5 ข้อน่ารู้อาการ ‘จาม’ หาคำตอบทำไม ‘กลั้นจาม’ แล้วลมเข้าสมอง?
เรื่องราวสุดอึ้งของหญิงคนหนึ่งที่ “กลั้นจาม” จนมีอาการป่วย และแพทย์ตรวจพบช่องอากาศในสมอง ทำเอาหลายคนกังวลเกี่ยวกับวิธี “จาม” ของตัวเองว่าจะเป็นแบบนี้หรือไม่ ชวนหาคำตอบกันว่าทำไมการ “กลั้นจาม” ถึงน่ากลัวและอันตรายกว่าที่คิด!
จากกรณีหญิงสาวคนหนึ่งเข้ามาพบแพทย์ด้วยอาการพูดไม่ชัด หน้าข้างขวาเบี้ยว หูข้างซ้ายอื้อ มีเสียงดัง หลังจากการ "กลั้นจาม" เมื่อแพทย์ตรวจเพิ่มด้วยการสแกน MRI สมองพบว่ามีลม (air pocket) ในเนื้อสมองข้างซ้าย ซึ่งคุณหมอที่รักษาคนไข้คนดังกล่าวคือ นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ ที่ได้รักษาคนไข้รายนี้ซ้ำถึง 2 ครั้ง และคุณหมอยังได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับวิธีการรักษาเอาไว้ด้วย ดังนี้
“..ผู้ป่วยหญิงไทยอายุ 85 ปี เป็นโรคเบาหวานและไขมันสูง เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2559 มาโรงพยาบาลด้วยอาการพูดไม่ชัด นึกคำพูดไม่ออก หูข้างซ้ายอื้อ มีเสียงดัง หลังจาก “จาม” ขณะเอามือบีบจมูกเม้มปากแน่นพร้อมๆ กัน แพทย์ได้ทำ MRI คลื่นแม่เหล็กสมอง พบมีลม (air pocket)ในเนื้อสมองข้างซ้ายขนาด 7 × 4 × 3.2 เซนติเมตร รักษาจนหายดี ต่อมาในวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 ผู้ป่วยกลับมาที่โรงพยาบาลอีกครั้ง หลังจากจามแล้วเอามือบีบจมูกเม้มปากแน่น เพราะไม่อยากให้มีเสียงดัง ทำมีอาการพูดไม่ชัด หน้าข้างขวาเบี้ยว หูข้างซ้ายอื้อ มีเสียงดัง ทำคอมพิวเตอร์สมองพบลม (air pocket) ในเนื้อสมองข้างซ้ายขนาด 5.1 × 4.1 × 2.8 เซนติเมตร ตำแหน่งเดิมเหมือนเมื่อ 3 ปีก่อน
สาเหตุของลมเข้าสมองทั้ง 2 ครั้งของผู้ป่วยรายนี้ คือ “จาม” แล้วเอามือบีบจมูกเม้มปากแน่นพร้อมๆ กัน แรงดันในช่องปากคงสูงมาก จึงทำให้ลมผ่านจากท่อในปากเข้าหูชั้นกลางด้านซ้าย แล้วดันทะลุผ่านกระโหลกใต้สมองเข้าเนื้อสมองด้านซ้าย ดังนั้น อย่าทำร้ายตัวเองด้วยการเอามือมาบีบจมูกและเม้มปากแน่นขณะ “จาม” เด็ดขาด ทั้งนี้ สามารถจามขณะใส่หน้ากากอนามัยได้ ไม่เป็นอันตราย เพราะลมสามารถผ่านหน้ากากได้..”
จากข้อความนี้บนเฟซบุ๊คของหมอมนูญ ทำให้หลายคนอาจกังวลใจเกี่ยวกับการ “จาม” ของตัวเองอยู่ไม่น้อย เอาเป็นว่าถ้ายังไม่ชัวร์ เราได้รวบรวมข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับการจาม และข้อเสียจากการ “กลั้นจาม” เอามาให้ได้ทราบกัน ดังนี้
1. การ "จาม" คืออะไร? ทำไมคนเราถึงจาม?
การจาม (Sneezing) เป็นกลไกของร่างกายที่ขับอากาศออกจากทางเดินหายใจ ผ่านออกมาทางปากหรือจมูกอย่างรวดเร็ว มักเกิดจากสิ่งแปลกปลอมเข้าไปภายในโพรงจมูก เช่น เกสรดอกไม้ ฝุ่นละออง เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย ฯลฯ ทำให้เกิดการระคายเคืองบริเวณเยื่อบุโพรงจมูก
การจามถือเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญในการป้องกันสิ่งแปลกปลอมและเชื้อโรคต่างๆ ที่เข้ามาในระบบทางเดินหายใจ โดยการจามนั้นเกิดขึ้นได้อยู่บ่อยๆ ซึ่งมักเกิดร่วมกับอาการคันจมูก คัดจมูก และน้ำมูกไหล
2. ขณะที่ "จาม" กลไกร่างกายทำงานอย่างไร?
เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมต่างๆ เกสรดอกไม้ ฝุ่นละออง เชื้อโรค ฯลฯ เข้ามาในร่างกาย สารระคายเคืองเหล่านั้นจะไปกระตุ้นเซลล์ประสาทรับสัมผัสที่อยู่ภายในเยื่อบุโพรงจมูก จากนั้นเซลล์ประสาทนี้จะส่งกระแสประสาทผ่านเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 (Trigeminal nerve) ไปยังสมองส่วนเมดัลลา (Medulla) ที่มีหน้าที่ควบคุมการหายใจ
เมื่อสมองส่วนเมดัลลาถูกกระตุ้นจนรับรู้ว่าว่ามีสิ่งแปลกปลอมภายในโพรงจมูก สมองส่วนนี้จะสั่งงานให้กล้ามเนื้อต่างๆ ในทางเดินหายใจทำงาน จึงเกิดการจามขึ้นมาได้ นอกจากนี้สมองส่วนเมดัลลายังไปกระตุ้นให้เกิดการหลั่งน้ำตาและของเหลวภายในโพรงจมูกอีกด้วย ผ่านระบบประสาทพาราซิมพาเทติก (Parasympathetic nervous system) ดังนั้น เมื่อมีการจาม จึงอาจมีน้ำตาและน้ำมูกไหลไปพร้อมๆ กัน
3. ความเร็วลมการ “จาม” 100 ไมล์/ชม. จริงหรือ?
รู้หรือไม่? การจาม 1 ครั้งแบบปกติ สามารถแพร่เชื้อโรคได้ในวงกว้างและแพร่ในระยะไกลมาก ถึง 1.5 เมตร และถ้าจามแบบแรงสุดๆ พบว่าเชื้อโรคสามารถแพร่กระจายไปไกลถึง 9 เมตร เลยทีเดียว ว่ากันว่าการจามแต่ละครั้งมีความเร็วลมที่รุนแรงมาก วัดได้ 100 ไมล์ต่อชั่วโมง (ประมาณ 160.93 กม./ชม.) แต่ต่อมาก็มีงานวิจัยเกี่ยวกับการจามในปี 2013 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal PLOS ONE พบว่าอาสาสมัคร 6 คนที่มาทดสอบการ "จาม" พบว่ามีความเร็วลมอยู่ที่ 4.5 เมตรต่อวินาที หรือแค่ 10 ไมล์ต่อชั่วโมงเท่านั้น!
อีกอย่างที่สับสนกันมากเกี่ยวกับการ “จาม” และการ “หลับตา” เคยมีบางทฤษฎีอ้างว่าสาเหตุที่เราหลับตาขณะจาม เป็นเพราะว่าการจามมีความรุนแรงมากจนอาจทำให้ลูกตาหลุดออกมาจากเบ้าตา ร่างกายจึงมีกลไกทำให้คนเราต้องหลับตาขณะจาม ซึ่งเรื่องนี้พบว่า.. ไม่จริง!
David Huston รองคณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮูสตัน (Texas A&M) และเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาภูมิแพ้ ประจำโรงพยาบาล Methodist เมืองฮูสตัน อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า จริงๆ แล้วก็มีความเป็นไปได้ (แม้ว่าจะยาก) ที่คนเราจะลืมตาขณะจาม
การจามเกี่ยวข้องกับการขับไล่อากาศและสิ่งแปลกปลอมออกจากร่างกาย เมื่อถูกกระตุ้นจากศูนย์กลางสมอง จากนั้นก้านสมองจะสั่งการหดตัวของกล้ามเนื้อหลอดอาหาร กล้ามเนื้อหูรูด รวมถึงกล้ามเนื้อควบคุมบริเวณเปลือกตาด้วย ทำให้เปลือกตาปิดเวลาจาม เป็นเพียงปฏิกิริยาอัตโนมัติของร่างกายเท่านั้น (เหมือนเวลาที่คุณหมอเอาค้อนเล็กๆ มาเคาะที่หัวเข่า แล้วขาคนไข้เตะออกมาเอง)
“ไม่ต้องกังวลว่าลูกตาจะถลนออกมา ไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือทางวิทยาศาสตร์ยืนยันเรื่องนี้ได้ และแรงดันที่ปล่อยออกมาจากการจามนั้น ไม่น่าเป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะทำให้ลูกตาโผล่ออกมา แม้ว่าดวงตาของคุณจะเปิดออกก็ตาม” หมอ David บอก
4. วิธีการ “จาม” ที่ถูกต้องในยุค COVID-19
มีแพทย์หลายคนออกมาแนะนำเกี่ยวกับการ “จาม” ที่ถูกต้อง โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโรคระบาด COVID-19 ยิ่งต้องใส่ใจและระมัดระวังเรื่องการจามให้มากขึ้น โดยมีข้อมูลจาก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention – CDC) ระบุว่า การปิดปากไอและจามและล้างมือ เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับมาตรการควบคุมการติดเชื้อในสถานพยาบาล เช่น แผนกฉุกเฉินสำนักงานแพทย์และคลินิก เพื่อช่วยหยุดการแพร่กระจายของเชื้อโรค ส่วนบุคคลทั่วไปก็ควรปฏิบัติด้วยเช่นกัน ดังนี้
- พกผ้าเช็ดหน้าหรือทิชชู่ติดคตัวไว้ตลอดเวลา เมื่อจะไอหรือจามให้ใช้กระดาษทิชชูปิดปากและจมูกทุกครั้ง
- หลังการจามเสร็จ ทิ้งกระดาษทิชชู่ลงถังขยะ แล้วล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
- หากไม่มีผ้าหรือทิชชู่ ให้จามใส่ข้อพับข้อศอกของคุณ ไม่ใช่จามใส่มือ!
- หลังจากจามไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม ต้องล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำอย่างน้อย 20 วินาที หรือใช้เจลแอลกอฮอล์
5. อันตรายที่เกิดได้ หากคุณ “กลั้นจาม”
จากข้างต้นที่บอกว่ามีเคสคนไข้หญิงที่ “กลั้นจาม” จนมีอาการป่วยและต้องรีบมาพบแพทย์นั้น เป็นเหตุการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และต้องระวังอย่ากลั้นจามแบบนั้นเด็ดขาด นอกจากจะทำให้มีลมดันเข้าไปในเนื้อสมองเหมือนเคสนี้แล้ว ยังอาจส่งผลอันตรายอื่นๆ ต่อร่างกายได้อีกหลายอย่าง (ยกเว้นไม่ทำให้หัวใจหยุดเต้นอย่างที่หลายคนเข้าใจผิด) เช่น
- แก้วหูแตก: แรงดันสูงจะถูกสร้างขึ้นในระบบทางเดินหายใจเมื่อคุณกำลังจะ “จาม” จากนั้นอากาศจะเข้าไปในหูของคุณอากาศที่มีความดันนี้ จะไหลลงสู่ท่อในหูแต่ละข้างของคุณที่เชื่อมต่อกับหูชั้นกลางและแก้วหู หากกลั้นจามเอาไว้ มีความเป็นไปได้ที่ความดันจะทำให้แก้วหูของคุณแตก ส่งผลให้สูญเสียการได้ยิน
- หูชั้นกลางอักเสบ: การจามคือการปล่อยลม (พร้อมกับเชื้อโรค) ออกจากร่างกายอย่างรวดเร็วและรุนแรง สมมติว่าเกิดการเปลี่ยนทิศทางลม แทนที่ลมจะออกมาทางจมูกตามปกติ แต่เมื่อคุณ “กลั้นจาม” ลมนั้นก็จะดันเข้าไปในช่องหูชั้นกลาง เชื้อโรคที่มาพร้อมกับลมจามก็จะติดอยู่ในชั้นหู ทำให้เกิดการติดเชื้อได้
- หลอดเลือดฝอยเสียหาย: มีความเป็นไปได้ที่การ “กลั้นจาม” ทำให้เกิดความดันในร่างกายเพิ่มขึ้น และสามารถทำให้หลอดเลือดฝอยในโพรงจมูกถูกบีบอัดและระเบิด แต่โชคดีที่การบาดเจ็บดังกล่าวมักทำให้เกิดความเสียหายเพียงเล็กน้อย เช่น ทำให้ตาและจมูกเป็นสีแดง เป็นต้น
- กะบังลมเกิดแผลฉีกขาด: กะบังลมเป็นกล้ามเนื้อที่อยู่บริเวณหน้าอกเหนือท้องของคุณ การบาดเจ็บที่กระบังลมเกิดขึ้นได้ยาก แต่ถ้าในกรณีของอากาศที่มีแรงดันสูง จากการ “กลั้นจาม” ก็อาจเป็นสาเหตุให้กะบังลมเป็นแผลฉีกขาดได้ ซึ่งนี่เป็นอาการบาดเจ็บที่คุกคามถึงชีวิตซึ่งต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลทันที
- หลอดเลือดแดงโป่งพอง: หากโชคร้ายจริงๆ การ “กลั้นจาม” อาจทำให้เกิดอาการป่วยรุนแรงที่คาดไม่ถึงอย่าง “เส้นเลือดในสมองโป่งพอง” หรือ “เส้นเลือดในสมองแตก” นำไปสู่การมีเลือดออกในกะโหลกศีรษะรอบสมอง เป็นการบาดเจ็บที่คุกคามถึงชีวิต
----------------------
อ้างอิง:
https://www.facebook.com/permalink
https://www.facebook.com/DramaAddict
กรุงเทพธุรกิจมี Line Sticker แล้วนะ รู้ยัง!
มนุษย์ออฟฟิศกับชีวิตอันยุ่งเหยิง ชวนกันมาส่งต่ออารมณ์ของคนทำงาน ผ่าน Sticker HAPPY OFFICE (ออฟฟิศหรรษา)
โหลดกันได้แล้วที่นี่! Sticker HAPPY OFFICE (ออฟฟิศหรรษา)