หลอมรวมโลกอีเวนท์ ฝ่าวงล้อมไวรัสร้าย
โควิดพลิกโลกอีเวนท์-ไมซ์ 2 แสนล้าน ผู้ประกอบการงัดสารพัด ครีเอทีฟไอเดีย ทั้งลุยออนกราวด์สร้างประสบการณ์จริง จำลองกิจกรรมเสมือนจริงผ่านจอออนไลน์ ย้ำภาพ The Future is Now ไฮบริดเทคโนโลยีเสริมแกร่ง ผนึกพันธมิตร โมเดลรอดหมู่ จารึกไว้ให้โลกจำ..!!
หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ “เปราะบาง” ต่อปัจจัยเร้าเชิงลบภายนอก คงต้องยกให้การจัดกิจกรรมต่างๆ หรือคำคุ้นคือ “อีเวนท์” ซึ่งผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ มักพูดอย่างน้อยเนื้อต่ำใจว่า ในสายตาภาครัฐอาจมองเป็นอุตสาหกรรมปลายแถว จากความช่วยเหลือที่มาไม่ถึง เพราะมองว่ามีมูลค่าตลาดไม่มากราว 1.3 หมื่นล้านบาทต่อปีเท่านั้น
ทว่า หากให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในตลาดดังกล่าวนิยามอีเวนท์ ภาพใหญ่จะระบุว่ามีธุรกิจคาบเกี่ยวกับการจัดนิทรรศการ ประชุม สัมมนา แสดงสินค้า และท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลหรือไมซ์ (MICE : Meeting, Incentive Travel, Conferences/ Conventions และ Exhibitions)
ขนาดตลาดจึงใหญ่ขึ้นเป็น 20 เท่าตัว หรือมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท !!
โดยทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ปั่นป่วนทางการเมือง ภัยพิบัติน้ำท่วม วิกฤติโรคระบาด แม้กระทั่งเศรษฐกิจ กำลังซื้อไม่ดี การเลื่อน “ยกเลิก” จัดอีเวนท์ ดูจะเป็นกิจกรรมลำดับแรกๆ ที่ถูกหั่นงบประมาณ เพราะมีความเสี่ยง ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน จัดไปไม่มีคนเข้าชมงาน ไม่มีคนมาซื้อสินค้า ยิ่งเมียงมองช่วงโควิด-19 ระบาดตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา กระทั่งรัฐบาลต้องงัดมาตรการ “ล็อกดาวน์” ธุรกิจการค้า ขอความร่วมมือให้ทุกคน “รักษาระยะห่างทางสังคม” เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ที่สุดแล้วธุรกิจหลายประเภท ไม่เว้น “อีเวนท์” ต้องหยุดกิจกรรมนานกว่า 3 เดือน
ล่าสุด 1 ก.ค.ที่ผ่านมา รัฐมีมาตรการปลดล็อกดาวน์ธุรกิจเรียบร้อยแล้ว แต่ยังมีเงื่อนไขหลายประการเพื่อคุมเข้มโรคหรือรักษาการ์ดไว้ไม่ให้ตก กันโรคระบาดระลอกสอง ทำให้การใช้พื้นที่ค้าขาย จัดกิจกรรมต่างๆ ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย อีเวนท์เช่นกัน เพราะต้องรักษาระยะห่างอย่างน้อย 4 ตารางเมตร (ตร.ม.) ต่อคน
เมื่อไวรัสร้าย มาตรการรัฐ ทุกอย่างเป็นสถานการณ์ “บีบบังคับ” ผู้ประกอบการอีเวนท์จึงต้องปรับตัวขนานใหญ่รับวิถีชีวิตใหม่หรือ New Normal แต่ละรายงัดกลยุทธ์ อาวุธเด็ด ปั้นโมเดลธุรกิจใหม่อย่างไรมาประคององค์กรให้ “อยู่รอด” ยืนหยัดฝ่าวิกฤติโควิด
