'บรรยง' แนะรัฐ ปรึกษา เศรษฐี ระวัง 'การกุมรัฐ'
‘บรรยง’ ออกโรงแนะรัฐ ส่งจดหมายขอความช่วยเหลือเศรษฐี20อันดับแรกของไทย หวั่นใช้เป็นสะพานเชื่อมสู่ ”การกุมรัฐ” ควบคุมรัฐ เพื่อหาประโยชน์เข้าให้ตัวเอง ไม่แนะนำเปิดรับบริจาค เหตุเงินนำไปใช้ยาก รั่วไหลสูง
เรียกว่าเป็น ทอล์กออฟเดอะทาวน์ ชั่วข้ามคืน หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ส่งซิกว่า เตรียมจะส่งจดหมายเปิดผนึกถึงเศรษฐี 20 อันดับแรกของประเทศไทย เพื่อขอความร่วมมือให้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคมเพื่อช่วยแก้ปัญหา และลดผลกระทบ ไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่ หรือโควิด-19 ทำให้มีเสียงคำวิพากษ์วิจารณ์ออกมาร้อนโซเชียลออกมาในหลากหลายมุม
เช่นเดียวกับ "บรรยง พงษ์พานิช" ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ที่ได้แสดงความคิดเห็นผ่าน เฟสบุ๊คส่วนตัว ต่อกรณีที่รัฐบาลเตรียมส่งจดหมายถึง เศรษฐีแนวหน้าเหล่านี้ ว่า..ผมเองมีความรู้สึกสองด้าน คือด้านที่รู้สึกดีว่ารัฐจะได้กระตุ้นให้ผู้ที่มีล้นเหลือหันมา ร่วมมือกันแบ่งปันเผื่อแผ่
ซึ่งความจริงผมก็เห็นทุกท่านทำกันมาอยู่แล้ว บางท่านก็มีโครงการดี เช่น สร้างโรงงานทำหน้ากากแจกฟรี สั่งซื้อเครื่องตรวจที่มีประสิทธิภาพให้โรงพยาบาลต่างๆ บริจาคทานให้ผู้เดือดร้อนในรูปแบบต่างๆ หลายท่านก็ทำมาตลอดตั้งแต่ก่อนหน้าวิกฤติ สร้างโรงพยาบาล โรงเรียน บริจาคมากมาย ถวายพระราชกุศล ฯลฯ การที่เรียกมาประชุมร่วมกัน ในแง่นี้ จะมีประโยชน์ก็แค่สองอย่าง
คือ หนึ่ง จะได้แบ่งงานกันทำ แบางภารกิจ แบ่งพื้นที่ ให้ทั่วถึง ไม่ให้ซำ้ซ้อน หรือถ้ามีภาระกิจใดที่ใหญ่เกินไปที่รายเดียวจะรับภาระได้ก็จะได้ร่วมกันทำ แต่แม้ในแง่ดีนี้ผมก็ยังเป็นห่วงอยู่สองเรื่อง คือหนึ่งถ้าเป็นโครงการของรัฐ รัฐก็น่าจะทำได้เองอยู่แล้ว เพราะออกพรก.ไปตั้งเกือบสองล้านล้าน ถ้ามีเรื่องจำเป็นก็ทำได้เลย ถ้าเงินไม่พอก็ ออกพรก.เพิ่มได้ ถ้าจะใช้ทรัพยากรเอกชน ก็จ่ายเงินเขาไปมันง่าย ควบคุมได้ และทำให้โปร่งใสได้ง่ายกว่าเยอะ
แต่ที่ผมกลัวที่สุด ก็คือไปเรียกให้เข้าแถวมาบริจาคเหมือนคราวภัยพิบัติ ซึ่งเสร็จแล้วก็เอาเงินมากองไว้ ใช้ได้ยากมาก …เพราะฉะนั้น ในแง่ที่ว่าดีนี้ ถ้าเป็นการที่รัฐจะทำตัวเป็นศูนย์กลาง เป็นผู้ประสานรวบรวมทรัพยากรพิเศษเพื่อไปจัดการนั้น มันขัดกับหลักที่ว่าภาครัฐไม่มีทางที่จะมีประสิทธิภาพและความคล่องตัวเท่าเอกชน(ก็ให้คล่องทีไรมันรั่วทุกทีนี่ครับ) ผมก็คิดว่าให้เอกชนเขาทำไปเองเถอะครับ รัฐเพียงแต่ให้ข้อมูลข่าวสาร ว่าที่ไหนเดือดร้อนอะไร แล้วปล่อยเขาว่าไป
ทีนี้มาอีกด้านหนึ่ง คือรัฐเชิญเข้ามาปรึกษาเพื่อนำไปสร้างนโยบายและมาตรการที่จะรักษาระบบเศรษฐกิจฟื้นฟูเศรษฐกิจ เยียวยาภาคส่วนที่มันเดือดร้อน อันนี้นัยว่าเหล่ามหาเศรษฐีล้วนเป็นคนเก่งคนดี ย่อมมีแนวคิดที่เป็นประโยชน์ อันนี้แหละครับที่ผมคิดว่าจะต้องระวังอย่างมาก ควรเป็นไปในแนวทางที่รับฟังข้อมูล รับฟังปัญหา ถ้าจะมีข้อเสนอก็ควรเป็นแค่ข้อเสนอ การจะนำไปปฏิบัติจะต้องทบทวนพิจารณาอย่างถ้วนถี่ และการขับเคลื่อน ถ้าจะใช้ทรัพยากรเอกชนก็น่าจะเป็นในลักษณะส่าจ้าง มีArm’slenghtกันตามสมควร อย่าถึงกับให้เอกชนออกนโยบาย คุมนโยบาย หรือออกเงินขับเคลื่อนนโยบายเลยครับ
ขอยกตัวอย่างโครงการ”สานพลังประชารัฐ” ที่เริ่มต้นก็มีเจตนาดี ตั้งกรรมการสิบกว่าคณะ จะเปลี่ยนประเทศให้เป็น 4.0 เอกชนรายใหญ่เข้าไปร่วมกันครบครัน(ผมก็เข้าไปร่วมด้วย…นั่งฟังประชุมสี่ชั่วโมง ไม่มีคำว่า ส่งเสริมการแข่งขัน จำกัดการผูกขาด เปิดเสรีการแข่งขัน แม้แต่คำเดียว) ผลก็คือ ทำกันมาห้าปีเศษ(ไม่รู้ยังมีใครยังทำอยู่บ้างครับ…ผมเผ่นมาสามปีแล้ว) เราก็ยังไม่ใกล้4.0ไปเลยแม้แต่นิดเดียว ความเหลื่อมล้ำ ความยากจนก็ยังแย่ลงคอร์รัปชั่นไม่ลด) มีแค่เหล่ามหาทั้งหลายที่มีทรัพย์เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว(ตามที่Forbes เขาว่านะครับ)
ความจริงแล้ว ตามทฤษฎี ตามประวัติศาสตร์ เขาว่า สงคราม วิกฤติเศรษฐกิจ และโรคระบาดร้ายแรงนี่เป็นเครื่องลดความเหลื่อมล้ำที่มีประสิทธิถาพ เกิด ขึ้นทีไร ความเหลื่มล้ำลด แต่มันลดในแง่ไม่ดี เพราะคนรวยจะโดนมากกว่าคนจนเยอะครับ …คราวนี้ก็เหมือนกัน เหล่ามหาที่ท่านเชิญมา ทรัพย์สินรวมลดไปแล้วหลายล้านๆบาท หายไปหลายสิบเปอร์เซนต์กันทุกคน ท่านก็ต่างเดือดร้อนกันเอง จะรักษาดูแลกิจการ ดูแลผู้คนของตัวก็ยังเป็นเรื่องลำบากอยู่แล้วแถมรัฐต้องใช้เงินมหาศาลขนาดนี้ ก็เป็นที่แน่นอนว่า ท่านๆต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นในอนาคตอย่างมากแน่นอน (ถ้าเรียกมาบอกเรื่องนี้เท่านั้น ขอให้อย่า”วางแผนภาษี”มากเกินไปก็น่าจะเป็นประโยชน์พอแล้วครับ)
ตามปกติแล้ว มหาเศรษฐีนี่จะมีสามจำพวก(ผมแบ่งเองนะครับ)คือ 1. พวกค้ากับโลก 2. พวกค้าในชาติและ3.พวกค้ากับรัฐ
พวกค้ากับโลกก็คือ พวกที่ผลิตสินค้าและบริการขายไปทั่วโลก รายได้มากกว่า80%มาจากนอกประเทศ พวกนี้ก็เช่น สตีฟ จ๊อบ บิล เกตส์ ซัคเคอร์เบิร์ก แจ๊คหม่า ortega(เจ้าของZara) Arnault(เจ้าของLVMH) Samsung Sony ฯลฯ
