เปิดเกณฑ์กู้เงิน 1 ล้านล้าน เซ็นสัญญางวดแรก พ.ค.นี้
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (7 เม.ย.) เห็นชอบ พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจวงเงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อใช้ป้องกันและดูแลผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิค-19
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจวงเงิน 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
1.แผนงานด้านสาธารณสุขและแผนงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ วงเงิน 600,000 ล้านบาท ครอบคลุมการเยียวยาประชาชน 6 เดือน โดยแผนงานด้านสาธารณสุข มีการกำหนดจัดงบประมาณเพิ่มเติมหากที่ความจำเป็นต้องใช้
ส่วนแผนงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ จะนำไปใช้ในการดูแลผู้ได้รับผลกระทบทั้งลูกจ้าง ลูกจ้างอิสระเดือนละ 5,000 บาท โดยขยายระยะเวลาในการดูแลประชาชนในกลุ่มนี้จากเดิม 3 เดือน เป็น 6 เดือนจนถึงเดือน ก.ย.นี้ ส่วนการดูแลเกษตรกรจะประกาศรายละเอียดต่อไปถึงเกณฑ์และวิธีการหลังจากนี้ซึ่งจะไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดแต่จะรวมผู้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งด้วย
2.แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ครอบคลุมการสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจชุมชน และสนับสนุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับพื้นที่ วงเงิน 400,000 ล้านบาท
จะดูแลเศรษฐกิจรวมถึงฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม เช่น โครงการดูแลงานที่สนับสนุนสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจชุมชน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ เนื่องจากเห็นว่าต้องครอบคลุมทุกกลุ่มของประชาชนในประเทศ ดูแลผู้ใช้แรงงาน รับจ้าง เกษตร ในพื้นที่ มีประชาชนจำนวนมากที่กลับพื้นที่ต้องดูแลเรื่องการสร้างงาน
รวมทั้งจะสร้างอาชีพที่ต้องเริ่มขณะนี้อย่างต่อเนื่องไประยะต่อไป เพื่อให้ชุมชนเข้มแข็งให้เดินหน้าต่อเป็นรากฐานให้ดำเนินการต่อไปได้โดยจะผ่านกลไกของกระทรวงมหาดไทย กองทุนหมู่บ้าน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน
และจะเชิญภาคีเครือข่ายหน่วยงานด้านการพัฒนาชุมชนเข้ามาทำงานให้ครอบคลุมมากที่สุด อย่างไรก็ตามการจ่ายชดเชยเกษตรกรที่ไม่ได้เงินชดเชย ใช้หลักของของครอบครัว ครัวเรือน ซึ่งในรายละเอียดกำลังจัดทำ โดย ธ.ก.ส.กำลังดูแลว่าจะทำอย่างไรให้เหมาะสม
ขั้นตอนการออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน กำหนดระยะเวลาต้องดำเนินการกู้เงินภายในเดือน 30 ก.ย.2564 หรือภายใน 1 ปี 6 เดือน โดยการกู้เงินจะไม่ใช้วิธีการทำสัญญาครั้งเดียวทั้งหมดครั้งเดียวมากองไว้ 1 ล้านล้านบาท และจะเน้นการกู้เงินในประเทศเป็นหลัก
ทั้งนี้ หลังจาก ครม.อนุมัติเห็นชอบแล้วในหลักการแล้ว ขั้นต่อไปต้องส่งร่าง พ.ร.ก.สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จากนั้นจัดทำร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการใช้งบประมาณ เพื่อให้หน่วยงานเข้าใจว่าการดำเนินการใช้เงิน 1 ล้านล้านบาททำอย่างไร ซึ่งคาดว่า พ.ร.ก.จะมีผลบังคับใช้ภายในเดือน เม.ย.นี้ โดยกระทรวงการคลังจะดำเนินการหาแหล่งเงินกู้สำหรับวงเงินนี้ที่เหมาะสมโดยเริ่มกู้เงินในเดือน พ.ค.ปีนี้
การกำกับติดตามการใช้จ่ายเงินกู้ตาม พ.ร.ก. โดย ครม.สั่งการให้มีคณะกลั่นกรองโครงการที่ ครม.เห็นชอบซึ่งจะทำหน้าที่กลั่นกรองข้อเสนอ แผนงานโครงการของกระทรวง หน่วยงานต่างๆ ที่จะเสนอเข้ามาเพื่อพิจารณาใช้วงเงินนี้ตามวัตถุประสงค์ เมื่อกลั่นกรองแล้วจะเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบก่อนที่โครงการจะได้รับการอนุมัติใช้เงิน โดยสำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง สำนักบริหารหนี้สาธารณะ จะร่วมดูแลกระบวนการการปฏิบัติให้คล่องตัว เพื่อโครงการอนุมัติแล้วจะได้ใช้เงินให้เร็วที่สุด
รวมทั้งกำหนดว่าจะต้องรายงานการใช้จ่ายเงิน เริ่มที่คณะกรรมการกลั่นกรองจะรายงานต่อ ครม.เป็นระยะถึงความคืบหน้า โดยกฎหมายระบุว่าจะต้องรายงานต่อรัฐสภาไม่เกิน 60 วันนับจากวันสิ้นปีงบประมาณ หรือภายใน พ.ย.2563 ที่ต้องรายงานต่อรัฐสภาด้วย
แผนการชำระเงินกู้ กระทรวงการคลังจะดูแลว่าการชำระให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ขึ้นอยู่กับว่าเริ่มกู้เมื่อใดและวงเงินเท่าไหร่ เพราะสำนักบริหารหนี้ติตตามตลาดเงินอยู่แล้ว ว่าจะมีการบริหารจัดการกู้และคืนเงิน โดยการจัดเก็บรายได้ของรัฐกระทบอยู่แล้ว ซึ่งจะดูแลชุดมาตรการให้ดีที่สุดและครอบคลุมประชาชน ส่วนการจัดเก็บรายได้หวังว่าเมื่อเหตุการณ์ผ่านพ้นไปเศรษฐกิจจะขยายตัว และการจัดเก็บรายได้จะเข้ามาสู่ปกติอีกครั้ง ส่วนช่วงเวลานั้นขึ้นกับการระบาดของโรคโควิด-19