**ไม่ทิ้งลาย“เจ้าพ่อไอเดีย”
ผ่านร้อนผ่านหนาวไม่เท่าไหร่ แต่ผ่าน “วิกฤติ” มานักต่อนัก ทั้งการเมือง วิกฤติต้มยำกุ้ง น้ำท่วมใหญ่ จนถึงโรคโควิดร่วมระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 30 ปี สำหรับ “เจ้าพ่อธุรกิจอีเวนท์” อย่าง เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) ยังเฟ้นครีเอทีฟ ไอเดียใหม่ๆ มาปรับใช้ในการทำธุรกิจอีเวนท์อยู่เสมอ เช่น ตลาดในประเทศมีความเสี่ยง ต้องกระจายธุรกิจไปอยู่ในตะกร้าหลายไป โกอินเตอร์ รับงานต่างประเทศมากขึ้น เพื่อสร้างสมดุลให้กับพอร์ตโฟลิโอธุรกิจ
เกรียงไกร กาญจนะโภคิน
ส่วนลูกค้าที่รับ ต้องหลากหลายหมวด เพราะหากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบ จะได้มีอีกขาที่พยุงตัวเองไว้ได้ จึงเห็นหลายปีที่ผ่านมา รับทั้งงานสร้างแลนด์มาร์กเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้จังหวัดต่างๆ หรือไปต่างประเทศจัดงานแสดงสินค้า เป็นต้น
ทว่า ช่วงโควิด ที่ “อีเวนท์” งานเงียบสงัด จัดไม่ได้ บริษัทพลิกตัว ปั้นโมเดลธุรกิจให้บริการฆ่าเชื้อโรค “Kill & Klean” รับเทรนด์นิวนอร์มัล ผู้ประกอบการ ผู้บริโภคหวั่นเชื้อโรค ใส่ใจสุขอนามัยมากขึ้น จนผลตอบรับดีมาก ขยายแฟรนไชส์ไปทั่วประเทศ
ไอเดียที่ไม่หยุดนิ่ง ประกอบกับมุ่งมั่นอยากจะร่าย “เวทมนตร์” (Magic) ให้ “อินเด็กซ์” รอดท่ามกลางวิกฤติ จึงหมั่นหาโมเดลธุรกิจใหม่มาสร้างปรากฏการณ์ให้เกิดขึ้น ซึ่งช่วงครึ่งปีหลัง “เกรียงไกร” จะผลักดันโปรเจคใหม่ๆ ออกมาสู่ตลาดรวม 4-5 รายการ
**ชู “Friendship Economy” รอดหมู่
อีเวนท์คือ 1 ในกิจการรั้งท้ายที่ได้รับการปลดล็อกดาวน์ ส่วนการกลับมาจัดกิจกรรมยังต้องรักษาระยะห่าง 4 ตร.ม. ต่อคน จึงเป็นโจทย์โหดหินของผู้ประกอบการ เมื่องาน และผู้ชมไม่สามารถเกิดขึ้นได้แบบเดิม จะใช้กลยุทธ์ สูตรจัดกิจกรรมแบบเดิมคงไม่ได้ “เกรียงไกร” ของัดโมเดลธุรกิจ “Frienship Economy” หรือพึ่งพิงพลังแห่งมิตรภาพ เพื่อนฝูงในวงการธุรกิจ วงการบันเทิงมาใช้ ประเดิมกับ “คอนเสิร์ตคืนรอยยิ้ม” ความบันเทิงเต็มรูปแบบรับยุควิถีชีวิตปกติใหม่
ดังนั้นการระดมสรรพกำลังจัดงานจึงเห็นทั้ง ไอคอนสยาม ทรูไอคอน ฮอลล์ “วิเชียร ฤกษ์ไพศาล” หรือนิก อดีตแม่ทัพค่ายจีนี่เรคคอร์ด มีประสบการณ์ด้านดนตรีกว่า 30 ปี ตลอดจนศิลปินทั้ง เจ-เจตริน วรรธนะสิน” เจ้าของค่าย J MEDEE “ และ “ติ๊นา คริสติน่า อากีล่าร์” มาเป็นแม่เหล็กดึงคนดู
ความน่าสนใจของโมเดล “เศรษฐกิจมิตรภาพ” เป็นการดึงศักยภาพที่แต่ละค่ายมีมาช่วยกันทำงาน เรียกว่าใครถนัดด้านไหนลงทุนด้านนั้น ไม่ต้องมามุ่ง “ลงขันควักเงิน” เหมือนที่ผ่านมา ตรงนี้ “อินเด็กซ์” ยังต้องรับบทเจ้าภาพลงทุนหลักอยู่ แต่สิ่งสำคัญคือผลลัพธ์ทางธุรกิจที่เกิด หรือรายได้จะถูกแบ่งร่วมกันหรือ Revenue Sharing
