เรื่องใต้ฝา 'ชาไข่มุก' ที่คุณอาจไม่เคยรู้
ร่วมฉลอง "วันชานมไข่มุก" ด้วยการเช็คความรู้ ย้อนประวัติเครื่องดื่มยอดฮิต "ชาไข่มุก" ยังมีอะไรที่คุณยังไม่รู้อีกบ้าง !?
ความนิยมของ “ชาไข่มุก” หรือชื่อเต็มๆ คือ "ชานมไข่มุก" ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกโดยมีมูลค่าสูงถึงกว่า 6 หมื่นล้านบาท ในปี 2016 และถูกคาดการณ์ (ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19) ว่า ตัวเลขจะสูงขึ้นไปปริ่มๆ แสนล้านบาทในปี 2023 (ข้อมูลจาก Allied Analytics)
แน่นอนว่า ชาไข่มุกไม่ใช่เครื่องดื่มแปลกใหม่อะไร อย่างในประเทศไทยก็รู้จักกันมาราวๆ 20 ปี จนปัจจุบัน มันกลายเป็นเครื่องดื่มธรรมดาสามัญ หาทานง่าย ราคาจ่ายได้สบายๆ
แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กลับเกิดปรากฏการณ์ใหม่ที่ "ชาไข่มุก" ได้คัมแบ็กกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ โดยจุดกระแสเริ่มต้นขึ้นในเอเชียก่อนจะตีโค้งไปถล่มฝั่งยุโรปและอเมริกา ชนิดที่ “ฮิลลารี คลินตัน” ยังอดไม่ได้ต้องขอลอง
สำหรับสหรัฐอเมริกา สาเหตุสำคัญที่ร้านชาไข่มุกโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมันเปิดง่ายกว่าร้านอาหาร เพราะใช้พื้นที่น้อยกว่า นั่นก็หมายถึงค่าเช่าที่ถูกกว่า แถมขอใบอนุญาตก็ง่ายกว่าด้วย
ร้านชาหลายๆ แบรนด์ที่อเมริกาใช้การตลาดเป็นเครื่องมือสำคัญ นำเสนอความแปลกใหม่ ร้านอย่าง Boba Guys และร้าน Tea & Milk ชูจุดขายเรื่องความพรีเมียม ใช้วัตถุดิบคุณภาพสูง ขณะที่ Seven Bar Lounge ในลอสแอนเจลิส ก็ขายความแปลกใหม่ด้วยเมนูที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าผู้ใหญ่
ส่วนความฮิตของชาไข่มุกในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง “เวียดนาม” ก็ถึงขั้นมีถนนสายชาไข่มุก หรือ Bubble tea streetในหลายเมืองเพราะมีร้านขายชานมไข่มุกแบรนด์ดังๆ ตั้งเรียงรายนับสิบร้าน ซึ่งขายดิบขายดี มีวัยรุ่นมายืนต่อคิวซื้อ บางร้านรอเป็นชั่วโมงก็ไม่บ่น
สำนักข่าวซินหัวเคยรายงานถึงความนิยมบริโภคชาไข่มุกในเวียดนามว่า ครึ่งแรกของปี 2017 มีร้านชาไข่มุกเปิดในฮานอยเฉลี่ยเดือนละ 8 ร้าน โดยจากการสำรวจพบว่า สำหรับร้านที่เงียบหน่อยก็จะขายได้ราวๆ 200-300 แก้วต่อวัน ส่วนร้านดังๆ ก็ชงกันมือเป็นระวิงเป็นพันแก้วกันเลยทีเดียว
การ "คัมแบ็ค" ของชานมไข่มุกในครั้งนี้ถือเป็นการกลับมาในรูปของ Contemporary Drink ที่ไม่ได้มีแต่ ‘ชา-นม-ไข่มุก’ อีกต่อไป เพราะนี่คือหนึ่งใน ‘status food’ ที่ยังแรงไม่หยุด โดยเป็นการแก้เกมหลังจากทรงๆ ไปพักใหญ่ ด้วยหลายเหตุผล ทั้งความจำเจของเมนูจนไม่แปลกใหม่อะไร บวกกับเทรนด์สุขภาพ จนเมื่อมีการปรับกลยุทธ์ใหม่ของผู้ประกอบการ อาทิ การเปิดให้ลูกค้าเลือกระดับน้ำตาล ไข่มุก และน้ำแข็งได้ตามใจชอบ
หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ชาไข่มุกกลับมาบูมทั่วโลก แถมยังอัพราคาจากแก้วละ 20-30 บาท บางเจ้าจ่ายแบงก์ 20 ไปยังได้เงินทอน กลายมาเป็นแก้วละหลักร้อยได้ก็เพราะมี "การตลาด" นำทาง สร้างจุดขายใหม่ ไม่ว่าจะเป็น "ชาชีส" ที่เคยฮิตกันไปเมื่อปีก่อน บางเจ้าเพิ่มสีสันด้วยไข่มุกน้ำผลไม้ที่ระเบิดในปาก (Popping pearl) เพิ่มเมนูอื่นๆ ที่ไม่ได้มีแค่ชา หรือบางรายก็ขายความเก๋ที่ตัวแก้ว เช่น ชานมในหลอดไฟก็ยังมี
หรือที่เพิ่งพ้นกระแสฮิตถล่มโซเชียลไปไม่นานก็คือ ชาไข่มุกสูตร Brown sugar ที่นอกจากความหอมหวานแล้ว ยังมีกิมมิกที่ลวดลายน้ำตาลดำที่ข้างแก้วซึ่งถูกใจวัยรุ่น จนกลายเป็นเทรนด์ให้เห็นในโลกโซเชียล
ว่าแต่.. เคยสงสัยกันหรือไม่ว่า ประวัติของชานมไข่มุกนั้น เป็นมาอย่างไร ?
