ส่องมูลค่าตลาด 'ซีรีส์วาย' เรื่องรัก 'ชายชาย' ที่ได้ใจคนดูทุกเพศ
ตลาดคอนเทนต์ "ซีรีส์วาย" หรือซีรีส์ความรักแบบ "ชายชาย" กำลังจะกลายเป็นตลาดแมสที่สังคมไทยให้การตอบรับมากขึ้น และกำลังจะกลายเป็นกลุ่มธุรกิจสำคัญในยุคที่สื่อดิจิทัลแข่งขันกันสูง
รู้หรือไม่? คำว่า "วาย" มีที่มาจากคำว่า “Yaoi” ในภาษาญี่ปุ่น ซึ่งหมายถึงเรื่องรักโรแมนติกระหว่างผู้ชายกับผู้ชาย (Boy’s Love) มีตั้งแต่ระดับกุ๊กกิ๊ก จับมือใสๆ อบอุ่น ไปจนถึงระดับสมจริง
หากย้อนกลับไปดูความนิยมคอนเทนต์ “ซีรีส์วาย” พบว่ามีจุดเริ่มต้นมาจาก “ประเทศญี่ปุ่น” ก่อนจะขยายไปยังประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งในไทยเองคอนเทนต์ประเภทความรักสายวายเป็นกระแสที่มีมานานไม่ต่ำกว่า 10 ปี จากการปรากฏขึ้นของศิลปินดาราหรือตัวละครชายในท่าทางใกล้ชิดสนิทสนมกัน ทั้งในละคร ภาพยนตร์ หรือแม้แต่รายการประกวดร้องเพลง จนเกิดเป็นคำว่า “คู่จิ้น” ขึ้นมา
พูดได้ว่าตลาดคอนเทนต์ “ซีรีส์วาย” หรือวงการ Boy’s Love กำลังจะกลายเป็นตลาดแมสที่คนไทยทุกเพศทุกวัยเปิดใจตอบรับมากขึ้น และกำลังจะกลายเป็นกลุ่มธุรกิจสำคัญในยุคที่สื่อดิจิทัลแข่งขันกันสูง
- ซีรีส์ ‘วาย’ ความปังที่ฉุดไม่อยู่
ซีรีส์เพศทางเลือกโดยเฉพาะ ‘วงการวาย’ ไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไปในปี 2020 โดยเฉพาะการกำเนิดคู่จิ้น #หยิ่น-วอร์ #วิน-ไบร์ท ที่ดังไกลในต่างประเทศ และสามารถเจาะกลุ่มชาวจีนได้อย่างอยู่หมัด
สำหรับคนที่ไม่เคยรับชมซีรีส์วาย อาจจะต้องเริ่มทำความเข้าใจก่อนว่าสิ่งนี้คืออะไร? จริงๆ แล้ว ซีรีส์วายก็เป็นเอ็นเตอร์เทนเมนต์รูปแบบหนึ่ง มีการดำเนินเรื่องที่ชวนติดตาม ทำให้ผู้ชมร่วมลุ้นไปกับตัวละคร เช่นเดียวกันกับหนังหรือละครทั่วๆ ไป
ตัวอย่างเช่น SOTUS the series พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง เนื้อหาถูกแบ่งเป็น 2 ประเด็นหลักๆ คือความรักที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นอย่างอบอุ่นระหว่างผู้ชาย 2 คน และระบบโซตัสที่เป็นประเด็นทางสังคมทุกๆ ปีเมื่อมีข่าวการรับน้อง
จะเห็นว่าคอนเทนต์วายในชั่วโมงนี้ไม่ได้ถูกทำขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ ด้วยตัวคอนเทนต์เองที่มีแง่มุมหลากหลาย จึงเป็นเอ็นเตอร์เทนเมนต์ที่สามารถเข้าถึงผู้ชมได้ในวงกว้างมากขึ้น
ในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ค่ายหนังต่างๆ ในประเทศไทยได้ผลิตซีรีส์ Boy's Love stroy ออกมาจำนวนมากถึง 40 เรื่อง โดยมียอดการชมซีรีส์วายในแอพพลิเคชั่น LINE TV ที่สูงเกินกว่า 600 ล้านวิว ซึ่งสวนทางกับละครกระแสหลักที่เรตติ้งน้อยลงกว่า 40% อีกทั้งสามารถต่อยอดธุรกิจอื่นๆ ของไลน์ให้มูลค่าสูงขึ้น เช่น ซีรีส์วายบางเรื่องเมื่อเปิดตัวเพียงช่วงแรก ก็สามารถทำให้ยอดขายสติกเกอร์ไลน์คาแรกเตอร์ตัวละครโตทะลุ 1,000% สูงสุดในรอบ 1 ปี และยอดขายเมโลดี้ในหมวดเพลงจากซีรีส์สูงขึ้น 400% เป็นต้น
ข้อมูลการวิเคราะห์ผู้ชมของ LINE TV ยังบอกอีกว่าในปี 2020 นี้ มีฐานคนดูซีรีส์วายเพิ่มขึ้นถึง 328% และกลุ่มที่มีอัตราส่วนเพิ่มขึ้นอยู่ที่อายุ 65 ปี นั่นหมายความว่ากลุ่มคนผู้สูงอายุก็เริ่มหันมาสนใจซีรีส์วายกันมากขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ
นอกจากนี้พฤติกรรมคนดูซีรีส์วายไม่ใช่แค่ดูอย่างเดียว แต่ในระหว่างที่ดูและหลังดูจบ มักจะมีการโพสต์ความเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับเนื้อหาตอนนั้นๆ ขึ้นบนโซเชียลมีเดีย ถือเป็นโมเมนต์การเข้าไปมีส่วนร่วม หรือได้ Engage ไปพร้อมกับคนดูคนอื่นๆ ที่เป็นแฟนคลับและติดตามซีรีส์เรื่องดังกล่าวในเวลาเดียวกัน
จะเห็นได้จาก Hashtag ที่ขึ้นอันดับ 1 บนสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Twitter ที่แสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนดูซีรีส์วายไม่ได้แค่ต้องการสนุกไปกับเรื่องราวในซีรีส์เท่านั้น แต่ยังต้องการเข้าไปมีส่วนร่วม หรือแสดงความรู้สึกเกี่ยวกับคอนเทนต์นั้นด้วย ดังนั้นคุณลักษณะพิเศษของซีรีส์วาย คือ มีกลุ่มคนดูที่เป็นแฟนคลับ (Advocate) และบางคนอยู่ในระดับสาวก (Evangelist)
- นิยาย Boy's Love วงการตั้งต้นของ "สาววาย"
เมื่อกลับมาย้อนดูตลาดตั้งต้นของกลุ่มวายนั้น ต้องบอกว่าแต่เดิมคอนเทนต์วายจะเริ่มจาก นิยายหรือการ์ตูน และดัดแปลงเนื้อเรื่องไปเป็นซีรีส์หรือหนังเป็นลำดับต่อไป สาวกวายเกิน 60% ก็จุดประกายความชอบคอนเทนต์วายมาจากหนังสือและนิยายเช่นเดียวกัน
นิยายวายมีตัวตนในสายตานักอ่านชาวไทยตั้งแต่ 10 ปีก่อน แต่กระแสความมาแรงต้องยกให้ 3-4 ที่ผ่านมา ทำให้ตลาดหนังสือหันมาสนใจนิยายวายกันเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันร้านหนังสือชั้นนำ เช่น ซีเอ็ดบุ๊ค, B2S ก็มีการแบ่งโซนชั้นวางสำหรับหนังสือวายอย่างชัดเจน ส่วนร้านนายอินทร์พบว่ามีหนังสือกลุ่มวายขายรวมกันมากว่า 1,533 เรื่อง
นอกจากนี้ยังมีสำนักพิมพ์เฉพาะกลุ่มวายที่เกิดใหม่ในปี 2020 เพิ่มขึ้นมาไม่น้อย โดยมีจำนวนมากถึง 75 สำนักพิมพ์ ส่วนสำนักพิมพ์เจ้าใหญ่ดั้งเดิมก็หันมาเปิดสำนักพิมพ์ย่อยเฉพาะกลุ่มวายภายในเครือเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Ever Y เครือสำนักพิมพ์แจ่มใส หรือ Deep เครือสถาพรบุ๊ค
สราวลี สีสด บรรณาธิการสำนักพิมพ์ Hermit สำนักพิมพ์เฉพาะกลุ่มวาย กล่าวว่า จุดพีคของนิยายวายคือเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว เราเป็นสำนักพิมพ์ขนาดเล็กที่มีคนทำงานกันแค่ 3-4 คน แต่ยอดขายช่วงนั้นมากถึง 7 หลัก และตีพิมพ์หนังสือประมาณ 25-30 ปก
“ความนิยมมันพุ่งสูงมาก และส่วนใหญ่นั้นเป็นการเปิดสั่งจองและโอนเงินเข้ามาก่อนที่เรียกว่าระบบพรีออเดอร์ ในขณะที่เมื่อ 10 ก่อน นิยายวายถือเป็นเรื่องต้องห้าม ที่ต้องแอบซื้อขายกันเงียบๆ ต้องมีโค้ดลับในการซื้อ มีตำรวจเข้ามาจับตาดู”
ถึงแม้ว่าจำนวนตัวเลขนิยายวายที่ขายในร้านหนังสือชั้นนำบางแห่งจะมีถึง 1,533 เรื่อง แต่ทั้งนี้ก็ไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริงของนิยายวายที่หมุนเวียนในตลาดหนังสือและผู้อ่าน เพราะว่ายังมีนักเขียนบางส่วนที่จัดขายหนังสือด้วยตัวเอง หรือที่เรียกว่าหนังสือทำมืออีกจำนวนหนึ่ง
ไม่เพียงเท่านี้ งานมหกรรมหนังสือนิยายวายก็ได้รับการตอบรับที่ดีเช่นเดียวกัน ทีมผู้จัดงาน Y book fair กล่าวว่า งาน Y book fair คือพื้นที่ให้กลุ่มคนที่มีความชอบสิ่งเดียวกันได้มีโอกาสมารวมตัวกัน พบปะกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็น จนเกิดเป็น Community และเป็นทั้ง Comfort zone สำหรับผู้ที่นิยมชมชอบนิยายแนว Boy’s Love โดยมีผู้เข้าร่วมงานต่อครั้งประมาณ 1,000-1,500 คน
ตลาดคอนเทนต์วาย กลายเป็นตลาดที่น่าสนใจเพิ่มมากขึ้น กูรูการตลาดระดับโลกอย่าง Seth Godin เคยกล่าวไว้บนเวที TED ว่า นักการตลาดต้องตามหากลุ่ม Geek หรือคนที่หลงใหลคลั่งไคล้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วสื่อสารกับพวกเขา ถ้ามัน engage กับพวกเขาได้ ก็เท่ากับเข้าถึงกลุ่ม Early adopter ได้ และมันจะถูกบอกต่ออย่างกระตือรือร้นโดยที่แบรนด์ไม่ต้องหว่านเงินเพื่อจับตลาดแมสตั้งแต่แรก สำหรับกลุ่มเกย์ นี่คือผู้บริโภคที่นักการตลาดพยายามเข้าถึงมาโดยตลอด เพราะเป็นกลุ่มที่มี Double income สามารถใช้จ่ายกับตัวเองได้อย่างเต็มที่ ไม่มีครอบครัว และหนังวายก็เป็นคอนเทนต์อีกรูปแบบหนึ่งที่สามารถเข้าถึงคนกลุ่มนี้ได้อย่างตรงไปตรงมา