ส่องแผน 'บิสซิเนส บับเบิล' จ่อตั้งคณะคัดกรองอนุญาตนักธุรกิจเข้าประเทศ
ช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมาซึ่งมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายประเทศยื่นข้อเสนอให้ไทยผ่อนผันการอนุญาติขอให้นักธุรกิจต่างชาติเดินทางเข้าไทยเพื่อติดต่อธุรกิจการลงทุนในไทย ซึ่งในเรื่องนี้ฝ่ายนโยบายอยู่ระหว่างวางมาตรการและกฎเกณฑ์ต่างๆก่อนเปิดรับนักธุรกิจ
ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2563 เห็นชอบแนวทางการอนุญาตให้นักธุรกิจต่างชาติเดินทางเข้าไทย เพื่อเจรจาธุรกิจหรือเข้ามาทำงานในไทย โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เปิดเผยว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ได้หารือต่อเนื่องถึงการเปิดประเทศรับชาวต่างชาติ
ทั้งการรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศตามแนวทาง “Travel Bubble” และการรับนักธุรกิจจากต่างประเทศตามแนวทาง “Business Bubble” ที่ต้องการเดินทางเข้าไทย
แนวทางที่ ศบค.และรัฐบาพิจารณาขณะนี้ คือ แม้เดือน ก.ค.จะเริ่มเปิดรับนักธุรกิจต่างชาติมากขึ้น แต่การรับนักท่องเที่ยวแบบ Travel Bubble ยังไม่เกิดขึ้นเร็วๆ นี่้ เพราะต้องดูความพร้อมว่าเพียงพอหรือยังที่จะรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากช่วงที่หลายประเทศยังมีโควิด-19 ระบาดมาก รวมทั้งต้องดูความพร้อมแต่ละพื้นที่ที่จะรับนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย
ส่วนนักธุรกิจที่จะเดินทางเข้ามาเราจะอนุญาตให้เข้ามาก่อนเพราะมีจำนวนไม่มากนักและเราควบคุมได้
นักธุรกิจต่างประเทศที่ยังไม่มีใบอนุญาตทำงานและต้องการที่จะเข้ามาไทยช่วงนี้ต้องขออนุญาตผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยการอนุญาตจะพิจารณาร่วมกันในรูปแบบของคณะกรรมการที่มีองค์ประกอบทั้งกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข บีโอไอ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
รวมทั้งต้องพิจารณาจากองค์ประกอบที่สำคัญ ได้แก่
1.ความสามารถในการควบคุมโรคของประเทศต้นทาง ที่นักธุรกิจเดินทางเข้ามาว่าควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีหรือไม่
2.นักธุรกิจที่จะเดินทางเข้ามาสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจได้มากหรือไม่ เป็นนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนโครงการที่มีผลดีต่อเศรษฐกิจเพียงใด เช่น เป็นโครงการการลงทุนที่สำคัญในอีอีซีจะให้พิจารณาเป็นลำดับต้น
ทั้งนี้ การเข้ามาต้องดูขีดความสามารถในการกักตัวหรือขีดความสามารถที่เราจะติดตามไม่ให้ผู้ได้รับอนุญาตออกนอกเส้นทางที่กำหนด และหากติดเชื้่อโควิดก็ต้องให้มั่นใจว่าติดตามเส้นทางที่จะระบาดได้
สำหรับประเทศที่ยื่นความจำนงค์ Business bubble เข้ามากับไทย ได้แก่ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฮ่องกง และจีน ซึ่งนักธุรกิจจากจีนจะพิจารณาเป็นรายมณฑล ไม่เปิดให้ทุกมณฑลเดินทางเข้าไทย และการอนุญาตให้เข้าได้จะวางข้อกำหนดการปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักลงทุนและนักธุรกิจต่างชาติที่เขาต้องการเดินทางเข้าไทย และรับเงื่อนไขข้อกำหนดที่เราตั้งไว้ได้ถึงจะพิจารณาอนุมัติให้เขาเข้ามาได้
“การพิจารณาให้นักธุรกิจเข้ามาไทยต้องดูว่าเขาจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเราได้แค่ไหน ถ้าไม่ได้กระตุ้นมากนักก็ไม่ควรให้เข้ามา เพราะเราคงไม่ยอมนำความมั่นคงทางสาธารณสุขไปแลก แต่หากจะแลกต้องคิดให้รอบครอบว่าแลกแล้วเกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจที่แท้จริง"
รวมทั้งเมื่อนุญาตให้นักธุรกิจต่างชาติเข้ามาแล้วต้องตรวจอย่างเข้มงวด โดยตรวจหาโควิด 3 ครั้ง คือ 1.ตั้งแต่ต้นทางก่อนขึ้นเครื่องบิน 2.ตรวจโควิดเมื่อเดินทางมาถึงไทย
3.ตรวจโควิดก่อนเดินทางออกไปจากไทย เพื่อไม่ให้เกิดคำถามตามมาหากเดินทางออกไปจากไทยแล้วนักธุรกิจคนนั้นติดโควิด เพื่อสร้างความมั่นใจให้ทั้งในประเทศและนักธุรกิจที่จะดำเนินการ
สำหรับแนวทางการดำเนินการสำหรับนักธุรกิจที่ต้องเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยระยะยาว คือมีตำแหน่งงาน หรือหน้าที่ที่จะต้องเข้ามาทำในเมืองไทย เป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านที่บริษัทให้เข้ามาอยู่ในไทย ซึ่งกลุ่มนี้ได้ใบอนุญาตทำงาน (Work permit) แล้วอันนี้แนวทางชัดเจนแล้วคือว่าต้องมีการตรวจหาเชื้อโควิดตั้งแต่ต้นทางก่อนเดินทางขึ้นเครื่องบินมายังประเทศไทย มีใบรับรองแพทย์ยืนยันชัดเจน มีการทำประกันสุขภาพเพื่อที่หากมีการเจ็บป่วยในประเทศไทยจะมีวงเงินที่คุ้มครองการรักษาพยาบาลในประเทศไทย
นักธุรกิจที่เดินทางเข้ามาไทยระยะสั้น 2-4 วัน เพื่อประชุมหรือติดต่อธุรกิจกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เราไม่สามารถที่จะไปกักเขา 14 วันได้แต่ต้องมีมาตรการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยขั้นตอนคือให้หน่วยงานที่รับผิดชอบซึ่งนักธุรกิจติดต่อขออนุญาต เช่น อาจเป็นบีโอไอเป็นผู้เสนอรายชื่อให้คณะกรรมการพิจารณาว่าจะอนุญาตให้เดินทางเข้ามาประเทศได้หรือไม่ ซึ่งเบื้องต้นต้องทำประกันสุขภาพเข้ามาหากมีการเข้ามาแล้วมีอาการป่วยในประเทศไทย ต้องการที่จะตรวจหาโควิด-19 ก็ต้องให้นักธุรกิจรับภาระค่าใช้จ่ายเอง
ส่วนการกักตัว 14 วันในสถานที่กักตัวทางเลือกของรัฐ ที่เรียกว่า Alternative state quarantine เราให้นักธุรกิจเป็นคนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองอยู่แล้วในขณะนี้ โดยรัฐบาลจ่ายค่าใช้จ่ายในการกักตัวให้เฉพาะคนไทยที่เดินทางประเทศ
สำหรับกรณีการรักษาทางการแพทย์ (Medical tourism) กรณีนี้ คือ การเปิดรับเข้ามารักษาพยาบาลและท่องเที่ยว จึงไม่ใช่การเปิดประเทศให้เข้ามารักษาโควิด-19
รวมทั้งหากเปิดประเทศโดยทั้งคนไข้ กลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ติดตามที่เดินทางเข้ามารับรักษาการแพทย์ในประเทศต้องตรวจหาเชื้อโควิดตั้งแต่ต้นทาง และใช้หลักเกณฑ์การเข้ามาเหมือนนักธุรกิจ โดยผู้ป่วยต้องอยู่ในโรงพยาบาลอยู่อย่างน้อย 14 วัน เพื่อรักษาโรคอื่น
หลังจากนั้นหากต้องการท่องเที่ยวต่อก็จะท่องเที่ยวในไทยจะส่งผลดีต่อธุรกิจการแพทย์ ธุรกิจต่อเนื่อง รวมถึงธุรกิจท่องเที่ยว แต่ควบคุมโรคระบาดเคร่งครัด