สุพจน์ ชัยวัฒน์ศิริกุล - เกรียงไกร กาญจนะโภคิน - วิเชียร ฤกษ์ไพศาล
อีกหนึ่งภาพของการปรับตัวคือการ “ไฮบริด” หรือผสมผสานโลกของอีเวนท์ ณ พื้นที่หรือ On Ground เชื่อมกับโลกออนไลน์ ด้วยการ “Live” งานนี้ธรรมดาโลกไม่จำ บัตรออนไลน์มีราคา 600 บาท และ 900 บาท บัตรแพงจะได้หูฟังเจบีแอล เพิ่มอรรถรสด้านเสียงเต็มที่ ส่วนบัตรที่เข้าชมการแสดงจริง ราคา 2,500, 4,000, 5,000 และ 6,000 บาท ทั้งหมดจำกัดคนดูเพียง 900 คน ส่วนการแสดงมีวันที่ 18, 25 ก.ค. และ 1, 2 ส.ค. ส่วนศิลปินสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป
ปลุกอีเวนท์ให้คึกคักทั้งที อินเด็กซ์ ยังผนึกพันธมิตรอีกมากมาย ทั้งค่ายเพลงมิวซิกมูฟ สมอลล์รูม วอท เดอะ ดักฯ เพื่อลุยคอนเสิร์ตยาวถึงสิ้นปี
“เฟรนด์ชิป อีโคโนมี เป็นโมเดลธุรกิจที่ช่วยกันยามยาก เพื่อรอดร่วมกัน และเป็นการคืนชีวิตให้อีเวนท์กลับมาด้วย”
อย่างไรก็ตาม การทำอีเวนท์ไฮบริดดึงออนไลน์เชื่อมออนกราวด์ ยืนยันว่าไม่สามารถ “ทดแทน” ของจริงได้ เพราะที่สุดแล้ว ผู้บริโภคต้องการสัมผัส ดื่มด่ำบรรยากาศจริง แต่การปรับตัวจำเป็นมาก ในยามวิกฤติ ข้อจำกัดเต็มไปหมด
“ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย และครึ่งปีหลัง อินเด็กซ์จะมีโปรเจคใหม่ๆ เพื่อสร้างปรากฏการณ์เอาไว้ให้โลกจำ”
การฮึดสู้วิกฤติของผู้ประกอบการอีเวนท์ครั้งนี้ “เกรียงไกร” ประเมินการฟื้นตัวทำได้ดีอยู่ที่ 20-25% เท่านั้น เพราะปัจจัยลบรุนแรงทำลายล้างเสียหายถึง 75-80%
**The Future is Now ไฮบริดอีเวนท์เสมือนจริง
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เอื้อให้การจัดอีเวนท์เปลี่ยนรูปโฉมมากขึ้น เพราะการจัดงานไม่ได้จำกัดอยู่แค่ “On Ground” ในฮอลล์ หรือสถานที่ปิดอีกต่อไป แต่เคลื่อนสู่ออนไลน์ และเนรมิตให้เป็น “โลกเสมือนจริง” หรือ Virtual มากขึ้น
กัมพล นิสิตสุขเจริญ
“อนาคต เทคโนโลยีเป็นเทรนด์ในการจัดงานอีเวนท์มากขึ้น แต่โควิดจะเป็นตัวเร่งให้ผู้ประกอบการนำเทคโนโลยีมาผสมผสาน เสริมแกร่งการจัดงานออนกราวด์ และ The Future is Nowเวอร์ชวลโซลูชั่นเกิดขึ้นแล้ว” มุมมองจาก กัมพล นิสิตสุขเจริญ กรรมการบริหาร บริษัท ไร้ท์แมน จำกัด
เทรนด์อีเวนท์เสมือนจริงมาแน่ และระยะสั้น นี่คือการแก้ปัญหาและลดผลกระทบจากโควิดจัดงานไม่ได้ “กัมพล” จึงก่อตั้งเวอร์ชวลโซลูชั่น : Virtual Solution มาตอบโจทย์ลูกค้าเพิ่มโอกาสแบบไร้ขีดจำกัด (Limitless Opportunity) ในการจัดงานอีเวนท์ สร้างสรรค์แคมเปญการตลาดช่วยให้แบรนด์และเจ้าของธุรกิจยังทำมาค้าขาย พบปะลูกค้า คู่ค้าได้เหมือนเดิม
“Virtual Solution จะเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมอีเวนท์ หรือ อุตสาหกรรมไมซ์ ในการทรานฟอร์มจากออนกราวด์สู่ออนไลน์ หรือเป็นการจัดงานแบบไฮบริด ซึ่งการจัดงานในรูปแบบเสมือนจริงจะเป็นเทรนด์ในอนาคต เป็นอีกทางเลือกให้กับลูกค้า และจะมาทลายทุกข้อจำกัดของอุตสาหกรรมอีเวนท์ที่ต้องจัดงานภายใต้มาตรการต่างๆ ของรัฐ” เขาย้ำ
สำหรับอีเวนท์เสมือนจริงที่ Virtual Solution ชิมลางพร้อมปูทางต่อได้แก่ งานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ครั้งที่ 41 จัดควบคู่กับงานออนกราวด์ในวันที่ 15-26 ก.ค. นี้ โดยผู้ชมงานสามารถรับชมผ่านทางเว็บไซต์ www.virtualsolution.asia ต่อเนื่องกับการจัดงานเวอร์ชวลดีไซน์ เนชั่น แฟร์ 2020 และร่วมกับสภาสถาปนิกจัดงานเวอร์ชวล อาร์คิเทค ฟอรั่ม ร่วมกับสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์จัดงานเวอร์ชวล อาร์คิเทค เอ็กซ์โป เป็นต้น
ช่วงโควิดที่ผู้ประกอบการรายได้หดหาย การจัดอีเวนท์ออนไลน์ เสมือนจริง ใช้เวลาเตรียมงาน 1-2 เดือน แต่ด้านต้นทุน “ประหยัด” ถึง 90-95% เพราะไม่ต้องเช่าพื้นที่ฮอลล์ที่แบกค่ายจ่ายใช้มหาศาล และเมื่อวิเคราะห์กับโอกาสไร้ขีดจำกัด เชื่อว่าจะเห็นธุรกิจ “เซ็กเตอร์ใหม่ๆ” และเป็นตลาดเฉพาะ (Niche Market) ลุกมาจัดอีเวนท์เสมือนจริงบ้าง จากที่ผ่านไมามีมีงบประมาณเพียงพอไปเช่าพื้นที่จัดงาน
อย่างไรก็ตาม การจัดอีเวนท์ออนไลน์ เสมือนจริง แม้จะต้อนคนดูได้แบบ “Unlimit” แต่ความท้าทายคือ “เสน่ห์” ของการชมงาน เพราะการสัมผัสประสบการณ์ “จริง” กับ “จำลอง” ต่างกัน และ “ทดแทนกันไม่ได้
**อีเวนท์โลกจำลองเหมือนจริง “ฆ่า” ออนกราวด์ไม่ได้
เป็นดิจิทัลเอเยนซี ที่ขยายธุรกิจต่อเนื่อง และเป็นอีกหนึ่งก้าวของการลุยธุรกิจอีเวนท์ เพื่อเสริมพอร์ตโฟลิโอ ซึ่ง ธนพล ทรัพย์สมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายดีเอ็ม (ไทยแลนด์) จำกัด กำลังจับมือกับ Virtual Solution เพื่อซีนเนอร์ยีกันทำอีเวนท์เสมือนจริง โดยรับบทบาทในการหาลูกค้าออกบู๊ท รวมถึงทำการตลาดออนไลน์ ดึงคนเข้าชมงานโลกจำลอง ยิ่งกว่านั้นจะเป็นคนเก็บ “ขุมทรัพย์ข้อมูล” ผู้เข้าชมงาน มอบให้กับลูกค้า เพื่อนำไปต่อยอดธุรกิจ
แผนการตลาดดิจิทัลจัดพร้อม! แล้วโลกอีเวนท์เสมือนจริงจะมา “ฆ่า” อีเวนท์ออนกราวด์หรือไม่ ประเด็นนี้ “ธนพล” ย้ำชัด จะไม่เกิดภาพดังกล่าว แต่การไฮบริดของอีเวนท์ 2 โลก จะช่วย “เสริมแกร่ง” กันยิ่งขึ้น
“ผมไม่คิดว่า Virtual จะมาฆ่าออนกราวด์แต่เสริมกันมากกว่า เวลาเกิดอะไรใหม่ๆ ในโลก มักจะสร้างความตื่นเต้นให้ตลาด และคิดว่าของใหม่จะมาฆ่าของเก่า แต่สุดท้ายจะเกิดการผสมผสานกัน เพราะบางอย่างทดแทนกันไม่ได้ เช่น พริตตี้ตัวจริงกับเสมือนจริง ดูตัวจริงน่าจะดีกว่า”
**พึ่งแพลตฟอร์มโลก เปิดคอนเสิร์ตไร้พรมแดน
เป็นค่ายเพลง และผู้ผลิตคอนเทนท์(Content Provder)รายใหญ่ของเมืองไทย และมีเสาหลักธุรกิจที่สำคัญอย่างการจัดโชว์บิส อีเวนท์ คอนเสริ์ตสารพัด ซึ่งตามแผนที่ประกาศต้นปี เล็งลุยโชว์บิส 30-40 งาน แต่พิษสงของโควิด ทำให้รัฐล็อกดาวน์ธุรกิจ กลายเป็นเบรก! ทุกกิจกรรมที่ต้องรวมตัวกัน “ยุติ” ทั้งหมด นี่คือสถานการณ์ที่ “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” เผชิญไม่ต่างจากผู้ประกอบการอีเวนท์รายอื่นๆ
ภาวิต จิตรกร
ครั้นจะให้ธุรกิจหยุดนิ่ง จนแต้มต่ออุปสรรค วิกฤติโรคระบาด คงไม่ได้ เพราะไม่เพียงบริษัทสูญเสียรายได้มหาศาล แต่ศิลปินไร้งาน ไร้เงิน ส่วนผู้บริโภคโหยหาความบันเทิง ความสนุก และต้องการประสบการณ์ชมคอนเสิร์ตอยู่ แต่เมื่อจัดอีเวนท์รวมพลแฟนคลับไม่ได้ ภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) จึงต้องวางกลยุทธ์ พลิกศาสตร์ธุรกิจโชว์บิสกันใหม่ ลุยคอนเสิร์ตออนไลน์ในชื่อ “จีเอ็มเอ็ม ออนไลน์ เฟสติวัล : GMM Online Festival ระหว่างวันที่ 4-5 ก.ค.นี้ แบ่งการแสดงวันละ 7 ชั่วโมง(ชม.)มีศิลปินแม่เหล็กดึงคนดู 22 ชีวิต เช่น เป๊ก ผลิตโชควงค็อกเทล พาราด็อกซ์ เคลียร์ อะตอมฯ
แม้ออนไลน์เป็นเทรนด์ที่ต้องไป แต่แกรมมี่ฯ ไม่ใช่เจ้าแห่งเทคโนโลยี จึงใช้กลยุทธ์พึ่งพลังและจุดแข็ง “พันธมิตรระดับโลก” อย่าง “วีไลฟ์”(V LIVEจากบริษัท Never ซึ่งเป็นเจ้าของเดียวกับ LINE ประเทศเกาหลีใต้มาร่วมงาน
“การเลือกวีไลฟ์เป็นพันธมิตร เพราะในการจัดคอนเสิร์ตในโลกเสมือนจริงหรือ Virtual ผ่านออนไลน์ไม่ใช่สิ่งที่เราถนัด และเป็นสิ่งใหม่” เขาเล่าและขยายความถึงการเรียนรู้จากการจัดคอนเสิร์ตออนไลน์ที่ผ่านมามีการจำกัดคนดูได้เพียงหลักพัน ซึ่งถือว่าเล็กไปสำหรับความคิดถึงของแฟนๆ ที่มีต่อศิลปิน การร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ที่เป็นแพลตฟอร์มระดับโลกที่ทำ Virtual คอนเสิร์ตอยู่แล้วทุกสัปดาห์อย่างวีไลฟ์จึงปิดจุดอ่อนได้
การแถลงข่าวออนไลน์เกี่ยวกับคอนเสิร์ตดังกล่าว มีแฟนคลับศิลปินเฝ้าจอมากถึง 2.5 หมื่นวิว สร้างความผูกพัน (Engagement) กดไลค์ เทใจให้กว่า 7 แสน ซึ่งเป็นสัญญาณบวกให้ผู้ประกอบการใจชื้นว่าบัตรขายได้แน่นอน เพราะออนไลน์ไม่จำกัดที่นั่ง การขายบัตรจึงไม่มีหมด (Sold out) เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การจัดคอนเสิร์ตหลังจากนี้ คงไม่สามารถเลือกได้ว่าจะให้ความสำคัญกับออนกราวด์หรือออนไลน์มากกว่ากัน เพราะ “ตัวแปรใหญ่” คือเกาะติดสถานการณ์โรคโควิดระบาด โดยภาพรวม “ภาวิต” ต้องการให้กิจกรรมทั้งออนกราวด์และออนไลน์เติบโตคู่ขนาน
