รู้เท่าทัน 'มะเร็งตับ' จากกรณี 'ตั้ว ศรัณยู'
"มะเร็งตับ" ถือเป็นโรคร้ายแรงอีกหนึ่งโรคที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุด มักถูกตรวจพบในระยะกลางหรือระยะร้ายแรงไปแล้ว หลังจากนั้นผู้ป่วยก็มักจะเสียชีวิตอย่างรวดเร็วภายในเวลา 3-6 เดือน!
วงการบันเทิงไทยต้องสูญเสียบุคลากรคุณภาพอีกครั้ง เมื่อนักแสดงและผู้จัดละครคนเก่งอย่าง ตั้ว ศรัณยู วงษ์กระจ่าง เสียชีวิตลงในวัย 59 ปี ด้วยมะเร็งตับระยะสุดท้าย
"มะเร็งตับ" ถือเป็นโรคร้ายแรงอีกหนึ่งโรคที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุด จากข้อมูลสถานการณ์โรคมะเร็งในประเทศไทยตลอดระยะเวลา 20 ปี ที่ผ่านมา (ปี 2542-2562) พบว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย
โดยโรคมะเร็งที่พบบ่อยในเพศชาย อันดับหนึ่ง คือ มะเร็งตับ และเป็นอันดับ 3 ในเพศหญิง เนื่องจากมะเร็งตับมีการดำเนินโรคที่รวดเร็วมาก ผู้ป่วยที่เข้ามารับการตรวจมักจะมาด้วยอาการผิดปกติอย่างรุนแรงหรือโรคลุกลามไปมากแล้ว พอแพทย์วินิจฉัยและยืนยันผลตรวจว่าพบมะเร็งตับจริง ก็มักเสียชีวิตภายใน 3-6 เดือน!
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนทำความเข้าใจ โรคมะเร็งตับ เพื่อให้คนไทยรู้เท่าทันและอาจช่วยลดปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่การเกิดโรคนี้กับทุกคนได้
- มะเร็งตับเกิดจากอะไร
ข้อมูลจากโรงพยาบาลเปาโลระบุว่า มะเร็งตับ แบ่งการเกิดได้เป็น 2 ทางใหญ่ๆ คือ “เกิดกับตับโดยตรง” และ “ลุกลามมาจากมะเร็งที่เกิดกับอวัยวะอื่นมายังตับ”
ซึ่งการเกิดที่ตับโดยตรง มักเกิดจากปัจจัยเสี่ยงสำคัญ เช่น ผู้ป่วยเคยเป็นโรคไวรัสตับอักเสบชนิดบี เป็นพยาธิใบไม้ในตับ หรือเคยได้รับสารเคมีต่างๆ เข้าสู่ร่างกาย เช่น ยาฆ่าแมลง จนเกิดการสะสมสารเคมีจากยารักษาโรคบางชนิด หรือแม้กระทั่งการได้รับสารพิษที่เกิดจากเชื้อรา สารเคมีที่เกิดจากอาหารหมักดอง การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมไปถึงภาวะทุพโภชนาการ ภาวะภูมิต้านทานร่างกายต่ำ หรือสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากอย่างการมีพันธุกรรมเสี่ยง ซึ่งเมื่อรวมปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมา หากมีปัจจัยเสี่ยงมากก็มีโอกาสเกิดโรคมะเร็งตับได้มากเป็นเงาตามตัว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- หมอเล่าละเอียดเคส 'ตั้ว-ศรัณยู' ทำไมตรวจพบมะเร็งระยะสุดท้าย จากการที่กระดูกหัก
- ล่าสุด 'เปิ้ล หัทยา' เผยถึง 'ตั้ว ศรัณยู' อ่านแล้วซึ้งอาลัย
- 'สนธิ' อาลัย 'ตั้ว' เปรียบสูญเสียน้องชายแท้ๆ
- 'แอม เสาวลักษณ์' โพสต์อาลัย 'ตั้ว ศรัณยู' นอนพักให้สบาย ไปดีดี ไปที่สวยสวย
- อาการเสี่ยงบอกสัญญาณมะเร็งตับ
เพราะโรคมะเร็งตับในระยะแรกมักไม่แสดงอาการ การตรวจหาความเสี่ยงจึงเป็นเรื่องสำคัญ คนไข้ส่วนใหญ่มักจะไปพบแพทย์ก็ต่อเมื่อมีอาการลุกลามหลายๆ อย่างแล้ว ดังนี้
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- อ่อนเพลีย มีไข้ต่ำ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- แน่นท้อง ท้องผูก ท้องโต
- ขาบวม
- ปวดหรือเสียดชายโครงด้านขวา ซึ่งมักคลำพบก้อนได้จากอาการตับโต
- คลำพบก้อนที่ชายโครงด้านซ้ายจากอาการม้ามโต
- ตัวเหลือง ตาเหลือง
- ปัจจัยของผู้ที่มีความเสี่ยง
เนื่องจากมะเร็งตับ เป็นมะเร็งชนิดที่ลุกลามเร็ว ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยงควรเข้ารับการตรวจเป็นประจำ โดยผู้ที่มีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป คือ
- เพศชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป (เพศชายเสี่ยงมากกว่าเพศหญิงราว 2-3 เท่า)
- ผู้ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซีในร่างกาย
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และโรคตับแข็ง
- ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ติดต่อกันเป็นประจำมายาวนาน
- ผู้ที่สูบบุหรี่จัด หรือได้รับควันบุหรี่มือสองเป็นประจำ
- ผู้ที่มีประวัติญาติสายตรงในครอบครัวเป็นมะเร็งตับ
- วิธีการรักษามะเร็งตับ
แนวทางรักษามะเร็งตับ มีหลายวิธี
- การผ่าตัด มักทำในผู้ป่วยที่ก้อนมะเร็งยังไม่โตมาก ไม่มีภาวะตับแข็ง และการทำงานของตับยังดีอยู่ เป็นวิธีที่หวังผลเพื่อการหายขาด
- การฉีดยาเคมีและสารอุดตันเข้าเส้นเลือดแดงที่ไปหล่อเลี้ยงก้อนมะเร็ง ทำเพื่อให้ก้อนมะเร็งยุบลง (Transarterial ChemoEmbolization หรือ TACE)
- การใช้คลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงทำลายก้อนมะเร็ง โดยใช้เข็มสอดผ่านทางผิวหนัง (Radiofrequency Ablation) คลื่นเสียงนี้จะก่อให้เกิดความร้อนที่เซลล์มะเร็ง ทำให้เซลล์มะเร็งตายได้
- การฉีดยา เช่น ฉีดแอลกอฮอล์เข้าไปที่ก้อนมะเร็งผ่านทางผิวหนัง ใช้ในกรณีก้อนมะเร็งยังเล็ก และผู้ป่วยไม่สามารถผ่าตัดได้
- การใช้ยาเคมีบำบัดแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy) จะช่วยลดการเจริญเติบโตของมะเร็งได้ แต่ส่วนใหญ่จะทำเพื่อบรรเทาอาการ ไม่ใช่วิธีที่มุ่งรักษาให้หายขาด
- การฉายแสง โดยมากใช้เพื่อบรรเทาอาการของมะเร็ง
- การผ่าตัดปลูกถ่ายตับ
- การใช้วิธีการผสมผสาน โดยทำหลายๆ วิธีร่วมกัน
การรักษามะเร็งตับทำได้หลายวิธี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและความรุนแรงของโรค หากผู้ป่วยเป็นโรคตับแข็งในระยะที่การทำงานของตับไม่ดีแล้ว หรืออยู่ในระยะท้ายๆ ของโรคตับแข็ง ซึ่งโรคตับแข็งมักเป็นโรคที่มาควบคู่กัน โดยมักเป็นมาก่อนการเป็นมะเร็งตับเสียอีก ดังนั้นการรักษามะเร็งตับก็จะมีข้อจำกัด นอกจากนี้ขนาดของมะเร็งตับและการแพร่กระจายของมะเร็งก็มีความสำคัญในการวางแผนการรักษาด้วย ผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาโรคตับที่เป็นอยู่เดิมพร้อมกับการรักษามะเร็งตับ หรือบางรายอาจเน้นไปที่การรักษามะเร็งตับโดยตรงก่อน ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
เพราะเราไม่รู้ว่าโรคร้ายต่างๆ จะเกิดขึ้นกับเราเมื่อไร สำหรับใครที่รู้ว่าตนเองมีความเสี่ยงการเป็นมะเร็งตับ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคตับเรื้อรัง หรือมีประวัติเป็นโรคตับอักเสบ มีไวรัสตับอักเสบอยู่ในร่างกายก็ควรลดปัจจัยเสี่ยงด้วยการงดสูบบุหรี่ งดดื่มสุรา ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพยายามอย่าเครียด เมื่อมีโอกาสก็ควรเข้ารับการตรวจเพื่อคัดกรองความเสี่ยงมะเร็งตับอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยให้การรักษาเริ่มต้นได้ทันทีหากพบความผิดปกติ
--------------------------
อ้างอิง :