รอลุ้น! กลุ่มตกหล่น 'เราไม่ทิ้งกัน' 3 แสนคน จะได้เท่าไร
รอลุ้น! กลุ่มตกหล่น "เราไม่ทิ้งกัน" 3 แสนคน ที่ไม่ได้ 15,000 บาท จะได้เท่าไร
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า กลุ่มตกหล่นที่ลงทะเบียนไม่สำเร็จจากเว็บไซต์ เราไม่ทิ้งกัน ซึ่งเดิมมีกว่า 1.7 ล้านราย โดยผ่านคณะกรรมการเยียวยา 10 ปลัด และเข้าคณะกรรมการกลั่นกรอง เหลือ 3 แสนราย ซึ่งผ่านความเห็นชอบช่วยเหลือจากที่ประชุมครม. เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2563 ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังไปพิจารณาข้อมูลให้ชัดเจนว่า กลุ่มสุดท้ายแล้วยังเหลือส่วนไหนบ้างที่ยังตกหล่น เพราะจะต้องช่วยเหลือให้ครอบคลุมที่สุด ในกลุ่มตกหล่นมาตรการเราไม่ทิ้งกันกว่า 3 แสนราย จะไม่ได้เงิน 5,000 บาท 3 เดือน เป็น 15,000 บาทต่อคน เหมือน 15.1 ล้านคนก่อนหน้านี้ เพราะลักษณะกับคุณสมบัติแตกต่างกันแล้ว ส่วนจะเป็นเท่าไหร่ให้ สศค.ไปพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้ง เพื่อเสนอขอใช้เงินกู้จากคณะกรรมการกลั่นกรอง โครงการเลขาสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นประธาน
สำหรับที่ประชุมครม.เห็นชอบช่วยเหลือผู้ที่ลงทะเบียนไม่สำเร็จ ตามโครงการเราไม่ทิ้งกัน ของกระทรวงการคลัง ซึ่งมีจำนวน 302,160 คน ที่ตรวจสอบความซ้ำซ้อนแล้ว และยังไม่เคยได้รับความช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย กรอบวงเงินงบประมาณ ไม่เกิน 906 ล้านบาท โดยให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปพิจารณากำหนดกลุ่มเป้าหมายและกลไกการให้ความช่วยเหลือ และส่งรายละเอียดให้คณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้พิจารณาใน 1 เดือน
นายอุตตม กล่าวว่า งบประมาณ 2.24 หมื่นล้านบาท ที่ใช้ในโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภาคการท่องเที่ยวนั้น จะอยู่ในส่วนของวงเงิน 4 แสนล้านบาท ตามพ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะมีส่วนช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 3-4 ของปี 2563 ให้ขยายตัวได้ดีขึ้นกว่าไตรมาส 2/2563 เนื่องจากขณะนี้ภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบจากโควิด-19
“การดำเนินการของภาคการท่องเที่ยวในขณะนี้ เป็นการประคองเศรษฐกิจให้ยังสามารถเดินหน้าต่อได้ ถือเป็นเรื่องที่จำเป็น โดยเน้นให้คนไทยเที่ยวประเทศไทยไปก่อน เพราะการกระตุ้นภาคท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติยังทำไม่ได้”
นายอุตตม กล่าวว่า มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวขณะนี้คงยังไม่มี เพราะการใช้มาตรการภาษีจะต้องพิจารณาตามความจำเป็น คงไม่มีการพูดก่อนว่าจะทำหรือไม่ทำ แต่การดำเนินการจะดูตามความเหมาะสมและจำเป็น และการจะออกมาตรการด้านภาษีออกมานั้นก็ต้องออกมาเป็นชุดตามสถานการณ์