หุ่นยนต์ปิ่นโต 'Pinto' ผู้ช่วยแพทย์ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จัดตั้งโครงการหุ่นยนต์และอุปกรณ์สนับสนุนการแพทย์ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 เพื่อสร้างหุ่นยนต์ และ อุปกรณ์สนับสนุนการแพทย์ในโรงพยาบาล นำร่อง 'หุ่นยนต์ปิ่นโต' พร้อมระบบสื่อสารดูแลผู้ป่วยระยะไกล
เนื่องด้วยวิกฤติการแพร่ของโรคระบาดโควิด 19 ในประเทศไทยและทั่วโลก ทำให้มีผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยป่วยเป็นจำนวนมากและมีแนวโน้มความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ บุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งโรงพยาบาลและสถานพยาบาลที่มีจำกัดจึงไม่เพียงพอ ยิ่งกว่านั้นอุปกรณ์การแพทย์สำหรับโรคอุบัติใหม่นี้ยังขาดแคลนเป็นอย่างมากและมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน
เพื่อช่วยบุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาลอย่างเป็นรูปธรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดตั้งโครงการหุ่นยนต์และอุปกรณ์สนับสนุนการแพทย์ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 เพื่อสร้างหุ่นยนต์ และ อุปกรณ์สนับสนุนการแพทย์ในโรงพยาบาล
จากการทดสอบความต้องการจริงของแพทย์และโรงพยาบาลหลายๆ โรงพยาบาล ทีมงานนำรูปแบบหุ่นยนต์เสนอหลายรูปแบบแต่พบว่า ในสถานการณ์วิกฤติ สิ่งที่แพทย์และพยาบาลหน้างานต้องการคือ ต้องการสิ่งที่ทำงานได้จริง ใช้ง่าย สะดวก ทำความสะอาดเชื้อได้ง่าย งบประมาณต่ำ ไม่กินพื้นที่ทำงาน ไม่เสียเวลาการติดตั้งมากนัก และควรเป็นระบบที่คุ้นเคยและเรียนรู้ได้ง่าย สร้างเป็นจำนวนมากได้ ทีมงานจึงเลือกนำอุปกรณ์ที่ต้องใช้อยู่แล้วในโรงพยาบาล คือ รถเข็น ส่งอาหารผู้ป่วยมาปรับระบบการควบคุมการเคลื่อนที่ระยะไกลได้ นั่นคือที่มาของ หุ่นยนต์ “Pinto” ปิ่นโต Quarantine Delivery robot พร้อมระบบสื่อสารดูแลผู้ป่วยระยะไกลกับแพทย์และพยาบาล Quarantine Tele-presence ได้ โดยเป้าผลิตจำนวน 100 ชุดเพื่อมอบให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ
ในการนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขอพระราชทานน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายหุ่นยนต์ปิ่นโตแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อพระราชทานให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ตามพระราชอัธยาศัย จำนวน 20 ตัว ที่ยังคงอยู่ระหว่างการดำเนินการผลิต แต่โดยทั้งนี้ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้ขอพระราชทานหุ่นยนต์ปิ่นโตจำนวน 1 ตัว สร้างเสร็จเรียบร้อยพร้อมใช้งานแล้ว เพื่อนำไปติดตั้งที่ห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา
นอกจากนี้แล้วทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ในสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ โดยพัฒนาและผลิตอุปกรณ์สนับสนุนการแพทย์ที่มีความจำเป็นสำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโรคระบาดโควิด-19 เช่น เครื่องทดแทนเครื่องช่วยหายใจ
รศ. ดร. วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ ผู้อำนวยการ International School of Engineering และ หัวหน้าทีมงานโครงการหุ่นยนต์และอุปกรณ์สนับสนุนการแพทย์ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 หรือ ทีม CURoboCovid โดยทีมงานประกอบด้วย กลุ่มคณาจารย์ ดร สุรัฐ ขวัญเมือง จาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ กลุ่ม Startup ของศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ คือ บริษัท HG Robotics และ Obodroid ได้เปิดเผยว่า ตั้งแต่เมื่อได้รับดำริจาก ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ในการสร้างทีม CURoboCovid เพื่อสร้างหุ่นยนต์และอุปกรณ์สนับสนุนแพทย์และโรงพยาบาล
ทีมงานได้นำหุ่นยนต์ปิ่นโตไปทำการทดสอบการใช้งานจริงแล้วที่โรงพยาบาลหลายโรงแล้วตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม และในวันที่ 29 มีนาคม 2563 หุ่นยนต์ “Pinto” Quarantine Delivery Robot พร้อมระบบสื่อสารทางไกล Quarantine Tele Presence ติดตั้งที่ แผนกฉุกเฉิน โรงพยาบาลรามาธิบดี และได้ผลลัพธ์ของประสิทธิภาพการใช้งานและความพึงพอต่อในการใช้งานของบุคลากรทางการแพทย์นั้นเป็นอย่างดี
ทั้งนี้ ถือได้ว่า หุ่นยนต์ “Pinto” ตัวนี้ค่อนข้างเป็นคำตอบที่ถูกใจและตรงใจในการช่วยในการปัญหาของเหล่าบุคลากรทางแพทย์ในการรับมือกับสถานการณ์วิกฤตนี้ ซึ่งหุ่นยนต์ปิ่นโตนี้ที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก ทำให้สามารถเคลื่อนที่รอบตัวคนไข้บนเตียงได้ ดูแลทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรคได้ง่าย ไม่สะสมให้เป็นแหล่งเพาะเชื้อแพร่ต่อไปได้อีก
ที่สำคัญอีกหนึ่งประเด็น คือ ไม่จำเป็นต้องทำการติดตั้งเครื่องมือหรือโครงสร้างอื่นใดเพิ่มเติมเพื่อที่จะใช้งานหุ่นยนต์นี้ จึงทำให้แพทย์และพยาบาลสามารถใช้งานได้ทันที จะช่วยทำให้สามารถปฏิบัติงานดูแลรักษาผู้ป่วยได้จากระยะไกลโดยไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าไปใกล้กับผู้ป่วย ช่วยลดความเสี่ยงของแพทย์และพยาบาล รวมถึงยังช่วยลดการใช้งานของชุดป้องกันตนเอง ซึ่งขาดแคลนอยู่ในขณะปัจจุบันนี้ ทั้งนี้ ทางทีมงานได้ดำเนินการติดตั้งและใช้งานที่โรงพยาบาลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คือ โรงพยาบาลรามาธิบดี แผนกฉุกเฉิน หุ่นยนต์ปิ่นโต 1 ตัว และ Quarantine Telepresence จำนวน 6 เครื่อง และ ที่โรงพยาบาลจักรีนฤบดินทร์ ติดตั้งระบบ Quarantine Telepresence จำนวน 17 เครื่อง
นอกจากนี้ ยังมีรายชื่อของโรงพยาบาลที่อยู่ในการกำลังดำเนินการดังต่อไปนี้
- โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา
- โรงพยาบาลลำพูน
- โรงพยาบาลตำรวจ
- โรงพยาบาลนครปฐม
- โรงพยาบาลวชิรพยาบาล
- โรงพยาบาลชัยภูมิ
- โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี
- โรงพยาบาลดอนตูมนครปฐม
- ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก
- โรงพยาบาลโรคทรวงอก
- โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
-โรงพยาบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี
- โรงพยาบาลน่าน
- โรงพยาบาลสันทราย เชียงใหม่
- โรงพยาบาลพระปกเกล้า
- โรงพยาบาลชุมแพ
- โรงพยาบาลสนามภูเก็ต
- โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า