เยียวยาเกษตรกรตรวจสอบสถานะ ตอบ 6 เรื่องรับเงิน 15,000 บาท จากปาก รมว.เกษตรฯ!
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตอบเอง ปัญหา “เยียวยาเกษตรกร” ตรวจสอบสถานะแบบไหนได้เงิน 15,000 บาท คนที่ไม่ได้เงินต้องทำอย่างไร
จากการที่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ดำเนินมาตรการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 28 เมษายน 2563 รายละ 15,000 บาท โดยจ่ายเดือนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือนตั้งแต่ พฤษภาคม – กรกฎาคม 2563 จำนวน 10 ล้านราย วงเงินงบประมาณจำนวน 150,000 ล้านบาท เริ่มจ่ายตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ให้กับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน และลงทะเบียนผ่าน www.เยียวยาเกษตรกร.com อย่างต่อเนื่อง ผ่าน ธ.ก.ส. กว่า 1,200 สาขาทั่วประเทศ
เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตอบคำถามในประเด็นเกี่ยวกับมาตรการ เยียวยาเกษตรกร 15,000 บาท ในสิ่งที่ประชาชนยังมีข้อสงสัยจนถึงตอนนี้
- หลักเกณฑ์การพิจารณาการได้รับเงินเยียวยาเกษตรกรเป็นอย่างไร
ตอบ : เรามีการสำรวจทะเบียนเกษตรกรจากหน่วยงานต่างๆ นำเสนอ คณะกรรมการพิจารณาการใช้จ่ายเงินกู้ และนำเสนอต่อ ครม. ให้พิจารณาอนุมัตินำเงินมาเยียวยาเกษตรกร เบื้องต้นมีการสำรวจทะเบียนเกษตรกรที่ ครม. อนุมัติไปเมื่อ 28 เมษายน ที่ผ่านมา เป็นจำนวน 10 ล้านราย ทางครม. ได้มอบให้กระทรวงเกษตรฯ จัดทำทะเบียนเพื่อส่งมอบให้กับ คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ กระทรวงการคลังทำการพิจารณาจ่ายเงินเดือนละ 5,000 บาท 3 เดือน
การเยียวยาครั้งนี้ เป้าหมาย ต้องการให้พี่น้องประชาชนได้ก้าวพ้นจากความยากลำบากในช่วงโควิด ต้องการช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบจริงๆ ขาดรายได้จริงๆ สำหรับคนที่มีรายได้ประจำ คนที่ทำงานอยู่และสามารถปฏิบัติงานได้ตามปกติ ก็ต้องถือว่า ท่านอยู่ในกลุ่มไม่ได้รับผลกระทบมาก จึงต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์ขึ้นมาว่า จะจ่ายให้ใครบ้าง
- กระบวนการดำเนินโครงการ หรือ ขั้นตอนการขอรับสิทธิไปถึงไหนแล้ว
ตอบ : การใช้เงินตรงนี้เป็นเงินภาษีจากพี่น้องประชาชน เพราะฉะนั้น การใช้เงินทุกบาททุกสตางค์จะต้องโปร่งใส ถูกต้องตามระเบียบราชการ เราได้รวบรวมรายชื่อเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนโดยถูกต้อง เบื้องต้นที่เสนอไป 10 ล้านราย แต่เมื่อตรวจความซ้ำซ้อน รวมถึงเกษตรกรที่มีตัวตนอยู่จริง ก็ดำเนินการส่งไปให้คณะกรรมการฯ พิจารณา จำนวน 8.33 ล้านราย เมื่อ ต้นเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน เราก็มาตรวจสอบความซ้ำซ้อนอีกรอบหนึ่ง ยึดตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการฯ ตั้งขึ้นมา โดยในส่วนของเกษตรกรที่อยู่ใน พรบ.ประกันสังคม ตามมาตรา 33 กรณี ข้าราชการบำนาญ และผู้ที่ได้รับการเยียวยาจากเราไม่ทิ้งกันไปแล้ว ตรวจสอบแล้วก็ตัดสิทธิตรงนี้ไปอีกประมาณ 5 แสนราย
ดังนั้นเหลือตัวเลขที่จะส่งไปให้กระทรวงการคลังประมาณ 7.8 ล้านราย ในจำนวนนี้ กระทรวงการคลังได้อนุมัติมาแล้ว 6.85 ล้าน เหลืออีกประมาณ 9 แสน ถึง1 ล้านราย ที่มีเอกสารไม่ครบถ้วน ถูกต้อง รอให้เข้ามาแก้ไข 2 แสนราย ก็ได้ดำเนินการส่งให้กับกระทรวงการคลัง ส่วนอีก 7 แสนรายอยู่ระหว่างรอการอนุมัติ ซึ่งใน 7 แสนรายนี้ ก็รวมเกษตรกรที่เป็นข้าราชการด้วย
