'วันคุ้มครองโลก' 22 เมษายน วันที่เราได้ส่งเสียงเพื่อ 'ธรรมชาติ'

'วันคุ้มครองโลก' 22 เมษายน วันที่เราได้ส่งเสียงเพื่อ 'ธรรมชาติ'

ทำความรู้จัก "วันคุ้มครองโลก" หรือ Earth Day ในวันที่ 22 เมษายนของทุกปี ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากความตระหนักเรื่อง "ธรรมชาติ" และสิ่งแวดล้อม

22 เมษายน ของทุกปี เป็นวันที่ ทางโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งองค์การสหประชาชาติ (United Nations Environment Program หรือ UNEP) ได้กำหนดให้เป็น วันคุ้มครองโลก หรือ Earth Day ซึ่งถือเป็นวันสำคัญ ของขบวนการ อนุรักษ์ธรรมชาติ ทั่วโลก ซึ่งมีจุดเริ่มต้นที่สหรัฐอเมริกาจาก เกย์ลอร์ด เนลสัน (Gaylord Nelson) สมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐอเมริกาได้เสนอเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นวาระแห่งชาติจนทำให้เกิดเป็นกระแสตื่นตัวเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปทั่วสหรัฐอเมริกา

กระทั่ง นำไปสู่การรวมตัวของประชาชนอเมริกันหลายล้านคน พร้อมใจกันมาชุมนุมเพื่อประท้วงการเพิ่มขึ้นของมลภาวะ และการทำลายทรัพยากรธรรมชาติบนพื้นโลก ในวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2513 ซึ่งนำไปสู่การออกพระราชบัญญัติแก้ไขมลพิษในอากาศของสหรัฐอเมริกา และมีการจัดตั้งสำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมแห่งชาติขึ้น และกำหนดให้วันที่ 22 เมษายน ของทุกปี เป็นวันคุ้มครองโลก หรือ Earth Day นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ภายหลังวันสถาปนา วันคุ้มครองโลก ในปีแรก รัฐบาลกลางก็ประกาศใช้กฎหมายฉบับสำคัญ สำนักงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (U.S. Environmental Protection Agency) ได้รับการก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2513 ตามด้วยการประกาศใช้กฎหมายอากาศบริสุทธิ์ (Clean Air Act) กฎหมายน้ำสะอาดปี พ.ศ. 2515 (Clean Water Act of 1972) และกฎหมายว่าด้วยสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ พ.ศ. 2516 (Endangered Species Act of 1973)

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

รู้จ้ก ‘เกย์ลอร์ด เนลสัน’ ผู้จุดประเด็น ‘วันคุ้มครองโลก’ 22 เมษายน

สำหรับประเทศไทยนั้น ได้เริ่มจัดกิจกรรมรณรงค์ด้านการอนุรักษ์ ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ล้อไปกับวันคุ้มครองโลกขึ้นเมื่อปี 2533 อันถือเป็นยุคเริ่มต้นของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หลังจากการ กระทำอัตวิบากกรรม ของ สืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นักอนุรักษ์คนสำคัญของเมืองไทย โดยอาจารย์ และนักศึกษาร่วมกัน 16 สถาบันได้จัดงานวันคุ้มครองโลกขึ้นเพื่อรณรงค์ให้คนไทยเห็นความสำคัญของป่าอนุรักษ์ และตระหนักถึงวิกฤตการทำลายสัตว์ป่าและป่าไม้ประเทศไทย อีกทั้งหาทุนเข้ามูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อใช้ในการปกป้องรักษาผืนป่าที่เป็นมรดกของโลกอีกด้วย

หากสรุปวัตถุประสงค์ของ วันคุ้มครองโลก สามารถแบ่งออกเป็นเป้าหมายใน การอนุรักษ์ธรรมชาติ ได้ ดังนี้

  1. เพื่อลดอัตราการเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่อย่างหนาแน่นในบรรยากาศ
  2. เพื่อกำจัดคลอโรฟลูออโรคาร์บอนซึ่งเป็นตัวทำลายสภาพโอโซนและก่อให้เกิดการสะสมความร้อนให้หมดสิ้นไป
  3. เพื่ออนุรักษ์สภาพป่าที่เหลืออยู่ ทั้งที่เป็นป่าเบญจพรรณและป่าดงดิบ
  4. เพื่อห้ามการซื้อ-ขายสิ่งมีชีวิตที่อาจทำให้ภาวะการเจริญพันธุ์ลดลงหรือหมดสิ้นไป
  5. เพื่อคงสภาพระดับประชากรไว้ให้อยู่ในสภาพที่สมดุลกับทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่
  6. เพื่อสร้างพลังอำนาจจากองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกให้ร่วมกันปกป้องบรรยากาศ น้ำ และสภาพอื่น ๆ ให้พ้นจากการกระทำที่มิชอบของมนุษย์
  7. เพื่อสร้างสำนึกในอันที่จะรักษาโลกไว้ทั้งบุคคล ชุมชนและชาติ

ที่สำคัญ วันที่ 22 เมษายนของทุกปี ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้ร่วมกันจัดกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้น เพื่อเรียกร้องให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการอนุรักษ์โลกใบนี้ไว้ เช่น

  • การส่งเสริมการปลูกต้นไม้ทั่วทุกหนทุกแห่ง โดยเฉพาะแถบแอฟริกา เคนยา ไนจีเรีย และนามิเบีย เป็นต้น
  • การอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ที่เหลืออยู่ในเมือง หมู่บ้าน และภูเขา
  • รณรงค์ให้มีการอนุรักษ์ป่าธรรมชาติเพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารและที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า
  • เน้นการคุมกำเนิดเพื่อให้จำนวนประชากรได้คงอยู่ในระดับคงเดิม
  • ให้การศึกษาแก่เยาวชนและประชาชนทั่วไปได้ตระหนักถึงปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
  • ร่วมกันรักษาความสะอาดตามถนนหนทาง ชายหาด อุทยาน และสถานที่สาธารณะต่าง ๆ

ที่มา : tkpark