'เงินเดือน 15,000' เก็บยังไงให้ได้ 'เงินล้าน' ?

'เงินเดือน 15,000' เก็บยังไงให้ได้ 'เงินล้าน' ?

ทำความรู้จักกันการลงทุนแบบ "DCA (dollar-cost averaging)" ทางเลือกลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุนในระยะยาว ช่วยสร้างผลตอบแทน ที่เปลี่ยนเงินก้อนเล็ก ให้กลายเป็นเงินเก็บ "หลักล้าน"

ความพยายามเก็บเงินให้ได้เป็นชิ้นเป็นอัน ดูเป็นเรื่องยากสำคัญสังคมทุนนิยม ที่มีค่าครองชีพสูง มีของล่อตาล่อใจเต็มไปหมด และมีดอกเบี้ยเงินฝากแสนต่ำ แต่ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป หากมีตัวช่วยให้ "เงินทำงาน" ไปพร้อมๆ กับเรา

"กรุงเทพธุรกิจ" พาไปดูทางเลือกสะสมเงินผ่านกองทุนรวม แบบ DCA (dollar-cost averaging) ที่จะช่วยให้การลงทุนด้วยเงินก้อนเล็กๆ ค่อยๆ เติบโต ออกดอกออกผลไปถึงหลักล้านได้แบบไม่ลำบากจนเกินไป และสามารถใช้เงินก้อนหนี้เป็นทุนสำหรับการดำเนินชีวิตในวัยหลังเกษียณได้แบบสบายๆ โดยเฉพาะผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานใหม่ๆ ที่มีเวลาในการสะสมเงินนานกว่า และมีโอกาสในการรับผลตอบแทนที่มากกว่าตามไปด้วย

  •  "เงินน้อย" เริ่มต้นยังไงให้มี "เงินล้าน"

ตัวเลขเป้าหมายหลักล้าน ถือว่าเป็นตัวเลขที่เมื่อเทียบกับรายได้ 15,000 บาทต่อเดือนดูไม่ใช่เรื่องง่าย แถมในอนาคตในอีกหลายสิบปีข้างหน้า อัตราเงินเฟ้อยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1-3% ต่อปี (อ้างอิงตามเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของธนาคารแห่งประเทศไทย สำหรับระยะปานกลางและสำหรับปี 63) เท่ากับว่าเงินจำนวนเท่าเดิมในตอนนี้ จะมีค่าลดลงเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งหมายความว่าการออมเงินในบัญชีออมทรัพย์ หยอดกระปุก หรือฝากออมทรัพย์แบบธรรมดาไม่เพียงพอแล้ว

ปัญหายิ่งเก็บเงินยิ่งลดลงเป็นอุปสรรคที่ทุกคนต้องเจอในอนาคต แต่ยังไม่อีกหนทางหนึ่งที่เป็นทางเลือก ที่ช่วยให้ “เงินก้อนเล็กๆสามารถเติบโตใกล้เคียงหรือโตมากกว่าเงินเฟ้อในอนาคต นั่นคือ "การลงทุนแบบ DCA ในกองทุนรวม"

สาเหตุที่หยิบยกการทำ DCA ในกองทุนขึ้นมาเป็นทางเลือก เนื่องจากเป็นลักษณะการลงทุนที่สามารถเริ่มต้นได้ด้วยเงินหลักร้อยและหลักพัน มีหลายระดับความเสี่ยงตั้งแต่น้อยจนถึงสูง ซึ่งสามารถเลือกความเสี่ยงที่เหมาะสมกับแต่ละคนได้

  •  กองทุนรวมคืออะไร? 

การลงทุนในกองทุน คือการรวบรวมเงินทุนจากนักลงทุนทั่วไป เพื่อรวมเป็นเงินก้อนขนาดใหญ่ แล้วนำเงินที่รวบรวมนั้นไปกระจายลงทุนตามนโยบายการลงทุนที่ได้ตกลงเอาไว้ ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทจัดการกองทุนซึ่งมีหน้าที่ลงทุนแทนเราตามนโยบายของกองทุนที่เราเลือกตามความเสี่ยงที่ตัวเองสามารถรับได้ ซึ่งกองทุนแต่ละกองจะได้ผลตอบแทนแตกต่างกันไปตามความเสี่ยง ประเภทกองทุน และสถานการณ์ตลาด โดยมีโอกาสได้รับผลตอบแทนตั้งแต่ 2-12% ต่อปี (ผลตอบแทนแต่ละปีจะแตกต่างกัน ตามประเภทสินทรัพย์ที่ลงทุน สภาวะตลาด และปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง)

