พม.ตอบชัด 'กลุ่มเปราะบาง' ที่ลงทะเบียนหลัง 31 พ.ค. หมดสิทธิ์รับเงินเยียวยา 3,000 บาท
พม.ชี้แจง ผู้ลงทะเบียนกลุ่มเปราะบางหลัง 31 พ.ค. 63 ทั้งสามกลุ่ม คือ "เด็กแรกเกิด" "ผู้สูงอายุ" และ "ผู้พิการ" ไม่มีสิทธิ์รับเงินเยียวยา 3,000 บาท เพราะไม่สามารถรอได้แล้ว
หลังจากมติ ครม.ไฟเขียว อนุมัติการจ่ายเงินเยียวยา "กลุ่มเปราะบาง" ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มเด็กแรกเกิด (0-6 ขวบ) "กลุ่มผู้พิการ" และ "กลุ่มผู้สูงอายุ" ที่ไม่ได้รับการเยียวยาอื่นๆ จากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นเงินเยียวยาเราไม่ทิ้งกัน, เงินเยียวยาเกษตรกร และเงินเยียวยาผู้ประกันตนจากประกันสังคม ก็จะได้รับสิทธิ์รับเงินเยียวยา 1,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน (พฤษภาคม-กรกฎาคม)
แต่คำถามที่ยังคาใจกันอยู่ คือ "จะได้รับเงินเมื่อไร" และ "ใครจะได้รับเงินบ้าง" ซึ่ง นางพัชรี อาระยะกุล รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะโฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้แถลงข่าวในประเด็นการจ่ายเงินตามมาตรการช่วยเหลือเยียวยากลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ว่า เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 เกี่ยวกับรายละเอียดในมาตรการดังกล่าวว่า ครอบคลุมการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง จำนวนรวมทั้งสิ้น 6,781,881 ราย ซึ่งประกอบด้วย 3 กลุ่ม ดังนี้
1) เด็กที่ได้รับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด (อายุ 0-6 ขวบ) จำนวน 1,394,756 ราย
2) ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จำนวน 4,056,596 ราย
3) คนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ จำนวน 1,330,529 ราย
โดยทั้ง 3 กลุ่ม "ต้องเป็นผู้ที่ไม่เคยได้รับสิทธิการช่วยเหลือเยียวยา" จากมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงแรงงาน (สำนักงานประกันสังคม) โดยส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อยและอยู่ในครอบครัวที่ประสบภาวะทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะว่างงานของสมาชิกครอบครัวที่เป็นกำลังแรงงาน
"เราจะดูข้อมูลการรับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด เบี้ยยังชีพคนพิการ และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ครั้งสุดท้ายที่ท่านรับ เมื่อ 31 พ.ค.63 เท่านั้น นั่นหมายความว่า ท่านที่เคยได้รับทั้ง 3 เบี้ยฯ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ก็จะได้รับเงินเยียวยานี้ด้วย"
โดย รองปลัด พม. ได้ย้ำถึงการรับสิทธิ์ว่า จะต้องเป็น "1 คน 1 สิทธิ์" คือ จะต้องไม่ได้รับเงินจากกระทรวงการคลัง จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือได้รับเงินประกันสังคมจากกระทรวงแรงงานมาก่อน จึงจะเป็นผู้ได้รับสิทธิ์เงินเยียวยา 3 พันบาทจาก พม. โดยไม่ต้องลงทะเบียนเพิ่มเติม
"ท่านไม่ต้องลงทะเบียนใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเรามีรายชื่อของท่านอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น อย่าไปถูกหลอกว่า ต้องลงทะเบียน เพราะท่านจะเสียเงินเปล่า" นางพัชรีกล่าวเตือน
ส่วนคำถามว่า "จะได้เมื่อไร" นั้น
ปลัด พม. ชี้แจงว่า เนื่องจากจำนวนคนที่จะได้รับเงินมีจำนวนมาก จึงอาจมีบางท่านที่จะ "ไม่ได้รับเงิน" เพราะเพิ่งลงทะเบียนของการรับเบี้ยยังชีพทั้งสามกลุ่ม ภายหลังจากวันที่ 31 พ.ค. 63
"เหตุผลที่เราไม่สามารถรอได้ ไม่เช่นนั้น คนส่วนใหญ่ก็จะไม่ได้รับเงินเยียวยาเลย จึงเป็นที่มาว่า เราจำเป็นต้องใช้ข้อมูล ณ วันที่ 31 พ.ค. 63 เป็นหลักก่อนในการช่วยเหลือเยียวยาคนกลุ่มนี้" ปลัด พม. กล่าว
สำหรับการจ่ายเงินนั้น นางพัชรี ได้อธิบายถึงขั้นตอนว่า จะทำการยืนยันในรายละเอียดอีกครั้งเพราะจะต้องตรวจสอบความซ้ำซ้อนในการรับสิทธิ์ก่อน โดยหากเริ่มจ่ายได้ทันในเดือนมิถุนายน ก็จะเป็นการจ่าย 2 รอบ รวมทั้งหมดจำนวน 3,000 บาทต่อราย แบ่งเป็น การจ่ายงินรอบแรกในเดือนมิถุนายน 2563 จำนวน 2,000 บาท (ของเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน) และ จ่ายรอบที่สองในเดือนกรกฎาคม 2563 จำนวน 1,000 บาท
แต่หากไม่สามารถทำเรื่องจ่ายได้ทันเดือน มิ.ย. 63 ก็จะไปจ่ายทั้งหมด 3,000 บาท ในเดือนกรกฎาคมรวดเดียว
ส่วนช่องทางการจ่ายเงิน แบ่งเป็น 2 ช่องทาง ได้แก่
1) กรมบัญชีกลางโอนเงินช่วยเหลือเยียวยาโดยตรงไปยังบัญชีธนาคารของกลุ่มเป้าหมายที่เคยได้รับเงินอุดหนุนรายเดือนผ่านบัญชีธนาคารอยู่เดิม
2) กรมบัญชีกลางโอนเงินไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะนำจ่ายเป็นเงินสดให้แก่กลุ่มเป้าหมายที่รับเงินอุดหนุนรายเดือนเป็นเงินสดอยู่เดิม
นางพัชรี กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีหากเกิดปัญหาในการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยา กระทรวง พม. จะดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล เพื่อให้หน่วยงานในพื้นที่สามารถจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาให้ถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างรวดเร็วที่สุด ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามไปยังสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทุกจังหวัด หรือศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร. 1300 บริการฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง