เหลียวหลัง แลหน้า โลกหลังวิกฤติ COVID-19

เหลียวหลัง แลหน้า โลกหลังวิกฤติ COVID-19

หากติดตามบทความนี้มาโดยตลอด จะเห็นถึงภาพระหว่างโลกของการลงทุนกับโลกแห่งความจริงทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

แม้ภาพเศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นตัวบ้าง แต่ภาพจากโลกการลงทุนนั้นไปไกลกว่านั้นมาก

ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากร่วงลงแรงประมาณ 30-40% ในเดือนมี.ค. ตลาดบางแห่ง เช่น NASDAQ ปรับตัวขึ้นมาแล้วเกือบ 10% ตั้งแต่ต้นปี 2563 ในขณะที่ตลาดหลักอื่นๆ ฟื้นกลับขึ้นมาเกือบสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19

SCBS มองว่า มี 2 ปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยงฟื้นตัวในไตรมาส 2 ทั้งๆ ที่ภาพรวมเศรษฐกิจอ่อนแอ ดังนี้

1.การดำเนินมาตรการกระตุ้นทางการเงินอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสหรัฐ

ในปัจจุบันขนาดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ขยายตัวเพิ่มขึ้นสู่ 7.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 4.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อ 3 เดือนก่อน ผลจากการอัดฉีดอย่างไม่จำกัดของ Fed

นอกจากนั้น ในวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา Fed ประกาศซื้อหุ้นกู้ตลาดรองวงเงินรวม 7.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเปลี่ยนจากการเข้าซื้อกองทุน ETF ที่ลงทุนในหุ้นกู้เอกชน เป็นเข้าซื้อหุ้นกู้เอกชนโดยตรง โดย Fed จะจัดตั้งดัชนี Broad market index และเข้าซื้อตามดัชนีดังกล่าว ทำให้ Fed น่าจะสามารถสนับสนุนสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจได้ดีกว่าการเข้าซื้อ ETF ที่คำนวณโดยบริษัทเอกชน

เราเชื่อว่า แม้ Fed ต้องการจะเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาด แต่ห้วงเวลา (Timing) ในการประกาศครั้งนี้ส่งสัญญาณกับตลาดว่า Fed พร้อมที่จะเข้าสนับสนุนเพื่อชะลอการตกต่ำของตลาด ซึ่งจะจำกัดการตกต่ำของสินทรัพย์เสี่ยงในระยะต่อไป

2.เศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัว

การทยอยกลับมาเปิดเมืองอย่างระมัดระวังทั่วโลก ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเดินหน้าต่อ ซึ่งช่วยสนับสนุนให้เครื่องชี้เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยเฉพาะในสหรัฐที่ตลาดแรงงานดีเกินคาด จากที่คาดว่าการจ้างงานจะลดลง 8 ล้านตำแหน่งในเดือนพ.ค. กลายเป็นเพิ่มขึ้นถึง 2.5 ล้านตำแหน่ง ขณะที่อัตราการว่างงานลดลงสู่ 13.3% จาก 14.7% ในเดือนเม.ย. ซึ่งการจ้างงานที่ดีขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายการชะลอการเลิกจ้างของสหรัฐมีประสิทธิภาพ

ในฝั่งของเศรษฐกิจจีนที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ก็เห็นสัญญาณฟื้นตัวเช่นกัน แม้จะค่อยเป็นค่อยไปก็ตาม โดยตัวเลขสำคัญอย่างการผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก และการลงทุนสินทรัพย์ถาวร ต่างฟื้นตัวหรือหดตัวน้อยลงทั้งสิ้น แต่กระนั้นก็ตาม อัตราการว่างงานของจีนก็ยังอยู่ในระดับสูง

สาเหตุเป็นเพราะรัฐบาลจีนไม่ได้อัดฉีดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรุนแรงเท่าในช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งอาจเป็นเพราะจีนไม่ต้องการให้เกิดผลข้างเคียงภายหลัง เช่น ฟองสบู่อสังหาฯ ภาวะหนี้รัฐบาลท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น

ในส่วนของภาพเศรษฐกิจโลกและไทยในระยะต่อไป เราได้แบ่งช่วงเวลาของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจออกเป็น 4 ช่วงเวลาคือ

1.ช่วงการระบาดและการปิดเมืองครั้งใหญ่ (ไตรมาส 1 ปี 2020) ซึ่งในระยะนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ต้องหยุดลง เศรษฐกิจเริ่มหดตัวลงอย่างรุนแรง

2.ช่วงเปิดเมือง (ไตรมาส 2 ปี 2020) ในช่วงนี้ จำนวนผู้ป่วยที่รักษาหายเพิ่มขึ้น รัฐบาลเริ่มกลับมาเปิดเมือง กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมา แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังไม่สามารถกลับมาดำเนินได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะภาคบริการ ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสนี้จะตกต่ำที่สุดทั่วโลก (ยกเว้นจีนที่หดตัวในไตรมาสแรก)

3.ช่วงใกล้เข้าสู่ภาวะปกติ (ครึ่งหลังปี 2020-ครึ่งแรกปี 2021) ในช่วงนี้ จำนวนผู้ป่วยเริ่มลดลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจเข้าใกล้ปกติ หรือเป็น “เศรษฐกิจ 90% หรือ Near Normal” โดยภาคการผลิตจะกลับสู่ระดับปกติ แต่ภาคบริการจะยังคงได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน

4.ช่วงความปกติรูปแบบใหม่ หรือ “New Normal” (ไตรมาส 3 ปี 2021 เป็นต้นไป) ในช่วงนี้ วัคซีนและยารักษาโรค COVID-19 จะถูกค้นพบและนำไปใช้ทั่วโลก จำนวนผู้ป่วยจะกลายเป็นศูนย์ เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ แต่จะต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤติ หนี้สาธารณะจะสูงและเพิ่มขึ้น และดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง

แม้เราคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกและไทยจะต่ำสุดในไตรมาสสองปีนี้ก่อนจะฟื้นตัวขึ้น แต่ในอนาคต อาจจะมีความเสี่ยง 3 ประการที่จะส่งผลกระทบทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ปัจจัยเสี่ยง 3 อย่างคือ:

1.การลดระดับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐ

เราเห็นสัญญาณการเริ่มจำกัดวงเงินการอัดฉีด QE ของ Fed จากเดือนละกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อเดือน เหลือ 4.4 แสนล้านดอลลาร์และ 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ตามลำดับ ซึ่งเงินที่ลดลง อาจส่งผลทำให้ภาวะตลาดตึงตัวและผันผวนมากขึ้น

2.การระบาดรอบที่สองของไวรัส COVID-19

จำนวนผู้ติดโรค COVID-19 รายใหม่ทั้งในจีนและสหรัฐกลับมาเพิ่มขึ้นในระยะหลัง ทั้งในรัฐสำคัญ ๆ เช่น เทกซัส ฟลอริดา แคลิฟอร์เนีย และอริโซนา ในสหรัฐ ขณะที่ในจีน กลับมาระบาดรอบใหม่ในกรุงปักกิ่ง โดยแม้ทางการจีนคาดว่าการระบาดรอบใหม่ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว แต่ก็ไม่อาจวางใจได้เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกยังเพิ่มขึ้นและใกล้แตะ 9 ล้านคน

3.ความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามเย็นระหว่างสหรัฐกับจีน

แม้ท่าทีของทั้งสหรัฐและจีนจะเริ่มรอมชอมหลังการพบกันของ รมว. ต่างประเทศสหรัฐและสมาชิกคณะกรมการเมืองของจีน แต่ก็ไม่อาจวางใจได้เช่นกัน เนื่องจากปีนี้เป็นปีเลือกตั้ง ซึ่งเป็นไปได้สูงที่สงครามเย็นสามารถถูกหยิบยกมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความนิยมในตัวประธานาธิบดี ทั้งนี้ ในปัจจุบัน คะแนนไม่ไว้วางใจในประธานาธิบดีทรัมป์สูงสุดในรอบ 16 เดือนแล้ว

กล่าวโดยสรุป แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะสหรัฐเริ่มฟื้นตัวขึ้นบ้าง แต่มูลค่าของหุ้นทั่วโลกที่ฟื้นตัวเกินปัจจัยพื้นฐานด้านเศรษฐกิจ ขณะที่ปัจจัยเสี่ยง 3 ประการจะยังกดดันเศรษฐกิจและการลงทุนในระยะต่อไป

นักลงทุนจึงอาจต้องเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนในระยะต่อไปและเลือกที่จะลงทุนใน Sector ที่ยังมีอนาคตในระยะยาว เช่น เทคโนโลยี สุขภาพ รวมถึง Sector ที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยต่ำ เช่น อสังหาฯ เป็นต้น