รู้จัก 'ทางด่วนแก้หนี้' ตัวช่วยปรับโครงสร้างหนี้ สู้ภัย 'โควิด-19'

รู้จัก 'ทางด่วนแก้หนี้' ตัวช่วยปรับโครงสร้างหนี้ สู้ภัย 'โควิด-19'

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิด "ทางด่วนแก้หนี้" ช่องทางเสริมช่วยประชาชนหรือธุรกิจที่ต้องการปรับปรุงเงื่อนไขหนี้ และโครงสร้างหนี้ สามารถเจรจากับธนาคารและ non-bank ให้สะดวกยิ่งขึ้น

ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) โดย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิด "ทางด่วนแก้หนี้" เป็น "ช่องทางเสริม" สำหรับประชาชนและธุรกิจที่ต้องการปรับปรุงเงื่อนไขหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ หรือต้องการความ ช่วยเหลือ ให้สามารถแจ้งความต้องการไปที่ผู้ให้บริการ

ช่องทางทางด่วนแก้หนี้นี้เป็นเพียง "ช่องทางเสริม" รับเรื่องตลอด 24 ชั่วโมง ในช่วงที่มีมาตรการเว้นระยะทางสังคมเพื่อลดการแพร่กระจาย ของเชื้อไวรัสโควิด 19 ซึ่งอาจทำให้ลูกหนี้ ไม่สามารถติดต่อ ผู้ให้บริการได้เนื่องจากมีลูกค้าติดต่อเข้าไปจำนวนมาก หรือช่วยในกรณีที่ลูกหนี้ติดต่อผู้ให้บริการแล้ว แต่ไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกัน เช่น คุณสมบัติไม่ผ่าน หรือเห็นว่าจะไม่สามารถจ่ายชำระหนี้ได้แม้จะมี มาตรการผ่อนปรนของผู้ให้บริการแล้วก็ตาม

158765381647

 ใครขอความช่วยเหลือจาก "ทางด่วนแก้หนี้" ได้บ้าง 

- ลูกหนี้ที่แม้จะไม่เข้าข่ายได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการที่ผู้ให้บริการประกาศ หรือเคยติดต่อแล้วไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกัน สามารถติดต่อผ่านทางด่วนแก้หนี้ได้ เพื่อให้มีการพิจารณาเป็นรายกรณี อีกครั้งหนึ่ง 

- ลูกหนี้ที่กรอกข้อมูลส่งผ่านทางด่วนแก้หนี้ได้ แต่ผู้ให้บริการไม่สามารถให้ความช่วยเหลือตามที่ลูกหนี้เสนอ ศคง. ขอให้ผู้ให้บริการ ระบุเหตุผลเพื่อแบงก์ชาติจะเข้าไปดูว่ามีอะไรที่พอจะทำได้บ้างที่จะหา ข้อยุติร่วมกัน และเดินต่อไปด้วยกันได้

- ลูกหนี้ของผู้ให้บริการทางการเงินทุกแห่ง ทุกประเภทวงเงิน ทุกสถานะการชำระหนี้ ทั้งกรณีที่มีสถานะปกติแต่ขาดสภาพคล่องชั่วคราว หรือเป็นหนี้เสีย (NPL) หรือ ปรับโครงสร้างหนี้แล้วแต่ประสบปัญหาในขณะนี้ก็สามารถส่งคำขอผ่านช่องทางนี้ได้

 ขั้นตอนการเข้าร่วม "ทางด่วนแก้หนี้" 

- ขั้นตอนแรก แนะนำให้ลูกหนี้ติดต่อผู้ให้บริการโดยตรงก่อน แต่หากไม่มีความคืบหน้าหรือข้อเสนอลูกหนี้ไม่ได้รับการพิจารณาให้มาใช้ทางด่วนแก้หนี้

- ขั้นตอนที่สอง กรอกข้อมูลในทางด่วนแก้หนี้ให้ครบถ้วน ผ่านแบบฟอร์มทางด่วนแก้หนี้ โดยเมื่อกรอกครบถ้วนแล้ว ข้อมูลจะถูกส่งต่อไปยังผู้ให้บริการที่ลูกค้าระบุไว้ (เจ้าหนี้ 1 แห่งต่อ 1 คำขอทั้งนี้ หากต้องการส่งคำขอไปยังผู้ให้บริการมากกว่า 1 แห่ง ให้ส่งคำขอแยกเป็น รายผู้ให้บริการ (เช่น ถ้ามี 2 แห่ง ให้กรอกข้อมูล 2 ครั้ง) แต่ในคำขอ สำหรับผู้ให้บริการหนึ่งแห่งอาจมีสินเชื่อหลายวงเงินก็ได้ โดยปัจจุบันมีการกำหนดวงรอบการส่งข้อมูลคำขอไปยังผู้ให้บริการ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ทุกวันจันทร์และพฤหัสบดี และอาจมีการขยายเวลาให้ถี่ขึ้นหากมีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวนมาก 

ตัวอย่างแบบฟอร์ม

158765241351

158765241284

- ขั้นตอนที่สาม รอพิจารณามาตรการช่วยเหลือ ปรับปรุงเงื่อนไข หรือปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้า ทั้งนี้ จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ให้บริการแต่ละแห่ง ประกอบกับความต้องการที่ลูกค้าระบุเลือกไว้และผู้ให้บริการจะติดต่อ 

- ขั้นตอนที่สี่ แจ้งผลการพิจารณาให้ลูกค้าทราบตามมาตรฐานของแต่ละแห่ง ซึ่งจะมี ระยะเวลาการพิจารณาแตกต่างกันตามประเภทสินเชื่อและปริมาณลูกค้า แต่โดยทั่วไปควรพิจารณาแล้วเสร็จภายใน 7-10 วัน ทั้งนี้ ถ้าภายใน 2 สัปดาห์ยังไม่ได้รับการแจ้งผลการพิจารณา ลูกค้าสามารถโทรสอบถามได้ที่ 1213 ได้ โดย ศคง. ขอให้ผู้ให้บริการรายงาน ความคืบหน้าการพิจารณาคำขอของลูกค้าทุกรายที่ผ่านทางด่วนแก้หนี้ ทุกวันที่ 10, 20 และสิ้นเดือน (หรือวันทำการถัดไปกรณีที่ตรงกับวันหยุด)

 ข้อตกลงในการใช้งาน 

1. ผู้ใช้บริการต้องใช้ถ้อยคำสุภาพ และแจ้งข้อเท็จจริงตามรายการที่กำหนดไว้ในแบบฟอร์มด้านล่างนี้ ทั้งนี้ คำขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในแต่ละครั้งเป็นการส่งคำขอสำหรับผู้ให้บริการแต่ละแห่ง ถ้าท่านเป็นลูกหนี้ของผู้ให้บริการ 2 แห่ง ท่านต้องกรอกและส่งรายการคำขอ 2 ครั้ง

2. ผู้ใช้บริการรับรองว่า ข้อมูลที่ได้แจ้งเป็นความจริงทุกประการ และในการกรอกข้อมูลโดยเฉพาะเลขประจำตัวประชาชน ต้องกรอกให้ถูกต้องเพราะการกรอกข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจะส่งผลกระทบต่อการประสาน และการค้นหารายการคำขอของท่าน

3. ผู้ใช้บริการยินยอมให้ ธปท. เปิดเผยข้อมูลนี้ ให้แก่ผู้ให้บริการทางการเงินที่เกี่ยวข้องทราบ และยินยอมให้ผู้ให้บริการทางการเงินที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูลต่อ ธปท. เพื่อประโยชน์ในการประสานงาน

4. ธปท. ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน เพื่อส่งต่อข้อมูลการขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ไปยังผู้ให้บริการทางการเงินที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. ได้แก่ สถาบันการเงินสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. ตามที่ผู้ใช้บริการได้ระบุไว้ทั้งนี้ การพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือความช่วยเหลืออื่นใด ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจ และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของผู้ให้บริการแต่ละแห่ง

5. ธปท. สามารถช่วยประสานกับผู้ให้บริการทางการเงินภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ท่านสามารถระบุชื่อผู้ให้บริการที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนแนวทางการกำกับดูแลต่อไปในอนาคต

กรณีต้องการติดต่อสอบถาม ร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแส สามารถติดต่อได้ผ่านเบอร์โทรศัพท์ 1213 อีเมล www.1213.or.th

    

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย