นักวิเคราะห์เซ็นเซอร์ตัวเอง สังเวยก.ม.ความมั่นคงฮ่องกง
รัฐบาลจีนเห็นชอบกฎหมายความมั่นคงที่จะบังคับใช้เป็นการเฉพาะกับฮ่องกง นักวิเคราะห์ต่างกลัวกันว่า กฎหมายฉบับใหม่ ยิ่งทำให้งานวิจัยที่นำเสนอต่อลูกค้าต้องเซ็นเซอร์ตัวเองมากขึ้น
ไม่นานหลังจากมีรายงานว่ารัฐบาลจีนเห็นชอบกฎหมายความมั่นคงที่จะบังคับใช้เป็นการเฉพาะกับฮ่องกง “โจชัว หว่อง” นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย ประกาศวานนี้ (30 มิ.ย.) ลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการกลุ่มการเมืองชื่อ “เดโมซิสโต” ที่มีแนวคิดสนับสนุนประชาธิปไตยในฮ่องกง โดยให้เหตุผลว่า เขาจะกลายเป็น “เป้าหมายหลัก” ของกฎหมายความมั่นคงฉบับนี้
ดูเผินๆ เหมือนแนวร่วมการเมืองเพื่อประชาธิปไตยจะโดนผลกระทบจากกฎหมายใหม่เป็นลำดับแรกๆ แต่เว็บไซต์ไฟแนนเชียลไทม์สรายงานว่า นักลงทุน นักเศรษฐศาสตร์ และนักวิเคราะห์ในฮ่องกง ต่างกลัวกันว่ากฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ ยิ่งทำให้งานวิจัยที่นำเสนอต่อลูกค้าต้องเซ็นเซอร์ตัวเองมากขึ้น ทั้งยังก่อให้เกิดคำถามถึงอนาคตของฮ่องกงว่า.. จะเป็นศูนย์กลางการเงินโลกได้ต่อไปหรือไม่ ?
สภาประชาชนแห่งชาติจีน (เอ็นพีซี) เห็นชอบกฎหมายความมั่นคงฮ่องกงในเดือนที่ผ่านมา เพื่อตอบโต้การประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่ยืดเยื้อมานานหลายเดือนในฮ่องกงรัฐบาลปักกิ่งให้เห็นผลว่า จำเป็นต้องมีกฎหมายฉบับนี้ ที่ข้อกำหนดครอบคลุมถึงการห้ามมิให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดจัดกิจกรรมที่ถือเป็น “การท้าทายอย่างร้ายแรง” ต่อหลักการหนึ่งประเทศ สองระบบและรัฐบาลกลางในกรุงปักกิ่ง
หรือแม้แต่การปลุกระดมให้เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือจนถึงขั้นก่อการกบฏ และการสมคบคิดกับ “กองกำลังต่างชาติ” ทั้งนี้หากใครฝ่าฝืนจะถูกลงโทษขั้นสูงสุด ซึ่งอาจเป็นการรับโทษจำคุกตลอดชีวิต แต่คนในแวดวงการเงินต่างกังวลเรื่องการบังคับใช้กฎหมายไม่แพ้กัน
นักเศรษฐศาสตร์รายหนึ่งจากวาณิชธนกิจนานาชาติในฮ่องกง เผยกับไฟแนนเชียลไทม์ส พวกเขากังวลว่าถ้ากฎหมายมีผลบังคับใช้ การแสดงทัศนะเกี่ยวกับจีน จะเป็นการ “เหยียบกับระเบิด” ขณะที่นักวิเคราะห์การเงินอีกคนหนึ่งกล่าวว่า กฎหมายความมั่นคงฮ่องกงอาจทำให้กระแสที่เป็นอยู่ในเวลานี้ “เลวร้ายลงอีกอย่างทบเท่าทวีคูณ” เป็นเหตุให้บทวิเคราะห์ทางการเงินใช้ไม่ได้
นักเศรษฐศาสตร์รายเดิมกล่าวเสริมว่า ขณะนี้นักวิเคราะห์เซ็นเซอร์ตัวเองอยู่แล้วในเรื่องนี้ เพื่อรักษาสัมพันธ์อันดีกับลูกค้าชาวจีนแผ่นดินใหญ่ แต่กฎหมายใหม่ทำให้การเซ็นเซอร์ตัวเองเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น ตามตัวบทกฎหมายรายงานบทวิเคราะห์เกี่ยวกับฮ่องกง อาจถูกนักลงทุนมองว่าน่าเชื่อถือน้อย
ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเกิดความอ่อนไหวมากเรื่องบทวิเคราะห์การลงทุนในฮ่องกง ปีที่แล้วรายงานของวาณิชธนกิจที่นี่ล้วนหลีกเลี่ยงไม่กล่าวถึงความวุ่นวายทางการเมือง เพราะไม่อยากให้ปักกิ่งไม่สบายใจ
นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารเพื่อการสื่อสาร ที่เป็นของรัฐอ้างว่า เขาถูกบีบให้ลาออกส่วนหนึ่งเป็นเพราะแสดงความเห็นเรื่องผลกระทบจากการประท้วงในฮ่องกง
ธนาคารยูบีเอสของสวิตเซอร์แลนด์ ถูกปิดชั่วคราวเพราะคำแนะนำเรื่องการซื้อพันธบัตรในจีน ส่วนหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ต้องลาออกหลังแสดงความเห็นเรื่องไข้หวัดหมูระบาดทำให้เกิดความไม่พอใจ
สิ่งที่กระตุ้นให้นักวิเคราะห์ต้องกังวลหนักคือข้อเท็จจริงที่ว่า รายละเอียดชัดเจนที่บัญญัติไว้ว่า "เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ" นั้นไม่เคยถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ หลายคนจึงสงสัยว่า งานเขียนบางอย่าง เช่น การตั้งคำถามถึงความถูกต้องของข้อมูลเศรษฐกิจทางการจีน อาจเข้าข่ายความผิดตามข้อกฎหมายนี้ก็ได้
ฮ่องกง ที่กฎหมายคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เป็นทำเลที่ธนาคารและโบรกเกอร์นิยมชมชอบมานาน จึงเข้ามาตั้งฐานผลิตบทวิเคราะห์ว่าด้วยเศรษฐกิจและตลาดจีนป้อนลูกค้า แต่เมื่อมีกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ หลายคนคิดว่าการคุ้มครองทางกฎหมายที่แยกฮ่องกงออกจากจีนหายไปแล้วอย่างสิ้นเชิง
“เห็นได้ชัดว่า ก็สมเหตุสมผลอยู่ถ้าจะมีความกังวลอย่างที่ไม่เคยมีในปีก่อน” ไซมอน คาร์ตเลดจ์ ประธานบริษัทวิจัย “บิกเบรนส์” ในฮ่องกงให้ความเห็น เขาเชื่อว่ากฎหมายสร้างความเคลือบแคลงว่าฮ่องกงจะอยู่รอดในฐานะศูนย์กลางการวิเคราะห์วิจัยเน้นเรื่องจีนได้อีกต่อไปหรือไม่
นักลงทุนบางคนเชื่อว่า บทวิเคราะห์ที่เซ็นเซอร์ตัวเองมากยิ่งขึ้นไปอีก อาจกระตุ้นให้บริษัทจดทะเบียนในฮ่องกงทำกิจกรรมฉ้อฉลมากขึ้น
“การกดขี่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เท่ากับว่าการวิจารณ์บริษัทฉ้อโกงก็จะเกิดความเสียหายด้วยเช่นกัน” นาธาน แอนเดอร์สัน ผู้ก่อตั้งฮินเดนเบิร์ก รีเสิร์ช บริษัทลงทุนในสหรัฐ ที่ทำกำไรจากราคาหุ้นร่วง วิธีแบบนี้มักอาศัยการเผยแพร่บทวิเคราะห์เชิงลบ
“นักลงทุนผู้ตื่นตัวมักเทขายเวลามีเรื่องสำคัญๆ บ่อยครั้งเป็นเรื่องของบริษัทใหญ่ทรงอิทธิพล เรื่องของรัฐบาลหรือบุคคลในรัฐบาล” แอนเดอร์สันเสริม และเนื่องจากกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ เขากล่าวว่า ฮินเดนเบิร์กจะไม่เปิดสำนักงานในฮ่องกง “เหมือนกับที่เราไม่ตั้งสำนักงานในจีน”
อย่างไรก็ตาม ธนาคารทั้งหลายในฮ่องกงยังไม่ได้ตอบโต้กฎหมายฉบับนี้มากนัก เอชเอสบีซีและสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ที่มีสาขามากมายในฮ่องกง สนับสนุนกฎหมายอย่างเปิดเผย
นักวิเคราะห์บางคนไม่แน่ใจว่า กฎหมายใหม่จะส่งผลกระทบใหญ่โตหากจะใช้ฮ่องกงเป็นฐานผลิตบทวิเคราะห์ทางการเงินที่มีประโยชน์
คริสโตเฟอร์ วู้ด หัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์หุ้นโลก วาณิชธนกิจเจฟฟรีย์ เชื่อว่า จีนจะใช้แนวทางที่ปฏิบัติได้จริงในเรื่องนี้ และไม่พยายามบั่นทอนบทบาทฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางการเงิน พร้อมเสริมว่า นักวิเคราะห์เองก็ถูกใช้ให้ตอบสนองความต้องการของรัฐบาลทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียอยู่แล้ว
“ในสิงคโปร์มีบทวิเคราะห์ที่เซ็นเซอร์ตัวเองมา 20 ปีแล้ว” วู้ดยืนยัน ก่อนหน้านี้เขาเคยเขียนวิเคราะห์ตลาดให้กับบริษัทหลักทรัพย์ซีแอลเอสเอในฮ่องกงมานานเกือบ 20 ปี
อีกหลายคนชี้ว่า แรงกดดันต่อนักวิเคราะห์ในฮ่องกงให้ต้องยับยั้งชั่งใจสะท้อนวิวัฒนาการของฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางการเงิน หลังจากอดีตเจ้าอาณานิคมอังกฤษส่งคืนให้กับจีน นับตั้งแต่นั้นธุรกิจการเงินก็รองรับลูกค้าจากจีนแผ่นดินใหญ่เพิ่มมากขึ้น
“ความสนใจของลูกค้าจะมุ่งเน้นที่จีนมากขึ้นๆ ซึ่งนั่นจะสร้างการเซ็นเซอร์ตัวเองมากกว่าและเหนือกว่ากฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่เสียอีก” อลิเซีย การ์เซีย เฮอร์เรโร หัวหน้านักเศรษศาสต์ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของบริษัทนาติซิสให้ความเห็น