‘เงินเยียวยา’ ที่รอ ‘ขอทบทวนสิทธิ์’ และชีวิตรายวันที่รอไม่ได้
สำรวจความรู้สึกคนรอสถานะรอตรวจสอบสถานะ “เงินเยียวยา” และความหวังของคนที่ “ขอทบทวนสิทธิ์” กับชีวิตที่มีค่าใช้จ่ายรายวันมารออยู่
จนถึงวันนี้ มีรายงานตัวเลขผู้ที่ผ่านการ ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000 บาท (3 เดือน) ตามมาตรการ เราไม่ทิ้งกัน ของรัฐบาลที่ออกมาช่วยเหลือกลุ่มอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ราว 3.2 ล้านราย รวมเป็นเงินกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท จากผู้ที่ลงทะเบียนทั้งหมดราว 27 ล้านราย
ขณะเดียวกัน นั่นหมายความว่า อีกราว 24 ล้านรายนั้นจะถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ อยู่ระหว่างตรวจสอบสิทธิ์ (ทั้งการส่งข้อมูลเพิ่มเติม กลุ่มที่ได้รับสิทธิ์ แต่เงินไม่เข้าบัญชี และตรวจสอบเลขที่บัญชีที่ไม่ตรงกับรายชื่อลงทะเบียน) กับ กลุ่มที่แจ้งผลว่า ไม่ได้รับสิทธิ ด้วยเกณฑ์พิจารณาต่างๆ ตามรายละเอียดที่ระบบได้แจ้งกลับไป และรอยื่นขอทบทวนสิทธิ์
โดยกลุ่มที่ได้รับสิทธิ์แต่เงินไม่เข้าบัญชีนั้น ทาง เราไม่ทิ้งกัน ก็ได้ให้คำแนะนำว่า ให้ผูกกับบัญชีพร้อมเพย์กับบัญประชาชน ซึ่งสามารถทำผ่าน Mobile Banking หรือผ่านตู้เอทีเอ็มได้โดยที่ไม่ต้องไปยังธนาคาร ซึ่งระบบจะทำการโอนเงินเยียวยาสำหรับผู้ที่ลงทะเบียนกลุ่มนี้ในวันที่ 22 และ 29 เมษายน 2563
ส่วนกลุ่มที่อยู่ระหว่างตรวจสอบสิทธินั้น ส่วนใหญ่ยังคงเต็มไปด้วย 2 คำถามคาใจ คือ
- ยังมีสิทธิจะได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท อยู่หรือไม่
- และ ถ้ายังมีสิทธิจะได้เงินเมื่อไหร่
เรื่องนี้ สำนักเศรษฐกิจการคลังชี้แจงว่า ขณะนี้กำลังเร่งตรวจสอบสถานะของผู้ลงทะเบียนรับสิทธิให้เร็วที่สุด โดยการตรวจสอบคัดกรองผู้ลงทะเบียนแต่ละรายจะใช้ระยะเวลามาก-น้อยไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับข้อมูลการประกอบอาชีพที่ผู้ลงทะเบียนได้ระบุไว้ รวมทั้งจะต้องนำไปตรวจสอบกับฐานข้อมูลของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อให้สามารถระบุตัวผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง
ส่วนการเปิดให้ขอทบทวนสิทธิ์ในวันที่ 20 เมษายน 2563 นั้น จะเปิดให้ประชาชนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ และไม่เห็นด้วยกับผลการตรวจสอบ และคัดกรอง ยื่นขอทบทวนสิทธิ์ ก่อนที่จะเป็นกลุ่มประชาชนที่กดยกเลิกการลงทะเบียนที่เข้าใจผิดได้ยื่นเรื่องต่อไป และหลังจากที่คลังร่วมกับมหาดไทยลงพื้นที่ยืนยันตัวตน และความเดือดร้อนแล้ว หากผ่านเกณฑ์พิจารณาก็จะได้รับเงินเยียวยา 3 เดือนเช่นเดิม
แน่นอนว่า แม้ว่าภาครัฐจะยืนยันว่ากระบวนการพิจารณานั้นได้เป็นไปเพื่อความโปร่งใส และเท่าเทียมกันทุกคน แต่เมื่อกรอบเวลาของรัฐบาลไม่เท่ากับกรอบเวลาของประชาชน ความเดือดเนื้อร้อนใจของคนที่รอผลเงินเยียวยาจึงตามมาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
“เมื่อไหร่จะได้เงิน”
“จะมีสิทธิ์ไหม”
“โทรไปไม่เคยติดต่อได้”
นี่เป็นข้อความคำถามส่วนใหญ่ที่ปรากฎในกล่องข้อความหลังบ้านของ เพจกรุงเทพธุรกิจ นับตั้งแต่ที่นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการรับเงินเยียวยา เราไม่ทิ้งกัน มาจนถึงปัจจุบัน หลายราย เต็มไปด้วยความสงสัย และคำถามเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การพิจารณา กระทั่งการ ขอยื่นทบทวนสิทธิ์ ซึ่งเมื่อโทรสอบถามไปยังคอลเซ็นเตอร์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือแม้แต่แชทไปยังแชทบอทที่ตั้งขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวก ก็ไม่ได้รับความกระจ่างในข้อสงสัยเหล่านั้นยิ่งเมื่อรายจ่ายมาเคาะเรียกหน้าประตูบ้านทุกวัน ขณะที่รายรับกลับไม่มี
“สวัสดีค่ะ ของหนูกรอกอาชีพผิด
หนูต้องยกเลิก การลงทะเบียน แล้วหนูไม่สามารถลงทะเบียนใหม่ได้ใช่ไหมค่ะ? หนูไม่สามารถแก้ไขข้อมูลที่ผิดได้ใช่ไหมค่ะ? แบบนี้ หนูก็ หมดสิทธิ์ได้เงินเหยียวยาใช่ไหมค่ะ”
“ทำไมถึงโดนตัดสิทธิ์คะ พอดีทำงานแล้วร้านโดนปิด ได้รับผลกระทบมากค่ะ แถมไม่ได้อยู่ในประกันสังคม แต่รัฐบาลกลับตรวจสอบว่าเป็นนักเรียนนักศึกษา ใช้เกณฑ์อะไรมาตัดสินคะ”
“คือหนูงงมาก แม่หนูเป็นแม่ค้าทำอาชีพค้าขาย แต่ถูกปฏิเสธการให้เงินเยียวยา ทำไมหรอคะ แม่หนูไม่มีสิทธ์ที่จะเปิดร้านเพราะทางรัฐบาลระงับการค้าขายเพราะโควิดแต่กลับปฏิเสธการช่วยเหลือ คืออยากรู้มากว่ามีมาตราการยังไงที่จะตรวจสอบข้อมูลของแต่ละคน คือไปไหนก็ไม่ได้อยู่แต่บ้าน รายได้ไม่มี นักท่องเที่ยวก็งดเที่ยว ค้าขายทำไรไม่ได้เลยค่ะ"
เรื่องนี้ไม่ต่างจากแบบสำรวจของ ส.ก.ส.ว. โดย คณาจารย์จากมหาวิทยาลัย 6 มหาวิทยาลัย ที่ได้ร่วมกันจัดทำการสำรวจผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจของโรคระบาดโควิด 19 ต่อคนจนเมืองเป็นการเร่งด่วน เพื่อต้องการทราบสถานการณ์ของคนจนเมืองในภาวะวิกฤติโควิด-19 โดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายองค์กรคนจนเมือง อาทิ เครือข่ายสลัม 4 ภาค ชุมชนแออัดในพื้นที่คลองเตย และพื้นที่อื่นๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพและปริมณฑล เชียงใหม่ สงขลา ชลบุรี ขอนแก่น และจังหวัดอื่นๆ รวม 18 จังหวัด เมื่อวันที่ 9 - 12 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา
ผลการสำรวจดังกล่าวพบว่า โดยส่วนใหญ่ของผู้ที่ตอบแบบสอบถาม รับจ้างรายเดือนแต่ไม่มีประกันสังคม, รับจ้างรายวัน, แม่ค้า หาบเร่ รถเข็นแผงลอย ไม่สามารถประกอบอาชีพได้อย่างปกติ โดยผู้ตอบแบบสำรวจ 60.24% รายได้ ลดลงเกือบทั้งหมด ส่วนอีก 31.21% รายได้ลดลงราวครึ่งหนึ่ง ทำให้ ไม่มี เงินชำระหนี้สิน ทั้งหนี้สินนอกระบบ หนี้รถจักรยานยนต์ หนี้รถปิ้คอัพ ถึง 54.41% และมีถึง 29.83% ที่ไม่มี รายได้ถึงขนาดประสบปัญหาการกินอยู่ในชีวิตประจำวัน
ในจำนวนนี้ ครึ่งหนึ่ง (66.67%) ที่พยายามลงทะเบียนในโครงการเราไม่ทิ้ง กันของรัฐบาลจะให้เงินช่วยเหลือคนละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน โดยลงทะเบียนสำเร็จ 51.87% และลงทะเบียนไม่สำเร็จ 14.60% และมี 28.99% ไม่ได้ลงทะเบียน เพราะทราบ ว่าตนเองขาดคุณสมบัติ
“เราคนหาเช้ากินค่ำ ไม่ออกมาก็ไม่ได้ มันไม่มีทางเลือกครับ” คนขับแท็กซี่รายหนึ่งให้เหตุผลในการที่ยังต้องออกมาขับตระเวณหาผู้โดยสารกับ ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ในช่วง โควิด-19
ถึงวันนี้ ผลลงทะเบียนรับเงินเยียวยาจะยังอยู่ในสถานะอยู่ระหว่างการตรวจสอบ แต่จะให้นั่งรออย่างเดียวก็คงไม่ได้ เพราะรายจ่ายในชีวิตประจำวันยังวิ่งอยู่เหมือนเดิม ทั้ง ค่าเช่าห้อง ค่ากินของครอบครัว 4 คน ค่าเช่ารถ ถึงอู่แท็กซี่จะลดค่าเช่าให้ แต่รายจ่ายวันละ 700 บาท ก็ดูจะเป็นเรื่องใหญ่พอดูในวันที่ผู้โดยสารหายไปกว่า 60 % อย่างนี้
ไม่ต่างจากวินมอเตอร์ไซด์รับจ้างรายหนึ่งย่านคลองเตยที่ยอมรับว่า ถึงรายได้จะเหลือแค่วันละ 400 บาท จาก 800 -1,200 บาท ก็ต้องออกมาสู้ เพราะดีกว่าไม่ทำอะไรเลย
“15 คนที่วินก็เหมือนวัดดวงกันน่ะครับ” เขาตอบ
หรือในกลุ่มสาธารณะ เราไม่ทิ้งกัน บนเฟซบุ๊กที่มีสมาชิกอยู่ราว 1.9 แสนบัญชี ก็ต่างมีการนำเอาข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับมาตรการเยียวยา หรือเงินกู้ฉุกเฉินจากแหล่งต่างๆ มาแบ่งปันให้กับสมาชิก นอกเหนือจากการแลกเปลี่ยนความเห็น หรือเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการของ เราไม่ทิ้งกัน โดยเฉพาะ การตรวจสอบสิทธิ์เงินเยียวยา และการรอ ขอทบทวนสิทธิ์
เห็นได้ว่า สถานะ อยู่ระหว่างตรวจสอบสิทธิ์รับเงินเยียวยา กับการรอยื่นเรื่อง ขอทบทวนสิทธิ์ เป็นได้ทั้ง คำถาม และความหวัง ของผู้คนในภาวะที่สถานการณ์โควิด-19 ยังกระทบการใช้ชีวิตอยู่ในขณะนี้อย่างแท้จริง