ทั้งนี้ คณะกรรมการกลั่นกรองฯ จะเป็นคนวินิจฉัยคนที่จะมีสิทธิได้รับเงินจากมาตรการเยียวยาตรงนี้ ซึ่งเมื่อคณะกรรมการอนุมัติมาเรา ก็จะส่งรายชื่อให้ ธ.ก.ส. เพื่อโอนเงินเข้าบัญชีตรงไปยังผู้รับการเยียวยาท่านนั้นเลย ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าเงินจะไม่ผ่านมือเราเลย สามารถตรวจสอบได้
- จำนวนเกษตรกรที่ได้รับเงินเยียวยามีกี่รอบกันแน่
ตอบ : จำนวนเกษตรกรที่ได้รับเงินเยียวยาในแต่รอบซึ่งมีทั้งหมด 3 รอบ ในการขึ้นทะเบียน เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนก่อนวันที่ 30 เม.ย. เราได้ส่งชื่อไปประมาณ 7.8 ล้านราย จาก 8.3 ล้านราย แต่เราเชื่อว่า ยังมีเกษตรกรอีกเป็นจำนวนมากที่อาจจะยังไม่ทราบ หรือถูกตัดสิทธิ์ว่า ไม่ได้เป็นเกษตรกรแล้ว เนื่องจากไม่ได้มายืนยันสิทธิ์ภายใน 3 ปี ไม่ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของหน่วยงานแต่ละหน่วยงาน เราจึงได้เปิดให้มีการขึ้นบัญชีเกษตรกรขึ้นใหม่อีกรอบ เมื่อวันที่ 1-15 พ.ค. จากนั้นก็ปิดโครงการ
ส่งผลให้มียอดเกษตรกรที่มายื่นทบทวนสิทธิ์ และที่มายื่นจดทะเบียนใหม่ อีกประมาณล้านรายเศษๆ ซึ่งเป็นกรณีของเกษตรกรที่มีคุณสมบัติครบถ้วนอยู่แล้ว สามารถขึ้นทะเบียนเกษตรกรได้ 9 แสนราย และมีเกษตรกรอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นเกษตรกรจริง แต่ยังไม่ได้เพาะปลูกในฤดูกาลนี้ เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง ก็ได้มีการรักษาสิทธิ์แก่เกษตรกรกลุ่มนี้ ให้มาลงทะเบียนไว้ก่อน ภายใน 15 พฤษภาคม แต่การรับรองสิทธิ์ จะยืดไปจนถึง 15 กรกฎาคม เพื่อให้ทำการเพาะปลูกแล้วไปแจ้งหน่วยงานที่สังกัด
โดยกลุ่มนี้มีอีกประมาณแสนเศษนี้ จะได้รับเงินเยียวยาครั้งเดียว คือ 15,000 บาทเกษตรกรที่เข้าโครงการเยียวยาทั้งหมด ทุกท่านจะได้รับเงินเยียวยา 15,000 บาทเท่ากันทั้งหมด เพียงแต่ระยะเวลาจะทอดยาวไปบ้าง
- การยื่นอุทธรณ์สิทธิ์มีวิธีการขั้นตอนอย่างไร และยื่นได้ที่ไหนบ้าง
ตอบ : เราเปิดให้พี่น้องเกษตรกรสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ เช่น
กลุ่มแรก ที่ลงทะเบียนก่อน 30 เม.ย. แล้วถูกตัดสิทธิ์ไป ก็สามารถมายื่นอุทธรณ์ได้ในหน่วยงานทั้ง 8 หน่วยงานมายื่นอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 15 พ.ค. - 5 มิ.ย. หรือเข้าไปตรวจสอบได้ที่ www.moac.go.th
กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่ขึ้นทะเบียนระหว่าง 1-15 พ.ค. เมื่อเรารวบรวมหลักฐานเสร็จทั้งหมด ท่านที่โดนตัดสิทธิ์ ก็สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ โดยเรากำหนดเวลาการยื่นอุทธรณ์ชุดที่สอง คือ 31 พ.ค. - 5 มิ.ย.63
- ทำไมผู้ที่อยู่ในประกันสังคมมาตรา 33 และข้าราชการบำนาญถึงไม่ได้รับสิทธิ์นี้
ตอบ : วัตถุประสงค์ของการเยียวยาครั้งนี้ ตั้งใจช่วยเหลือพี่น้องที่ประสบปัญหาได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และเมื่อการดำเนินการเยียวยาจึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ว่า บุคคลกลุ่มใดจะได้รับหรือไม่สามารถรับสิทธิ์ในโครงการนี้ได้ คือ คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ก็ได้ออกหลักเกณฑ์มานำเสนอ ครม.
หนึ่งในหลักเกณฑ์นั้น คือ เกษตรกรที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ประกันสังคม มาตรา 33 ถ้าถูกพักงาน หรือถูกเลิกจ้าง สำนักประกันสังคม จะเข้าไปได้ดูแลอยู่แล้ว โดยจะได้รับเงินมากกว่า 5 พันบาทต่อเดือน เพราะฉะนั้นเมื่อมีหน่วยงานของรัฐดูแลอยู่แล้ว โครงการนี้ จึงไม่ได้ให้สิทธิ์ของแรงงานภาคเกษตรที่อยู่ใต้ พ.ร.บ.ประกันสังคม ม.33
และกรณีนี้เช่นเดียวกันกับ ข้าราชการบำนาญ ที่คณะกรรมการฯ กำหนดไว้ว่า ไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยานี้ เพราะฉะนั้น ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นคนคิดว่า ใครจะได้ หรือ ไม่ได้ แต่เราเป็นคนรวบรวมบัญชีเกษตรกร
- ตกลง ข้าราชการที่ขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรแท้จริงแล้วอยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับสิทธิ์หรือไม่
ตอบ : หลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกลั่นกรองฯ ออกมา บังเอิญว่า ไม่มีคำว่า ข้าราชการอยู่ในนั้น แต่จริงๆ ข้าราชการก็คือคนที่ได้รับการดูแลจากรัฐบาล ได้รับเงินเดือนอยู่ แต่บังเอิญไม่ได้เขียนไว้ชัดเจนว่า อยู่ในกลุ่มได้ หรือ ไม่ได้ แต่ต้องเข้าใจด้วยว่า ข้าราชการกลุ่มนี้ ไม่ได้เพิ่งมาขึ้นทะเบียนตอนนี้ แต่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร ประกอบอาชีพเกษตรกรมาตั้งแต่ต้น และได้รับการดูแลจากรัฐในส่วนของภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ
แต่เนื่องจากในกรณีนี้ เมื่อไม่ได้กำหนดไว้ในเงื่อนไขหลักเกณฑ์ เราก็นำเสนอบัญชีรายชื่อไปให้คณะกรรมการ เพื่อให้คณะกรรมการฯ ที่มีอำนาจในการวินิจฉัยว่า จะให้หรือไม่ให้ ซึ่งไม่ว่าคณะกรรมการฯ จะวินิจฉัยออกมาอย่างไรก็แล้วแต่ ให้หรือไม่ให้ กระทรวงเกษตรฯ ก็พร้อมดำเนินการ
แต่ความเห็นส่วนตัว ผมเห็นว่า ข้าราชการได้รับการดูแลจากภาครัฐอยู่แล้ว มีเงินเดือนอยู่แล้ว ไม่ได้ตกงาน ก็อาจจะอยู่ในกรณีที่รัฐดูแลอยู่แล้วก็ได้ แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น ขอให้รอการตัดสินของคณะกรรการดีกว่า