'ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้' ลุ้นไทยผ่อนผันเข้าไทยดีลธุรกิจ
นักธุรกิจญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ขอให้ไทยผ่อนผันเดินทางเข้าไทย เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการเข้ามาทำธุรกิจ ซึ่ง สกพอ.จะนำเรื่องนี้ให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา
ภาครัฐและเอกชนของประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ขอให้ทางการไทยผ่อนปรนให้นักธุรกิจเดินทางเข้าไทย หลังจากที่ควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ได้และผ่อนผันเงื่อนไขการให้นักธุรกิจต่างชาติเข้าประเทศ
เริ่มตั้งแต่ นายอี อุก-ฮ็อน เอกอัครราชทูตเกาหลีประจำประเทศไทย เข้าพบนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2563 เพื่อหารือเกี่ยวกับการผ่อนปรนให้นักธุรกิจเกาหลีใต้เข้าไทยภายหลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 ในเกาหลีใต้คลี่คลาย
เอกอัครราชทูตเกาหลี ระบุว่าปัจจุบันมีนักธุรกิจที่ต้องเดินทางเข้ามาหารือและติดต่อธุรกิจในไทยจำนวนหนึ่ง โดยเกาหลีใต้พร้อมทำตามมาตรการที่กำหนดร่วมกันของทั้ง 2 ประเทศ ในการเฝ้าระวังการระบาดของโควิด-19 รวมทั้งได้ชี้แจงถึงแนวทางที่เกาหลีใต้ทำข้อตกลงไว้กับบางประเทศ เช่น จีน เวียดนาม และฮังการี
ทั้งนี้ เมื่อนักธุรกิจเกาหลีใต้เดินทางเข้าไปจะกักตัวเพื่อตรวจหาเชื้่อโควิด-19 รวม 2 ครั้ง หากผลตรวจสอบ 2 ครั้งเป็นลบก็ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการกักตัว 14 วัน ซึ่งทำให้ออกไปติดต่อธุรกิจได้เร็วขึ้น
นอกจากนี้ หอการค้าประเทศญี่ปุ่น (JCC) องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) รวมทั้งภาคธุรกิจจากเกาหลีใต้และประเทศอื่นที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรม ได้ยื่นหนังสือถึงภาครัฐขอผ่อนคลายการเดินทางเข้าไทย เพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ รวมถึงการส่งช่างเทคนิค เข้ามาตรวจสอบซ่อมบำรุงเครื่องจักรในอุตสาหกรรม และเพื่อสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ต่อเนื่อง
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้หารือเรื่องนี้เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.2563
กบอ.ได้อนุมัติแนวทางผ่อนปรนการเดินทางเข้าประเทศที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยจะหารือกับกระทรวงสาธารณสุขและคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเพื่อขออนุมัติ
ขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยและต่างประเทศปัจจุบันมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลได้มีมาตรการผ่อนปรนระยะต่างๆ ดังนั้น เพื่อรองรับบุคลากรภาคธุรกิจในอีอีซีช่วงระยะการฟื้นตัวของประเทศ สกพอ.จึงมีแนวทางผ่อนปรนการเดินทางเข้าประเทศไทย
ทั้งนี้ กำลังหารือกับกระทรวงการต่างประเทศ สร้างภาคีเครือข่ายระหว่างองค์กร บุคลากรทางการแพทย์ในประเทศต้นทางกับสถานเอกอัครราชทูตไทย หรือสถานกงสุลใหญ่ จัดให้มีการตรวจและออกใบรับรองแพทย์ ที่ยืนยันว่าผู้เดินทางมีสุขภาพเหมาะสมกับการเดินทางทางอากาศ หรือ Fit to Fly
รวมทั้งจะหารือกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อพิจารณา กำหนดประเทศต้นทาง และจำนวนบุคลากรที่จะอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศในแต่ละช่วงเวลา การกำหนดมาตรการกักกัน Flexible Alternative Quarantine ให้ผู้เดินทางเข้าประเทศทำภารกิจที่จำเป็นได้
และร่วมกันพิจารณาขึ้นทะเบียน สถานกักตัวทางเลือก Alternative State Quarantine เพิ่มเติมในพื้นที่ อีอีซี ที่บุคลากรในโรงพยาบาลเอกชนสามารถสื่อสารภาษากับประเทศต้นทางได้ เพื่ออำนวยความสะดวกยิ่งขึ้น
“มีบุคลากรอีกเป็นร้อยที่ต้องการเข้ามาทำงานในโครงการลงทุนอีอีซี เขาก็ขอให้เราผ่อนปรนการเดินทางเข้ามา เขาพร้อมที่จะปฏิบัติตัวตามเงื่อนไขเรา เช่น กักตัว 14 วัน แต่ขออยู่ในโรงแรมแถวสุขุมวิท และขอทำงานด้านเอกสารบ้าง ส่วนค่าใช้จ่ายต่างๆเขาพร้อมที่จะออกเองทั้งหมด”