'อินโดนีเซีย' รับศึกหนัก 'โควิด' ยอดตายพุ่ง ขาดอุปกรณ์การแพทย์
"อินโดนีเซีย" ถือเป็นประเทศที่บอบช้ำจากปัญหาโรคระบาด "โควิด-19" มากที่สุด โดยมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกเกือบ 2 เท่า สะท้อนปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์และชุดตรวจโควิด-19
ขณะที่ประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) กำลังวุ่นวายอยู่กับการรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่บอบช้ำจากปัญหานี้มากที่สุด เนื่องจากเป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 สูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน และสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกเกือบ 2 เท่า สะท้อนปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์และชุดตรวจโควิด-19
อินโดนีเซีย เปิดเผยว่ามีคนติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่(โรคโควิด-19) 2 คนแรกเมื่อวันที่ 2 มี.ค. และภายใน 1 เดือน ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า ที่เพิ่งรายงานไปเมื่อวันที่ 3 เม.ย.เพิ่มขึ้นเป็น 1,986 คน และยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 181 ทำให้อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากที่สุดในอาเซียน และมีอัตราการเสียชีวิตมากที่สุดในภูมิภาคด้วย โดยขณะนี้ อัตราการเสียชีวิตในอินโดนีเซียอยู่ที่ 9.1% น้อยกว่าอิตาลี ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตสูงที่สุดในโลกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
นับจากการตรวจพบผู้ติดเชื้อรายแรกเมื่อ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา หนึ่งเดือนถัดจากนั้น "อินโดนีเซีย" ตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าเพิ่มขึ้นเป็น 1,986 คน และยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 181 ราย
“อีวาวันกิ” หมอประจำโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง ชานกรุงจาการ์ตา เปิดใจว่า ทุกวันนี้ไม่สบายใจทุกวันเกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์และเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์ ท่ามกลางคนไข้ที่เข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลเพิ่มขึ้นทุกวัน จนล่าสุด คณะแพทย์และพยาบาลตัดสินใจใช้พลาสติกที่เป็นชุดกันฝนราคาถูกมาปรับใช้เป็นพลาสติกกันเชื้อไวรัสขณะทำงาน
"ที่เราต้องการมากที่สุดตอนนี้คือหน้ากากอนามัยและหน้ากาก N95 ชุดป้องกันเชื้อโรค อุปกรณ์ป้องกันใบหน้าสำหรับหน่วยงานฉุกเฉินและตึกแยกผู้ป่วย เพราะตอนนี้อุปกรณ์เหล่านี้มีอย่างจำกัด และทุกวันนี้ทางโรงพยาบาลใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ประมาณวันละ 80 ชุด แต่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สามารถนำมาใช้งานได้เพียงแค่ 40-50 ชุด" หมออีวาวันกิ ชาวอินโดนีเซีย กล่าว
เมื่อวันจันทร์ (6 เม.ย.) สมาคมแพทย์ของอินโดนีเซีย ออกแถลงการณ์ว่า สูญเสียแพทย์จำนวน 24 คนในการปฏิบัติหน้าที่รักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นจำนวนแพทย์ที่เสียชีวิตเพิ่มขึ้นสองเท่า นับตั้งแต่สัปดาห์ก่อน ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการขาดแคลนอุปกรณ์ช่วยป้องกันโควิด-19 ของบุคลากรแพทย์
ด้านรัฐบาลอินโดนีเซีย ออกคำสั่งให้พลเรือนสวมหน้ากากผ้าขณะอยู่นอกบ้าน เนื่องจากพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 ไม่แสดงอาการของโรคเป็นจำนวนมาก และเจ้าหน้าที่ยังย้ำว่าทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัย ส่วนหน้ากาก N95 และหน้ากากทางการแพทย์ให้แพทย์ใช้เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า สถานการณ์เลวร้ายที่สุดยังมาไม่ถึง ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อในจีนชะลอตัวลง ยุโรปและอเมริกาเหนือกลายเป็นแหล่งแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่แห่งใหม่ ส่วนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับเป็นภูมิภาคที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นแทบทุกวัน ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีประชากรกว่า 650 ล้านคนจะกลายเป็นฮอตสปอตต่อไปของโลกหรือไม่
ขณะที่หลายประเทศ มีทรัพยากรและระบบดูแลสุขภาพที่ค่อนข้างจำกัด เช่น อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ถือเป็น 2 ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่อยู่ในฐานะเสี่ยงที่สุด
สมาคมแพทย์แห่งอินโดนีเซีย เรียกร้องให้รัฐบาลสร้างหลักประกันที่จะช่วยปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ แนะนำบรรดาแรงงานให้หลีกเลี่ยงการดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19โดยไม่มีเครื่องป้องกันที่เหมาะสม หลังจากบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่และพนักงานในแวดวงสาธารณสุขอีกเกือบ 100 คนในกรุงจาการ์ตา ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่
"ช่วยทำให้สงครามครั้งนี้ เป็นสงครามที่เรามีโอกาสชนะ ไม่ใช่สงครามที่เราต้องใช้ปฏิบัติการฆ่าตัวตาย"
เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง โพสต์ในทวิตเตอร์
ด้านกลุ่มสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึงองค์การนิรโทษกรรมสากล แสดงความกังวลเกี่ยวกับอัตราการเสียชีวิตที่อยู่ในระดับสูงของบุคลากรทางการแพทย์ จึงได้ออกแถลงการณ์ฉบับหนึ่งระบุว่า การเสียชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์ ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อจำนวนแพทย์เท่านั้น แต่ยังเป็นการเตือนภัยสำหรับอินโดนีเซีย ให้เร่งแก้ปัญหาระบบสาธารณสุขของประเทศในสถานการณ์ฉุกเฉินด้วย
ด้วยความที่ประเทศสมาชิกอาเซียนมีความใกล้ชิดกับจีน ทำให้กว่าครึ่งของประชากรในอาเซียน ซึ่งรวมถึง ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม พบผู้ติดเชื้อรายแรกในปลายเดือนม.ค.และในช่วงแรกยอดผู้ติดเชื้อยังไม่มาก จนต่อมายอดผู้ติดเชื้อในเวียดนามก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยยอดผู้ติดเชื้อสัมพันธ์กับการหลั่งไหลเข้ามาของนักเดินทางต่างชาติ
แต่อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ทำให้อินโดนีเซีย อยู่ในสถานการณ์ยากลำบากที่สุดคือ การไม่เตรียมความพร้อมให้ดีเพื่อรับมือสถานการณ์แพร่ระบาด รัฐบาลอินโดนีเซีย ไม่ได้ให้ความสนใจกับภัยคุกคามนี้เท่าที่ควร ก่อนที่อินโดนีเซียจะพบผู้ติดเชื้อรายแรกเมื่อวันที่ 2 มี.ค.และระบบการตรวจสอบหรือคัดกรองที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้การวินิจฉัยโรคของแพทย์พลอยล่าช้าไปด้วย นี่คือเหตุผลที่ทำให้ยอดเสียชีวิตในอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
"ระบบดูแลสุขภาพของเรายังไม่มีประสิทธิภาพมากนัก ผู้ป่วยหลายคนที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาก็ไม่ได้รับการรักษาด้วยวิธีการที่เหมาะสม คนไข้เหล่านั้นจึงเสียชีวิตเพราะระบบดูแลสุขภาพของเราไม่ดีพอ เป็นเรื่องน่าเศร้าใจมาก หากเป็นแบบนี้ต่อไป เราอาจจะมีชะตากรรมไม่ต่างกับอิตาลี" เจ้าหน้าที่แพทย์ชาวอินโดนีเซีย ซึ่งปฏิเสธที่จะเปิดเผยชื่อ ให้ความเห็น