พวกค้ากับชาติ คือ พวกที่ทำธุรกิจส่วนใหญ่กับคนในชาติตนเอง รายได้ส่วนใหญ่มาจากในประเทศ ส่วนใหญ่จะทำธุรกิจ Non-tradables เช่น อสังหาฯ สถาบันการเงิน โรงพยาบาล รีเทล โทรคมนาคม สาธารณูปโภคพื้นฐาน ถนนคมนาคมฯลฯ พวกนี้ถึงอาจจะไม่ค้ากับรัฐโดยตรง แต่ก็ต้องอยู่ใต้กฎรัฐมาก ต้องถูกควบคุมโดยรัฐ(เช่น ห้ามผูกขาดฯลฯ)
พวกที่สามคือ พวกที่ค้าขายกับรัฐโดยตรง พวกที่ขายสินค้าและบริการให้รัฐหรือรัฐวิสาหกิจ พวกที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ(ซึ่งก็คือเช่าการผูกขาดมาจากรัฐ) พวกนี้จะยากดีมีจนขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐ และความสัมพันธ์กับรัฐ
ผมจะไม่ไล่ให้นะครับ ว่า มหาเศรษฐีไทยคนไหนเป็นพวกไหน ทุกคนไล่ได้เอง …ถึงตอนนี้ ต้องเน้นว่า ผมไม่ได้ว่าใครผิดนะครับ ทุกคนมีสิทธิ์แสวงหาความรำ่รวยได้ครับเพียงแต่ขอให้ไม่ผิดกฎหมาย ไม่บิดเบือนตลาด ไม่บิดเบือนนโยบาย และไม่จ่ายเงินคอร์รัปชั่นเพื่อให้ได้มาซึ่งการบิดเบือนอำนาจรัฐ นโยบายรัฐ …รัฐมีหน้าที่ที่ต้องคอยดูแล ให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม ดูแลเรื่องความโปร่งใส ไม่ให้มีการครอบงำตลาด
ใน ทฤษฎีคอร์รัปชั่นนั้น การคอร์รัปชั่นขั้นสูงที่น่ากลัวที่สุดก็คือ”การกุมรัฐ”(State Capture) ซึ่งก็คือ การที่เอกชนสามารถกุมนโยบายรัฐ หรือควบคุมรัฐให้ทำเพื่อประโยชน์ตัวเองได้ …อีกครั้งนะครับ ผมกำลังไม่ได้กล่าวหาใคร แต่เรื่องอย่างนี้ต้องระวังอย่างที่สุด ไม่ให้มีแม้แต่โอกาสที่จะเกิด
อย่างในยามวิกฤติที่ต้องการความเร่งด่วน ความชุลมุน การบิดบือน ยิ่งเกิดขึ้นได้ง่าย ยิ่งต้องระมัดระวัง ยกตัวอย่างที่ ขณะที่ ท่านปลัดฯต้องตากหน้าลงไปเจรจาขอร้องประชาชนที่เดือดร้อนให้อดทนรอ แต่ท่านก็ให้รัฐวิสาหกิจที่ท่านเป็นประธานอาศัยช่วงชุลมุนออกมาตรการเยียวยาเอกชนที่ค้าขายด้วยให้ได้ลดค่าสัมปทานไปรวดเดียวสองปี(ออกมาตรการตั้งแต่ยังไม่ปิดเมือง ปิดสนามบินซะอีกอีก …ทำงานรวดเร็วมีประสิทธิภาพได้อย่างไม่น่าเชื่อ) คิดเป็นเงินหลายหมื่นล้าน เยียวยาท่านมหาไป
นี่แหละครับ ความเป็นห่วงของคนเสียภาษีคนหนึ่ง ที่สนับสนุนให้รัฐใช้มาตรการเด็ดขาดสู้โควิดมาตลอดสนับสนุนให้รัฐใช่ทรัพยาการเพิ่มขึ้นให้เต็มที่เพื่อเอาชนะโรคร้าย กับดูแลเศรษฐกิจไม่ให้วิกฤติ ดูแลผู้ด้อยโอกาส ผู้เดือดร้อน และเตรียมตัวที่จะยินยอมเสียภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อการนี้
ขอเน้นเป็นครั้งที่สามนะครับ ว่า ไม่ได้กล่าวหาใคร เพียงขออนุญาตส่งเสียงเตือนในฐานะประชาชนไว้เท่านั้นนะครับ