'ราคายางพารา' ยุค COVID-19 รุ่ง หรือ ร่วง?
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ชัดที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2555-2562 วัฏจักรราคายางพาราอยู่ในช่วงขาลง จากปัจจัยลบหลายด้าน ขณะที่ปี 2563 ยังถูกซ้ำด้วยวิกฤติโควิด-19 ซึ่งคาดว่าราคายางพาราจะขึ้นลงในรูปแบบ New Normal ราคาใหม่ที่ต่ำกว่าเดิม และยากที่จะมีราคากลับได้อีก
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ราคายางพาราหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ผ่านพ้นไปไว้อย่างน่าสนใจว่า ในช่วงปี 2555-2562 วัฏจักรราคายางพาราอยู่ในช่วงขาลง จากปัจจัยกดดันด้านอุปทานที่มีผลผลิตยางพาราส่วนเกินของโลก สต๊อกยางพาราของจีนที่อยู่ในระดับสูง และปัจจัยกดดันจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อยู่ในระดับต่ำ
ขณะที่ฝั่งอุปสงค์ก็เจอปัจจัยกดดันทั้งวิกฤติเศรษฐกิจโลก สงครามการค้า และอุตสาหกรรมรถยนต์โลกชะลอตัว นอกจากนี้ในช่วงต้นปี 2563 ไทยยังต้องเจอปัจจัยลบครั้งใหญ่จากการที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลก และกระทบต่อเนื่องถึงอุตสาหกรรมยางพารา
สถานการณ์โควิด-19 ทำให้การเคลื่อนไหวของราคายางพาราในรูปแบบใหม่ เป็นการเคลื่อนไหวขึ้นลงในกรอบแคบๆ บนฐานของ New Normal ซึ่งเป็นช่วงราคาใหม่ที่ต่ำกว่าเดิม และยากแก่การที่จะมีราคากลับไปสูงขึ้นได้อีกเช่นในอดีต
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปี 2563 เป็นปัจจัยระยะสั้นที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างราคายางพาราในระยะยาว โดยทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของราคายางพาราในรูปแบบใหม่ เป็นการเคลื่อนไหวขึ้นลงในกรอบแคบๆ บนฐานของ New Normal ซึ่งเป็นช่วงราคาใหม่ที่ต่ำกว่าเดิม และยากแก่การที่จะมีราคากลับไปสูงขึ้นได้อีกเช่นในอดีต
โดยคาดว่า การเคลื่อนไหวของราคายางพาราแผ่นดิบชั้น 3 ของไทยตั้งแต่ปี 2563 บนฐาน New Normal อาจอยู่ในกรอบ 30-50 บาทต่อกิโลกรัม
ทั้งนี้ ท่ามกลางบริบทที่เปลี่ยนไป การเข้าใจและยอมรับการเปลี่ยนแปลง นับเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องปรับตัวได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะในส่วนของภาครัฐ นับเป็นโจทย์ท้าทายในการประคับประคองราคายางพาราผ่านมาตรการต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วยเหลือชาวสวนยางทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ส่วนเกษตรกรชาวสวนยางอาจต้องปรับตัวด้วยการปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า หรือปลูกพืชแซมในสวนยาง และควรหารายได้เสริมอื่นควบคู่ไปด้วย นอกจากนี้ การสร้างนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพารานับเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยให้ราคายางพาราไทยมีเสถียรภาพมากขึ้นในระยะยาว
ที่มา : kasikornresearch