โดยจากการรวบรวมผลตอบแทนย้อนหลังที่เกิดขึ้นจริงของกองทุนประเภทต่างๆ ในการจัดอันดับ TOP FUND PERFORMANCE เว็บไซต์ของบริษัทหลักทรัพย์นายหน้า ซื้อขายหน่วยลงทุน WealthMagik พบว่า ผลตอบแทนในการลงทุนย้อนหลัง 10 ปี ของกองทุนที่มีความเสี่ยงต่างกันมีสถิติ ดังนี้

ผลตอบแทนย้อนหลัง 10 ปี จากกองทุนตราสารทุน 207 กองทุน มีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีอยู่ระหว่าง 5.69%-12.88%


ผลตอบแทนย้อนหลัง 10 ปี จากกองทุนรวมผสม 68 กองทุน มีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีอยู่ระหว่าง 3.31%-12.28%

ผลตอบแทนย้อนหลัง 10 ปี จากกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะกลาง 56 กองทุน มีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีอยู่ระหว่าง 1.92%-3.15%

ผลตอบแทนย้อนหลัง 10 ปี จากกองทุนรวมตลาดเงิน 37 กองทุน มีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีอยู่ระหว่าง 1.32%-1.74%

จากข้อมูลข้างต้นสะท้อนว่า "การลงทุนระยะยาว" ทำให้ผู้ลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับเป้าหมายมากกว่าการออมทรัพย์ธรรมดา อย่างไรก็ดีการลงทุนในกองทุนรวมมีทั้งข้อดีและความเสี่ยงที่ต้องระวัง และควรทำความเข้าใจก่อนลงทุน ดังนี้

158893153433

ข้อดีของการลงทุนกองทุนรวม

มีมืออาชีพคอยบริหาร ช่วยจัดการกองทุนให้เป็นไปตามนโยบาย
กระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ประเภทต่างๆ
 ช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุน
มีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย
 สามารถเลือกตามความเสี่ยงที่เหมาะกับตัวเองได้
มีสภาพคล่องสูง
 สามารถขายคืนหน่วยลงทุนเป็นเงินสดได้ง่าย
ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เฉพาะประเภท
SSF และ RMF

ความเสี่ยงจากการลงทุนกองทุนรวม

ผู้ลงทุนขาดความรู้เรื่องการลงทุน ทำให้การลงทุนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ไม่สอดคล้องกับความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้
ผลตอบแทนที่ไม่แน่นอน เนื่องจากมีปัจจัยจากสภาวะตลาด ระบบเศรษฐกิจ ระบบการเงินของประเทศ อารมณ์ของนักลงทุนในตลาดต่างประเทศ ฯลฯ
ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เป็นความเสี่ยงต้องคำนึงถึงเมื่อลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศ หรือกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในต่างประเทศ
การขาดสภาพคล่องในการซื้อขาย สำหรับกองทุนที่มีเงื่อนไขเรื่องระยะเวลาในการถือครอง
อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ผลตอบแทนกองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ ฯลฯ อาจน้อยกว่าราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น

158893157124

 

158893157216

  •  การลงทุนแบบ DCA พิเศษอย่างไร 

 DCA (dollar-cost averaging) คือการตั้งระบบลงทุนแบบอัตโนมัติ เป็นงวดๆ งวดละเท่าๆ กัน ทุกเดือนหรือทุกไตรมาส ถ้าราคาหุ้นปรับตัวต่ำลงจะซื้อหน่วยลงทุนได้มากขึ้น และเมื่อราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นจะซื้อหน่วยลงทุนได้น้อยลง ซึ่งการซื้อต่อไปเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ จะช่วยถัวเฉลี่ยต้นทุนหน่วยลงทุนที่เราซื้อให้เท่าๆ กัน ทำให้ไม่ต้องมาคอยเฝ้าราคาขึ้นๆ ลงๆ ของกองทุน แถมมีผู้จัดการกองทุนช่วยบริหาร ทำให้ไม่ต้องมานั่งเฝ้าตลาดหุ้นด้วยตัวเอง