ก่อนอื่นต้องขอเริ่มต้นอธิบายตั้งแต่ชื่อของชาไข่มุกในภาษาอังกฤษที่ว่า "Bubble Tea" ให้เข้าใจตรงกันเสียก่อน โดยทราบหรือไม่ว่า bubble ไม่ได้หมายถึง ไข่มุก อย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะอันที่จริง bubble tea แปลตรงตัวเลยก็คือ "ชาที่มีฟองอากาศ" หรือ “ชาโฟม” ซึ่งเกิดจากการเขย่าชานั่นเอง
แล้วทำไมต้องเขย่า !?
ส่วนสาเหตุที่ต้องเขย่า ก็เพราะ “แทนนิน” ในใบชา เมื่อถูกเขย่าแรงๆ จะทำปฏิกริยากับออกซิเจน ทำให้เกิดฟองที่่ด้านบนของน้ำ ให้กลิ่นหอม นุ่มลิ้น และยังดับกระหายได้อย่างดี โดยชาจะยิ่งอร่อย ถ้าถูกเขย่าอย่างเร็วและแรง
ส่วน "ชาที่ใส่ไข่มุก" นั้น คนไต้หวันเรียกว่า Boba Tea เพราะ ‘ปัวป้า’ เป็นสแลงหมายถึงหน้าอกผู้หญิงที่คล้ายๆกันกับก้อนไข่มุกนั่นเอง
แล้วทราบหรือไม่ว่า จาก "ชานม" หรือ "ชาโฟม" กลายมาเป็น "ชาไข่มุก" ได้อย่างไร ?
เรื่องนี้เกิดขึ้นที่ร้านชาแห่งหนึ่งในไต้หวัน เมื่อราวๆ ปี 1987 โดย “หลินซิ่วฮุย” สโตร์แมเนเจอร์ของร้าน "ชุนสุ่ยถัง" ซึ่งปัจจุบันเป็นรองประธานบริษัท
ด้วยความจำเจของเมนูเดิมๆ ของชานมที่แม้จะดับกระหาย ชื่นใจ แต่ก็เหมือนยังขาดอะไรไป ในตอนนั้น หลินซิ่วฮุย ในวัย 20 กว่าๆ เธอก็ออกไปจ่ายตลาดซื้อวัตถุดิบเข้าร้านเหมือนทุกๆ ครั้ง แต่ไม่ลืมฉวยเอาแป้งมันสำปะหลังกลับมาด้วยเพราะคิดจะทำขนมโปรดในวัยเด็ก คือ “เฝิ่นหยวน” มาทานกับเพื่อนๆ ที่ร้าน
และเกิดมีไอเดียลองนำมาใส่ในแก้วชานมเย็น และ ชามะนาว ดู.. และนั่นก็คือกำเนิดของ “ชาไข่มุก” หรือ Pearl milk Tea แก้วแรกของโลก และจากเดิมที่เป็นสีขาว ไข่มุกเปลี่ยนมาเป็นสีน้ำตาล และสีดำแบบที่เห็นกันก็เพราะใส่คาราเมลไซรัป และน้ำตาลทรายแดงเข้าไปในแป้ง แถมเดี๋ยวนี้ยังมีไข่มุกสีอื่นๆ เช่น สีเขียว สีแดง ก็มีอีกด้วย