เตือน! 'ญี่ปุ่น' ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินกระทบ 'บริโภค-ภาคการผลิต'
เตือน "ญี่ปุ่น" ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน กระทบ "การบริโภค-ภาคการผลิต"
นักเศรษฐศาสตร์หลายราย เตือนว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ในญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่านายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ จะประกาศในวันนี้ โดยมีผลบังคับใช้ในพื้นที่ที่มีประชาชนหนาแน่นที่สุดบางแห่งของญี่ปุ่นนั้น คาดว่าจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค รวมถึงกิจกรรมการผลิต
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า หน่วยงานท้องถิ่นในกรุงโตเกียว รวมทั้งจังหวัดไซตามะ คานางาวะ ชิบะ โอซากา เฮียวโงะ และฟุกุโอกะ คาดว่าจะขอให้มีการยกระดับมาตรการควบคุมการเดินทางที่ไม่จำเป็นรวมถึงการทำธุรกิจบางประเภท
แม้หน่วยงานรัฐบาลกลางและหน่วยงานรัฐบาลระดับจังหวัดไม่ได้มีอำนาจตามกฎหมายในการบังคับใช้คำสั่งควบคุมการใช้ชีวิตประจำวันหรือสั่งปิดธุรกิจ แต่นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะชะลอตัวลงอีก และการผลิตก็จะชะลอตัวลงตามมา
นายฮิเดโอะ คุมาโน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยได-อิชิ ไลฟ์ รีเสิร์ช อินสติติว เปิดเผยว่า การบริโภคที่ลดลงในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ “อาจทำให้ผู้ผลิตมีอัตราการดำเนินการลดลง” ซึ่งผู้ผลิตหลายรายก็มีโรงงานในพื้นที่ชนบท
นายคัตสึยูกิ ฮาเซกาวา หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยมิซูโฮะ รีเสิร์ช อินสติติว เรียกร้องให้รัฐบาลหามาตรการกอบกู้เศรษฐกิจอย่างครอบคลุมสำหรับเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น ซึ่ง “จะแผ่วลง” เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวซบเซาและการขนส่งสินค้าไปยังโตเกียวและพื้นที่โดยรอบหดตัวลง
ข้อมูลจากรัฐบาลกรุงโตเกียว ระบุว่า มูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของกรุงโตเกียวอยู่ที่ปีละประมาณ 100 ล้านล้านเยน (9.17 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของทั้งประเทศ
ด้านบาร์เคลย์ ซิเคียวริตีส์ เจแปน คาดการณ์ว่า เมื่อประกอบกับการสั่งปิดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและร้านอาหารในกรุงโตเกียวแล้ว การปรับลดการผลิตจะทำให้เศรษฐกิจทั้งประเทศของญี่ปุ่นหดตัวลงอีกในไตรมาสสองของปีนี้ โดยจะหดตัวมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะหดตัวลง 2.7%