สาเหตุที่หยิบยกวิธีนี้ขึ้นมา เพราะข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปรากฏสถิติที่น่าสนใจว่า การลงทุนระยะยาวด้วยวิธีการแบบ DCA ให้ผลลัพธ์ดีกว่าการลงทุนแบบจับจังหวะ หรือเก็งกำไร แถมสามารถเริ่มต้นได้จากเงินจำนวนน้อยๆ ด้วย (ตามนโยบายแต่ละกองทุน)

ข้อดีของการลงทุนในกองทุนแบบ DCA

- ช่วยตัดอารมณ์ความรู้สึกในการตัดสินใจลงทุนออกไป
- ลดความเครียด
- ไม่จำเป็นต้องมีเงินก้อนใหญ่
- ทำให้มีวินัยในการลงทุน ไม่หลงไปกับความผันผวนของตลาดในระยะสั้น ๆ

ข้อด้อยของการลงทุนในกองทุนแบบ DCA

- มีความเสี่ยงตามประเภทของกองทุน
- ใช้ระยะเวลาการลงทุนยาว 

  •  ตัวอย่างการลงทุนในกองทุน แบบ DCA

นางสาว A อายุ 30 ปี หักเงินราว 15-20% ของเงินเดือน 30,000 บาท เป็นเงิน 4,500-5,000 บาท มาลงทุนในกองทุนทุกๆ วันที่ X ของเดือน อย่างสม่ำเสมอเป็นเวลาเป็นระยะเวลา 30 ปีจนเกษียณ จะมีโอกาสได้เงินก้อนสำหรับใช้ในช่วงเกษียณ ดังตารางข้อมูลต่อไปนี้

158893172716


นอกจากนี้ "กรุงเทพธุรกิจ" ยังรวบรวม ตัวอย่างการทยอยลงทุนผ่านกองทุนแบบ DCA ในช่วงวัยต่างๆ มาให้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

158893172719

158893172827

158893172873

สามารถทดลองคำนวณการสะสมเงินแบบ DCA ได้ที่ โปรแกรมคำนวณเงินฝากของ ศคง. 

  •  ดอกเบี้ยทบต้น 

158893181978

สาเหตุที่วิธีลงทุนแบบ “DCA ในกองทุนเติบโตขึ้นจนไปถึงเป้าหมายได้ คือพลังแฝงที่เรียกว่า ดอกเบี้ยทบต้น” ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยในแต่ละปีในระยะยาว รวมกับเงินต้นที่มีอยู่เดิมกลายเป็นเงินต้นก้อนใหม่ และเมื่อเวลาผ่านไป เงินต้นก้อนใหม่จะถูกพอกด้วยดอกเบี้ยที่ได้รับของปีถัดไปเรื่อยๆ ทำให้ผลลัพธ์ในตอนท้ายกลายเป็นก้อนใหญ่หลักหลายล้านได้

ทว่า กฎเหล็กของการเก็บเงินแบบ DCA คือ “วินัย” ที่ต้องลงทุนสม่ำเสมอ และ “ความอดทน” ที่จะต้องทำต่อเนื่องเป็นระยะเวลาร่วม 10 ปีหรือมากกว่านั้น ซึ่งเป็นอุปสรรคโหดหินที่ทำให้หลายคนที่แม้จะคำนวณเก่ง วางแผนดี แต่พอถึงเวลาลงมือทำ ก็อาจจะถอนตัวตั้งแต่ยังไม่พ้นปีแรก!

สังเกตได้ด้วยเงินลงทุนเริ่มต้นจำนวนเท่ากัน ยิ่งมีจำนวนปีในการลงทุนนาน การลงทุนที่ใช้ระยะยาวนานกว่าจะให้อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่ามาก ซึ่งเป็นข้อยืนยันประโยคที่ว่า “ออมก่อน รวยกว่า” 

สำหรับคนที่พยายามลองเก็บเงินแล้วยังไม่สามารถทำได้ ลองใช้วิธี "เงินที่ไม่เห็น คือเงินที่ไม่ได้ใช้" นั่นคือการหักเงินส่วนที่ต้องการเก็บหรือเงินที่จะลงทุนทันทีที่เงินเดือนออก หรือทันทีที่ได้รับรายได้

โดยเริ่มจาก "เงินเดือน - เงินเก็บ  = เงินสำหรับใช้จ่าย"

ความเป็นจริงแล้ว วิธีการลงทุนสม่ำเสมอแบบนี้สามารถทำได้ทั้งคนที่มีเงินเดือนน้อยกว่าหรือมากกว่า 15,000 บาท รวมไปถึงคนที่ไม่ได้มีรายได้ประจำก็สามารถหักรายได้ในแต่ละเดือนสม่ำเสมอไว้ลงทุนในลักษณะนี้ได้เช่นกัน

