'โบโฌเลส์ นูโว' จากไวน์ของคนงานไร่องุ่นสู่ไวน์แห่งการเฉลิมฉลอง
เดือนพฤศจิกายน กิจกรรมเกี่ยว 'ไวน์โบโฌเลส์ นูโว' จะได้ยินบ่อยขึ้น ก่อนที่จะเปิดขายพร้อมกันทั่วโลกในวันพฤหัสบดีที่สามของเดือนพฤศจิกายน ซึ่งปีนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน 2567
งานเปิด ไวน์โบโฌเลส์ นูโว (Beaujolais Nouveau) ตรงกับวันที่ 21 พย. ส่วนวันขอบคุณพระเจ้าปีนี้ ตรงกับวันที่ 28 พย. หลัง วันขอบคุณพระเจ้า ผู้คนจึงหาไวน์มาดื่มกับไก่งวง และไวน์ที่มีมากที่สุดและราคาถูกในช่วงนี้คือ ไวน์โบโฌเลส์ นูโว ซึ่งในยุโรปภาษาชาวบ้านบอกว่าถูกเป็นขี้ !
ถึงเวลาเฉลิมฉลองไวน์โบโฌเลส์ นูโว (Cr.city-vino.com)
มีแฟนคอลัมน์บอกว่า รีบเขียนเรื่อง โบโฌเลส์ นูโว จะได้เตรียมหยอดกระปุกซื้อไวน์มาดื่ม ส่วนหนึ่งเพราะได้ยินบางคนบอกว่า “อ๋อ..โบโฌเลส์ นูโว เขาทำมาเพื่อกินกับไก่งวง...”
เล่นเอาผมงงเป็นไก่งวงตาแตก ไปได้ยินมาจากไหน ?
ความจริงคือ เพราะ วันขอบคุณพระเจ้า (Thanksgiving) อยู่ในช่วงเดียวกับเทศกาลเปิดตัว ไวน์โบโฌเลส์ นูโว พอดี เรียกว่าจังหวะมันพอเหมาะพอเจาะกันพอดี ไม่ใช่ตั้งใจทำมาเพื่อให้กินด้วยกัน อย่างที่มีคนเข้าใจแบบนั้น
โบโฌเลส์ นูโว เป็นไวน์ของอำเภอโบโฌเลส์ เขตผลิตไวน์ทางใต้ของแคว้นเบอร์กันดี เดิมเป็นไวน์ที่ใช้ดื่มฉลองของไวน์เมกเกอร์และคนที่ทำงานเกี่ยวกับไวน์ที่เหน็ดเหนื่อยมาทั้งปี หลังเก็บเกี่ยวองุ่นเสร็จสิ้นในเดือนตุลาคม พวกเขาก็จะเอาองุ่นมาหมักโดยไม่มีการบ่ม พอได้ระยะเวลาตามที่ต้องการก็รินใส่เหยือกมาดื่มกัน สนุกสนานเฮฮา
คนงานต้องรีบเก็บองุ่น
การเฉลิมฉลองโบโฌเลส์ นูโว : ยุคต่อมาเป็นเชิงพาณิชย์และออกนอกกรอบของคำว่าการเฉลิมฉลองการพักของไวน์เมกเกอร์และคนที่ทำงานเกี่ยวกับไวน์ กำเนิดมาจากบาร์ คาเฟ่ และร้านอาหารประเภทบิสโทรท้องถิ่นในอำเภอโบโฌเลส์ และเมืองลียง (Lyon) ซึ่งทุกปีไวน์โบโฌเลส์ นูโว จะถูกรินจากถังของเจ้าของไวน์ต่าง ๆ ใส่เหยือก แล้วแห่แหนเพื่อเฉลิมฉลอง
กระทั่งวันที่ 13 พฤศจิกายน 1951 ไวน์โบโฌเลส์ นูโว จึงเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ หลังจากได้รับ AOC ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน
องุ่นกาเมย์
องุ่นที่ใช้ทำไวน์โบโฌเลส์ นูโว คือ กาเมย์ (Gamay) เป็นองุ่นแดงที่ปลูกมากที่สุดในแคว้นเบอร์กันดี คนงานประมาณ 30,000 - 35,000 คน จะเก็บองุ่นด้วยมือให้แล้วเสร็จภายใน 3 สัปดาห์ โดยไม่ใช้เครื่องจักรเพราะจะทำให้องุ่นชอกช้ำส่งผลต่อความสดของไวน์ จากนั้นนำองุ่นทั้งลูกไปหมักโดยกระบวนการ Semi Carbonic Maceration ใช้เวลาประมาณ 6-8 สัปดาห์
การขนส่งไวน์โบโฌเลส์ นูโว ในอดีต
แต่ก็มีผู้ผลิตบางเจ้าใช้เวลาน้อยกว่านั้น เมื่อเสร็จแล้วจึงบีบน้ำองุ่นออกมาผ่านกระบวนการกรองให้ใส จะได้ไวน์สีทับทิมอมม่วงสดใส บรรจุขวดขายทันที ไม่มีการบ่มถังไม้โอ๊ค
จากผลการหมักดังกล่าวจะได้ไวน์ที่มีแทนนินต่ำ ฟรุตตี้ (Fruity) และกลิ่นหอม แต่พัฒนาตัวเองเร็ว จึงต้องดื่มขณะที่เป็นไวน์ใหม่ (Young Wine) และไม่ควรเก็บเอาไว้นานอันเป็นที่มาของนูโว (Nouveau) ที่แปลว่า "ใหม่" (New)
ฉลากที่มีสีสันของโบโฌเลส์ นูโว
สรุปง่าย ๆ คุณภาพดีที่สุดของไวน์โบโฌเลส์ นูโว จะอยู่ในช่วงวันขอบคุณพระเจ้า วันคริสต์มาส และวันปีใหม่เท่านั้น หลังจากนั้นไวน์จะเริ่มลดคุณภาพลงเรื่อย ๆ
ทุกปี ไวน์โบโฌเลส์ นูโว ประมาณ 60 - 70 ล้านขวด จะลำเลียงจากอำเภอโบโฌเลส์ไปสู่เมืองใหญ่ของโลก ด้วยระบบขนส่งแทบทุกอย่าง ก่อนจะเริ่มเปิดลังขายกันในเวลา 00.00 นาฬิกา ของวันพฤหัสบดีที่สามของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี
โบโฌเลส์ นูโว มาแล้วจ้า
หลังปี 2005 เป็นต้นมา มีการกำหนดประโยคใหม่ขึ้นมาว่า It’s Beaujolais Nouveau Time
แต่นั่นสำหรับประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ ขณะที่ชาวโบโฌเลส์ก็ยังยึดประโยคเดียว และถือเป็นประโยคแห่งมนต์ขลัง ว่า
Le Beaujolais Nouveau est Arrive ! แปลเป็นไทยว่า โบโฌเลส์ นูโว..มาแล้วจ้า..
เปิดตัวไวน์ตอน 00.00 น.
จอร์จ ดูเบิฟ (Georges Duboeuf) เจ้าของฉายา The Pope of Beaujolais หรือ King of Beaujolais ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำให้ไวน์โบโฌเลส์ เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ด้วยหัวคิดแบบการตลาดยุคใหม่ ทำให้ไวน์โบโฌเลส์ นูโว กลายเป็นเทศกาลไวน์ที่แพร่หลายไปทั่วโลก
ร้านอาหารที่สั่งไวน์มาเป็นถัง
ปัจจุบัน จอร์จ ดูเบิฟ เป็นหนึ่งในพ่อค้าไวน์ที่ใหญ่ที่สุดในฝรั่งเศส และบริษัท Les Vins Georges Duboeuf ของเขาผลิตไวน์ปีละกว่า 2.5 ล้านลัง ผลิตไวน์หลากหลายฉลาก ทั้งที่ผลิตเองและเป็นพ่อค้าคนกลาง รับซื้อองุ่นจากเกษตรกรแล้วนำมาผลิตไวน์
ปี 2018 เขาเกษียณตัวเอง และมอบให้แฟรงค์ ดูเบิฟ (Franck Duboeuf) ลูกชายเป็นผู้สืบสานความยิ่งใหญ่ ก่อนจะเสียชีวิตในวัย 87 ปี เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2020
ญี่ปุ่นเฉลิมฉลองไวน์โบโฌเลส์ นูโว ก่อนใคร
ในทวีปเอเชีย ญี่ปุ่นเป็นชาติที่ดื่ม โบโฌเลส์ นูโว มากที่สุด จอร์จ ดูเบิฟ ต้องใช้เครื่องบินจัมโบ้ลำใหญ่ขนโบโฌเลส์ นูโวมาญี่ปุ่นทุกปี ขณะที่ในญี่ปุ่นก็มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ แม้กระทั่งทำเป็นอ่างน้ำขนาดใหญ่ ให้คนลงไปอาบกันอย่างสนุกสนาน ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของสปา โดยเชื่อกันว่าน้ำองุ่นมีประโยชน์ต่อผิวหนังและร่างกายส่วนอื่น ๆ บอกว่าการได้ดื่มโบโฌเลส์ นูโว เป็นการบ่งบอกถึงความมีรสนิยมของคนดื่ม ขณะที่หนุ่มสาวบอกว่าการได้ดื่มโบโฌเลส์ นูโว ถือว่าโก้มาก
โบโฌเลส์ นูโว เกรดธรรมดา
ประการสำคัญคนญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นชาติแรกที่ได้ลิ้มรสโบโฌเลส์ นูโว เพราะจากการกำหนดวันแรกการดื่มคือ วันพฤหัสบดีที่สามของเดือนพฤศจิกายน จะเริ่มนับตามเวลาของดวงอาทิตย์ขึ้น ซึ่งทำให้ชาติทางตะวันออกได้เป็นผู้เริ่มวันใหม่ก่อนชาวยุโรปและสหรัฐอเมริกา....
รุ่น Villages เกรดสูง
ในเมืองไทยยุคที่เศรษฐกิจพองเป็นลูกโป่ง ประมาณปี 2537 – 2539 เคยมีผู้สั่ง โบโฌเลส์ นูโว ขึ้นเครื่องบินมาจากฝรั่งเศส พอลงสนามบินดอนเมืองปุ๊บก็ลำเลียงขึ้นเฮลิคอปเตอร์มาลงที่ดาดฟ้าของโรงแรมแห่งหนึ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นที่ฮือฮากันมาก กิจกรรมล่าสุดที่ผมเคยร่วมด้วยคือ โบโฌเลส์ นูโว วินเทจ 2007
ไร่องุ่นกาเมย์ (Cr.vinctecclub.com)
หลังฟองสบู่แตกปี 2540 ก็แทบไม่มีกิจกรรมอีกเลย แต่มีผู้นำเข้าสั่งมาขายประมาณ 7-8 ยี่ห้อ ก่อนจะค่อย ๆ หายไปเพราะคนไทยชอบไวน์หนักแน่น ซึ่งตรงกันข้ามกับโบโฌเลส์ นูโว ประกอบกับภาษีไวน์ที่แพงขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันที่ยังยืนหยัดอยู่คือ จอร์จ ดูเบิฟ และ โจเซฟ ดรูน (Joseph Drouhin)
โบโฌเลส์ นูโว เป็นไวน์ที่ดื่มง่ายกว่าไวน์แดงทั่วไป เพราะมีฟรุตตี้สูง จึงต้องเสิร์ฟในอุณหภูมิเย็น ประมาณ 12-13 องศาเซลเซียส ขณะที่ไวน์โบโฌเลส์ทั่วไป จะเสิร์ฟประมาณ 15-16 องศาเซลเซียส
จากไวน์ของคนงานไร่องุ่นสู่ไวน์แห่งการเฉลิมฉลอง (Cr.vinovest.co)
สิ่งสำคัญ 3 ประการที่ต้องจำไว้ในการดื่มไวน์ โบโฌเลส์ นูโว คือ
1 โบโฌเลส์ นูโวจะ "ดื่ม" กันอย่างจริงจังมากกว่าจะ "จิบ" เหมือนไวน์ทั่วไป
2 จะ "ไม่มีการวิจารณ์" โบโฌเลส์ นูโว เพราะถือเป็นไวน์แห่งการเฉลิมฉลอง จึงไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงพิธีรีตองใดๆ
3 โบโฌเลส์ นูโว จะมีคุณภาพสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 6 สัปดาห์หลังวางตลาด จากนั้นคุณภาพจะเริ่มถดถอยลง
ถึงเวลาเฉลิมฉลองด้วยโบโฌเลส์ นูโว (Cr.pngtree.com)
จากไวน์ที่ดื่มเฉลิมฉลองของคนงานในไร่องุ่น วันนี้ ไวน์โบโฌเลส์ นูโว กลายเป็นไวน์ของโลก ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นเป็นไวน์ที่ช่วยให้ชาวไร่องุ่นและโรงไวน์ขนาดเล็ก ตามหมู่บ้านเล็ก ๆ สามารถลืมตาอ้าปาก และมีเงินจำนวนหนึ่งเพื่อใช้จ่ายในแต่ละปี