'บัตรทอง' ช่วยคัดกรอง 'โควิด-19' กว่า 1.68 แสนราย

'บัตรทอง' ช่วยคัดกรอง 'โควิด-19' กว่า 1.68 แสนราย

สปสช.สรุปความคืบหน้าการดำเนินงานกองทุน "บัตรทอง" กรณี "โควิด-19" หน่วยบริการคัดกรองค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว 1.68 แสนคน ผู้มีสิทธิบัตรทองรับการรักษา 6,626 คน รับยาทางไปรษณีย์ 4.6 หมื่นครั้ง รับยาใกล้บ้าน 1.3 หมื่นใบสั่งยา

ความคืบหน้าการดำเนินงานรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ตามที่บอร์ด สปสช. มีมติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563 เห็นชอบให้การป้องกันโรค สร้างเสริมสุขภาพ ตรวจวินิจฉัยโรค รักษาพยาบาล รวมถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ กรณีโควิด-19 เป็นสิทธิประโยชน์กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง

เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.63  นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยถึงการใช้ บัตรทอง เพื่อร่วมกับหน่วยบริการสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูแลประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาด รวมถึงการลดความแออัดในโรงพยาบาลเพื่อลดความเสี่ยงผู้ป่วยและการแพร่ระบาด มีผลดำเนินการ ดังนี้

การตรวจคัดกรองและตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 เพื่อให้คนไทยเข้าถึงบริการ และค้นหาผู้ติดเชื้อในระยะแรก ปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อโควิด-19 ผ่านการรับรองมาตรฐานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 170 แห่ง ได้ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับการส่งต่อเฉพาะด้านเทคนิคการแพทย์ในระบบบัตรทอง 148 แห่ง เป็นภาครัฐ 104 แห่ง และภาคเอกชน 44 แห่ง ผลการดำเนินงานจากวันที่ 2 มีนาคม ถึง 22 พฤษภาคม 2563 มีประชาชนรับการตรวจคัดกรองโดยหน่วยบริการตรวจ Lab ขอรับค่าใช้จ่ายจำนวน 168,746 คน จ่ายชดเชย 418,227,015 บาท

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

การรักษาพยาบาลกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 สปสช.จัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมให้หน่วยบริการที่รับดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากระบบปกติ โดยข้อมูลจ่ายชดเชยเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 มีผู้ป่วยสิทธิบัตรทองเข้ารักษาพยาบาล 6,626 คน รวมเป็นค่าใช้จ่ายชดเชยค่าบริการ 82,231,667 บาท แยกเป็นผู้ป่วยนอก 107 คน จ่ายชดเชย 123,700 บาท ผู้ป่วยใน 950 คน จ่ายชดเชย 29,561,419 บาท และผู้ป่วยกรณีเข้าเกณฑ์สอบสวน (IP-PUI) 5,659 คน จ่ายชดเชย 52,546,538 บาท

การจัดส่งยาหรือเวชภัณฑ์ให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์ ลดความเสี่ยงผู้ป่วยเดินทางมายังหน่วยบริการ และสนับสนุนนโยบายเว้นระยะห่าง (Social Distancing) ซึ่งได้ร่วมกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด โดยหน่วยบริการจะได้รับค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ไปยังผู้ป่วยที่บ้านที่อัตรา 50 บาทต่อครั้ง เฉพาะกรณีผู้ป่วยอาการคงที่ โดยตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน – 20 พฤษภาคม 2563 มีโรงพยาบาล 135 แห่ง จัดส่งยาให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์ 46,531 ครั้ง เป็นจำนวน 2,326,375 บาท และ 3 อันดันแรกของกลุ่มผู้ป่วยที่จัดส่งยาทางไปรษณีย์ ได้แก่ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง 11,778 ครั้ง, เบาหวาน 7,978 ครั้ง และผู้ติดเชื้อเอชไอวี 1,405 ครั้ง

159212680242

โครงการลดความแออัดของหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยรับยาที่ร้านยาแผนปัจจุบันประเภท 1 หรือ โครงการผู้ป่วยรับยาใกล้บ้าน เพื่อลดความแออัดและลดระยะเวลาการรอคอยรับยาของผู้ป่วยบัตรทองที่หน่วยบริการ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 มีหน่วยบริการ 130 แห่ง และร้านยา 1,199 แห่ง เข้าร่วม

ที่ผ่านมา สปสช. ได้จ่ายชดเชยค่าจัดบริการให้หน่วยบริการ 88 แห่ง และร้านยา 880 แห่ง รวมเป็นจำนวนเงิน 30,003,200 บาท และจากข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 2563 มีร้านยาบันทึกข้อมูลขอรับค่าใช้จ่าย 13,760 ใบสั่งยา

ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จำนวนการรับยาที่ร้านยาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดือนมกราคม มีจำนวน 1,575 ใบสั่งยา เดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีจำนวน 1,851 ใบสั่งยา เดือนมีนาคม 2563 มีจำนวน 3,251 ใบสั่งยา และเดือนเมษายน 2563 มีจำนวน 4,579 ใบสั่งยา

บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินคุณภาพ จากนโยบายกระทรวงสาธารณสุขเพื่อเพิ่มคุณภาพในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต และลดความแออัดในห้องฉุกเฉิน ได้จัดบริการกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินไม่เร่งด่วน และเหตุสมควรอื่นกรณีเจ็บป่วยทั่วไปที่เป็นความจำเป็นของประชาชนที่เข้ารับบริการนอกเวลาราชการเพิ่มเติม ช่วยให้ผู้มีสิทธิบัตรทองเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้น โดยมีกองทุนบัตรทองดูแลค่าใช้จ่ายนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 และจากข้อมูล ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 มีผู้ป่วยเข้ารับบริการแล้ว 51,964 คน จำนวน 63,489 ครั้ง เป็นจำนวนเงินจ่ายชดเชยทั้งสิ้น 18,602,952 บาท

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า จากรายการข้างต้นนี้ ทั้งกรณีโควิด-19 และลดความแออัดในโรงพยาบาล รวมเป็นจำนวน 551,391,209 บาท โดยได้ทยอยค่าบริการให้กับหน่วยบริการที่เบิกจ่ายแล้ว ซึ่งการดำเนินการของ สปสช. ทั้งหมดนี้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง

ขณะเดียวกันจากโครงการต่างๆ ที่ดำเนินการควบคู่ ทั้งการจัดส่งยาทางไปรษณีย์ ผู้ป่วยรับยาใกล้บ้าน และบริการเจ็บป่วยฉุกเฉิน นอกจากเป็นบริการเพิ่มเพื่อดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่ช่วยลดความเสี่ยงแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อในภาพรวมของประเทศไทย