สูตรเก็บเงิน

"เงินเดือน - เงินเก็บ  = เงินสำหรับใช้จ่าย"

  •  อยากรวย ต้องรู้จักบริหารเงิน ควบคู่กับการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเอง 

นอกจากหลักในการเก็บเงินก้อนใหญ่ด้วยการลงทุนแบบ DCA แล้ว ยังมีองค์ประกอบหลายอย่างที่ควรทำควบคู่กันให้เป็นนิสัย ที่ช่วยส่งเสริมให้สามารถบริหารเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น

ทำรายรับ-รายจ่าย ยังคงเป็นวิธีการบริหารเงินสุดคลาสสิกที่ได้ผลดี และมีประโยชน์มากว่าเราเสียเงินไปกับอะไรบ้าง ปัจจุบันบันทึกรายรับรายจ่าย สามารถทำง่ายๆ จดในโทรศัพท์มือถือ หรือทำผ่านแอปพลิเคชันทำรายรับรายจ่ายที่ให้บริการได้ เช่น แอพพลิเคชั่น มีตังค์ (กระเป๋าตังค์), Money Lover: จัดการค่าใช้จ่าย เป็นต้น

158892844764

158892846778

ไม่สร้างหนี้ที่ไม่จำเป็น การเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ก่อนจะเป็นหนี้ ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่าหนี้นั้นเป็นหนี้ที่เป็นประโยชน์ หรือเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ โดยต้องพยายามควบคุมไม่ให้มีหนี้เกิน 20-30% ของเงินเดือน และหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ที่ไม่จำเป็นให้ได้มากที่สุด เพราะหากหลังเกษียณแล้วยังผ่อนหนี้ไม่หมด คุณอาจจะต้องทำงานเพื่อหาเงินใช้หนี้ไปตลอดชีวิต สวนทางกับสุขภาพที่เสื่อมโทรมลงไปเรื่อยๆ ก็เป็นได้

ฟุ่มเฟือยได้ แต่อยู่ในกรอบ คนโสดหลายคนเลือกที่จะใช้เงินปรนเปรอความสุขของตัวเอง ก็ไม่ใช่เรื่องผิดเช่นกัน แต่หลายคนพังเพราะใช้เงินแบบพอดีตัว เดือนชนเดือนจนไม่เหลือเผื่อตัวเองในอนาคต ทางที่ดีที่สุดคือ การสร้างกรอบในการฟุ่มเฟือยให้กับตัวเองแบบพอเหมาะเช่น หักออกมาใช้ส่วนนี้ไม่เกิน 10% ของเงินเดือน เพื่อควบคุมการใช้เงินตัวเองแบบหลวมๆ ช่วยให้บริหารจัดการการออมได้ง่ายขึ้น

ใส่ใจสุขภาพ มีเงินเท่าไหร่ก็ไม่พอซื้อสุขภาพที่ดีกลับมา เรื่องสุขภาพจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องให้ความสำคัญ และเจียดเงินมาดูแลสุขภาพควบคู่ไปกับการสร้างความมั่งคั่ง โดยอาจเริ่มต้นจากการบริหารจัดการเวลาในการทำงานมาดูแลตัวเองบ้าง เพื่อให้สุขภาพทางการเงิน และสุขภาพทางกายแข็งแรงไปพร้อมๆ กัน

แม้การลงทุนในกองทุนแบบ DCA จะมีรายละเอียดปลีกย่อยค่อนข้างมาก แต่คงไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป หากมีเป้าหมายที่ชัดเจน และมีวินัยมากพอ เพราะท้ายที่สุดแล้ว "เรื่องเงิน" เป็นเรื่องที่ไม่มีใครช่วยเราได้ดีเท่าตัวของเราเอง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ลืมไปไม่ได้ คือการพยายามศึกษาข้อมูลให้เข้าใจก่อนที่จะลงทุนอย่างรอบด้าน เพราะไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในกองทุน หุ้น หรือการลงทุนแบบอื่นๆ ก็มีความเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น 

“ความเสี่ยง” ที่ใหญ่หลวงที่สุดคือ “การไม่ยอมเสี่ยงอะไรเลย” (Mark Zuckerberg) 

อ้างอิง: WealthMagik ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย