'อาหารเดลิเวอรี่' ทำไมต้องใส่ใจ Big data
ไขข้อข้องใจ ทำไม Big data จะกลายเป็นกุญแจสำคัญของธุรกิจ "ฟู้ดเดลิเวอรี่" ในยุค New Normal แค่การเชื่อมโยงกับพาร์ทเนอร์ในการจัดส่งอาหารในปัจจุบันยังไม่เพียงพอหรือ?
การเริ่มต้นช่องทางโปรโมทร้าน นำเสนอเมนู การเข้าถึงได้ง่าย โดยเฉพาะ “การสั่งอาหาร”... ถ้าดูเผินๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ค อินสตาแกรม และไลน์ ดูจะเป็นช่องทางพื้นฐานที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน
...แต่ทั้งหมดจะต้องมีข้อมูล (Data) ป้อนเข้าไป นี่แหละคือสิ่งสำคัญ ทำเองไหวไหม? จะเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลจากที่ใด? จึงจะสมบูรณ์และใช้การได้สะดวกรวดเร็ว รวมทั้งมีประสิทธิภาพจริงๆ ดูจะเป็นสิ่งที่ท้าทาย เพราะเป็นการเริ่มต้นของคำว่า "Big data"
การที่ลูกค้ากดออเดอร์เข้ามาหลากหลายช่องทาง การมีแพลตฟอร์มเพื่อบริหารจัดการออเดอร์ดังกล่าวจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้ IT ในส่วนนี้ ซึ่งจะช่วยทั้งการจัดคิวที่เป็นระบบ แยกแยะเมนูได้ชัดเจน มีรายงานเกี่ยวกับยอดขายและบัญชีทั้งรายวันย้อนหลังเพื่อการคาดการณ์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการมองอนาคตของธุรกิจที่ประกอบการ ไม่ใช่ทำไปแค่วันๆ หนึ่งเท่านั้น
การเชื่อมโยงข้อมูลกับ “การจัดส่ง” นับว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญอาจเรียกได้ว่าเป็น “หัวใจ” ของอาหารเดลิเวอรี่ก็ได้ ถ้ามัวพึ่งแค่มอเตอร์ไซค์ปากซอยหรือจ้างพนักงานขี่มอเตอร์ไซค์ส่งเองแล้ว พูดได้คำเดียวว่า “ไม่รอด”
ในภาวะปัจจุบันพาร์ทเนอร์ที่เป็นมืออาชีพในการจัดส่ง กลายเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะถ้าระบบจัดส่งมีฐานข้อมูลที่ชัดเจน สามารถเชื่อมต่อกับออเดอร์ได้ แค่นี้ก็ “หมู” ไปอีกขั้นตอนหนึ่งแล้ว
“การรู้จักลูกค้า” คงไม่ใช่แค่ “ปากต่อปาก” อีกต่อไป การมีฐานข้อมูลลูกค้าที่จำแนกพฤติกรรมการบริโภคไว้อย่างชัดเจนจะเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยให้ “ทำมาเท่าไรก็ขายได้” และถ้าเชื่อมโยงกับผลสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภค ทั้งเพศ วัย อายุ และการใช้จ่ายเงินสำหรับการกินอยู่ ก็จะสามารถจัดเมนูอาหารให้สอดคล้องกับความต้องการดังกล่าวได้แบบ “ตรงจิตตรงใจ” ลูกค้า ชนิดผูกติดให้อยู่กับร้านค้าของเราชนิดดิ้นไม่หลุดทีเดียว
การศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการบริหาร/จัดการ นับว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ผู้ประกอบการไม่โดดเดี่ยว พันธมิตรจะช่วยให้ธุรกิจเข้มแข็งขึ้น แต่คงต้องเป็นพันธมิตรมืออาชีพ จะมัวลองผิดลองถูกอยู่ไม่ได้ การเลือกใช้บริษัทรับส่งขนส่งอาหารจึงจะต้องพิถีพิถันก่อนการตัดสินใจเลือก
อาจจะพูดให้ง่ายขึ้นว่าการประกอบธุรกิจ “อาหารเดลิเวอรี่” ที่มีหลักทั้งช่องทางการติดต่อและสั่งอาหารได้ง่าย จัดการกับออเดอร์ และมีบริการจัดส่งที่รวดเร็ว บริหารจัดการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประชาสัมพันธ์ได้ตรงจุด สร้างเมนูอาหารตอบรับได้ถูกปากถูกใจ รวมทั้งการรักษามาตรฐานในการให้บริการล้วนแล้วต้องมีข้อมูลที่ดี เป็นระบบ เรียกใช้ง่าย เพราะมีการเชื่อมโยงในรูปแบบของ “Big data”
“Big data” จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการประกอบการ “อาหารเดลิเวอรี่” เพราะจะทำให้การประชาสัมพันธ์เกิดประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นวิธีโปรโมทร้านได้อย่างประหยัด คุ้มค่า และได้ผลจริงในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวบน Social media
อย่างเช่น Google โดยใช้โปรแกรมค้นหาที่เรียกว่า “Search engine” ที่ผู้ประกอบการได้ใส่ข้อมูลร้านไว้อย่างครบถ้วน และสามารถลิงก์ไปที่ต่างๆ ได้อีกด้วย ยังไม่รวมถึงการใส่แฮชแท็ก# ที่เกี่ยวข้อง ทำให้สามารถติดต่อสื่อสารกับลูกค้า มีโปรโมทแคมเปญการตลาดในโลกออนไลน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม
นี่ยังไม่รวมการส่ง SMS, Line และอีเมลติดต่อลูกค้าที่ทำกันอยู่แล้ว!
นอกจากนั้นคงต้องย้ำว่าการประกอบการธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่จะเห็นผลทันตาเห็น คงหลีกไม่พ้นจากการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก การทำโปรโมชั่น การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย การติดต่อเชื่อมโยงกับลูกค้า ไปจนถึงการประเมินผลการดำเนินงานเพื่อก้าวต่อไปอย่างมาดมั่น การดำเนินการดังกล่าวคงไม่พ้นการเชื่อมโยงข้อมูลอย่างหลากหลายจากทุกฐานข้อมูล และจะต้องเป็นข้อมูลที่ดีมีระบบ มีประสิทธิภาพ เข้าถึงได้ง่ายตามลักษณะของ “Big data” นั่นเอง
ถ้าจะมองให้ชัดในเรื่อง Big data กับ “อาหารเดลิเวอรี่” คงจะหนีไม่พ้น กรณีของ LINE MAN ที่ดึง Big data มาครีเอท “โมเมนท์มาร์เก็ตติ้ง” สร้างแต้มต่อใน “อาหารเดลิเวอรี่” ได้ อาศัย Big data สร้างความแตกต่าง ปลุกตลาด “อาหารเดลิเวอรี่” ขยายฐานลูกค้าด้วย “Emotional value” เสริมกลยุทธ์ “Moment marketing” โดยชู “สิ่งที่ใช่ ในโอกาสที่ใช่” ดันยอดให้งานยุ่ง 170% จากแคมเปญ Lovemom หม่ำกับแม่ ตอกย้ำว่า “Big data” เป็น “ผู้ช่วยเบอร์หนึ่ง”
จากข้อมูลที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า การประกอบกิจการ “อาหารเดลิเวอรี่” ถ้าจะให้ประสบผลสำเร็จและสามารถตอบสนอง New normal ของผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง คงจะมองข้าม “Big data” ไม่ได้เด็ดขาด!