'กระทรวงศึกษาธิการ' กับโจทย์ที่รออยู่ หลัง 'เลื่อนเปิดเทอม' เป็น 1 กรกฎาคม
การ "เลื่อนเปิดเทอม" ไม่ใช่แค่การขยับเวลาเท่านั้นที่ "กระทรวงศึกษาธิการ" จะต้องคิดในสถานการณ์ระบาดของ โควิด-19 หากแต่มันคือผลกระทบต่อระบบการศึกษาทั้งขบวนที่วันนี้ โดยเฉพาะกับ "นักเรียน" ที่เป็นผู้รับผลกระทบโดยตรง
หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบตามที่ กระทรวงศึกษาธิการ หรือ ศธ. เสนอการปรับการเปิดภาคเรียนที่หนึ่ง ปีการศึกษา 2563 โดยให้สถานศึกษาเลื่อนการเปิดภาคเรียนที่หนึ่ง ปีการศึกษา 2563 จากวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 เป็นวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 สิ่งที่ตามมา และน่าจะเป็นทั้งคำถาม และความท้าทายของการศึกษาไทยต่อจากนี้ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ก็คือ กระทรวงศึกษาธิการจะมีปรับวิธีการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับหลักสูตรที่กำหนดไว้ในแต่ละระดับการศึกษา ของปีการศึกษา 2563 อย่างไร
อ่านข่าวเพิ่มเติม : ครม.ไฟเขียว เลื่อนเปิดเทอม เป็นวันที่ 1 ก.ค.
หากย้อนกลับไปถึงต้นทางของการปรับเปลี่ยนเวลาเปิดภาคเรียน หรือ เลื่อนเปิดเทอม กันทั้งระบบนั้น ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลต่อการเรียนโดยเฉพาะเด็กๆ ในกลุ่ม ที่กำลังจะสอบเข้าเรียนต่อในระดับชั้น ม.1 และ ม.4 ซึ่งเป็นที่มาที่ทำให้ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้นำเสนอ ครม. เลื่อนเปิด ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563
โดยกำหนดกรอบเวลาการดำเนินงานออกเป็น การรับสมัครสอบนักเรียนชั้น ป.1, ม.1, และ ม.4 ทั่วประเทศ ในเดือนพฤษภาคม หลังจากนั้นเดือนมิถุนายนจึงดำเนินการเรื่องสถานที่สอบ ก่อนที่จะไปเปิดภาคเรียนจริงในวันที่ 1 กรกฎาคม ซึ่งในช่วงเวลาที่ขยับเลื่อนไปนั้น จะมีการนำช่วงปิดเทอมเดือนตุลาคม และปลายปีมาชดเชย ทำให้จำนวนชั่วโมงเรียนในหลักสูตรยังเท่าเดิม เพียงแค่ขยับชั่วโมงการสอนเท่านั้น
นอกจากนี้ทาง กระทรวงศึกษาธิการ เองยังได้เตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ทั้งครู และนักเรียน โดยแบ่งนักเรียนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา รวมถึงเตรียมความพร้อมด้านอุปกรณ์การเรียนการสอนที่จะใช้รองรับการเรียนการสอนผ่านระบบดังกล่าว ซึ่งในเดือนพฤษภาคมจะเริ่มออนแอร์การเรียนการสอนออนไลน์ผ่านระบบทีวีดิจิทัล เพื่อให้เด็กปรับตัวกับการเรียน และทดลองสัญญาณในการออกอากาศ อีกทั้งกระทรวงศึกษาธิการเตรียมดำเนินการที่จะจัดซื้อแท็บเล็ตแจกนักเรียนอีกด้วย
ภายหลังจากที่เรื่องนี้เผยแพร่สู่สาธารณะก็ได้มีความเห็นเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าวจากกระทรวงศึกษาธิการออกมาหลากหลาย โดยเฉพาะในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างเด็กนักเรียน ซึ่งก็มีข้อสังเกตฝากกลับไปยังบรรดาผู้ใหญ่ถึงความรอบคอบของการกำหนดมาตรการดังกล่าวด้วย
ไม่ว่าจะเป็น ความกังวลในเรื่องเวลาเรียนในช่วงเวลาดังกล่าวจะไม่มีเวลาพัก อย่างนักเรียนชั้ม ม.6 ก็จะต้องเจออัดงานจากอาจารย์จนไม่ได้เตรียมตัวอ่านหนังสือสอบ หรืออย่างบางคนไม่แน่ใจกับการเรียนการสอนออนไลน์ว่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมในสถานการณ์นี้หรือเปล่าเพราะหลายๆ ครั้งการสื่อสารกันผ่านหน้าจอทำให้เกิดช่องว่างของการเรียนการสอนที่ครูจะไม่สามารถเข้าถึงตัวเด็กนักเรียนได้ รวมทั้งสภาพแวดล้อมในการเรียนก็อาจจะไม่ได้เอื้อให้เด็กนักเรียนได้เรียนเท่าที่ควร
"ถ้าเลื่อนแล้วเลื่อนทุกอย่างจะดีครับ "ไม่ใช่เลื่อนแค่เปิดเทอมแล้วระบบสอบยังเหมือนเดิม เด็กม.6 ไม่ได้มีแค่เรียนนะครับมีอีกหลายอย่างที่ต้องทำ"
ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่เป็นอีกความท้าทายของ กระทรวงศึกษาธิการ ถึงผลกระทบกับเด็กในระบบการศึกษาที่จะตามมา พอๆ กับโจทย์ใหญ่ที่รออยู่กับเด็กในรั้วสถาบันอุดมศึกษาที่กำลังจะจบการศึกษาหลังจากนี้อีกกว่า 5 แสนรายด้วย