และดีใจที่สรยุทธได้ใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม
ทั้งนี้รายการ เรื่องเล่าชาวเรือนจำ รายการกึ่งเล่าข่าว ถือเป็นเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นในเรือนจำ เพราะตามคู่มือการดำรงชีวิตประจำวันของผู้ต้องขังเรือนจำกลางบางขวาง ระบุว่าผู้ต้องขังสามารถพักผ่อน ดูโทรทัศน์ และการบันเทิงได้ แต่จำกัดเฉพาะ เทปการศึกษาทางอากาศ หรือดูโทรทัศน์ในหน่วยงาน ทั้งนี้จะไม่มีการรายงานข่าวแต่อย่างใด
ดังนั้นแล้ว จึงถือเป็น อรรถรสใหม่แก่ผู้ต้องขังที่จะได้รับข่าวสารในแบบของสรยุทธ