“การจัด GMM Online Festival ถือเป็นการทดลองบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เพราะการจัดคอนเสิร์ตปัจจุบันระหว่างโลกออนกราวด์ ออนไลน์ สร้างประสบการณ์ให้คนดูแตกต่างกันออกไป”
คอนเสิร์ต GMM Online Festival โดย เป๊ก ผลิตโชค เป็นแม่เหล็กสร้าง Engagement ถล่มทลาย
สำหรับคอนเสิร์ต GMM Online Festival ซึ่งจัดขึ้นวันแรก 4 ก.ค.ที่ผ่านมา ตลอด 7 ชั่วโมงของการแสดง มียอดคนกดหัวใจทะลุ 183 ล้านครั้ง และแสดงความเห็นกว่า 1 แสนคอมเมนต์ โดยศิลปินแต่ละรายเมื่อขึ้นโชว์จะเห็นยอดการกดหัวใจขึ้นเฉลี่ยกว่า 3 ล้านครั้ง ขณะที่ เป๊ก ผลิตโชค ซึ่งขึ้นโชว์ปิดท้าย ยอดการกดหัวใจทะลุ 30 ล้านครั้ง และการแสดงความคิดเห็นมากกว่า 40,000 คอมเมนต์ เพราะต้องยอมรับว่าบรรดา "นุช" ที่เป็นแฟนคลับมาเฝ้าหน้าจอรอให้กำลังใจศิลปินคนโปรดจำนวนมาก
นอกจากนี้ การเป็นคอนเสิร์ตออนไลน์ ทำให้คนดู "ไร้พรมแดน" ซึ่งแฟนคลับของศิลปินหลายคนนั่งเฝ้าจอจากต่างประเทศ เช่น สวิสเซอร์แลนด์ อังกฤษ เป็นต้น จุดเด่นของออนไลน์ที่รับรู้โดยทั่วกันคือ สามารถรับชมได้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere, Anytime) จึงเห็นแฟนคลับบางคนชมพร้อมตั้งคำถามถึงศิลปินจากร้านอาหาร สถานที่อื่นๆนอกบ้าน
ข้อสังเกตที่น่าสนใจของแกรมมี่ ในการผนึก วีไลฟ์ แพลตฟอร์มระดับโลก คือความเสถียรในการถถ่ายทอดสด ลูกเล่นต่างๆ ที่ช่วยดึงดูดคนดู แต่จุดแข็งของแกรมมี่ที่โดดเด่นไม่แพ้กันคือ การผลิต เพราะต้องยอมรับว่าโปรดักชั่นของคอนเสิร์ตครั้งนี้จัดเต็ม อลังการทั้งเวที แสง สี เสียง แม้การแสดงของศิลปินจะปราศจากคนดูสดในฮอลล์ แต่แกรมมี่ ได้แก้จุดอ่อนหรือ Pain point ที่จะเกิดขึ้นอยู่แล้ว โดยการนำแท่งไฟวางเรียงรายด้านล่างเวทีเสมือนตัวแทนคนดูที่ถือกระบองไฟหลากสี ซึ่งทำให้ศิลปินไม่เหงา และปฏิเสธไม่ได้ว่าการแสดงของศิลปินทุกคนเต็มไปด้วยจิตวิญญาณของการเป็นนักร้องนักดนตรี เนื่องจากทุกวงขึ้นแสดงนั้นเต็มที่ไม่พอ แต่ต้องมี "จินตนาการ" เพื่อสื่อสารกับคนดูในฮอลล์ โดยทันทีที่ศิลปินแต่ละรายแสดงจบ จะมีเวลามาห้อง Zoom เพื่อพูดคุยกับแฟนๆผ่านสื่อออนไลน์ หลายๆเสียงสะท้อนแสดงความเห็นตรงกันถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงโควิดคือ "ไร้งาน-ร้างลาเวที" 3-4 เดือน ทำให้โหยหาทั้งงานและต้องการพบแฟนคลับ แต่ทุกคนต้องอดทน อดใจรอเพื่อให้โควิดคลี่คลายยิ่งขึ้น
**คอนเสิร์ตออนไลน์ไม่ใช่ New Normal
ช่วงโควิดวรรคทองต้องยกให้ New Normal หรือวิถีปกติใหม่ ที่เกิดทั้งพฤติกรรมผู้บริโภค ฝั่งผู้ประกอบการที่ต้องปรับตัว รวมถึงอีเวนท์ โชว์บิส คอนเสิร์ต ที่ต้องผันตัวสู่ออนไลน์ แต่มุมมองจาก เนล ทอมป์สัน รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด(มหาชน) กลับเห็นต่าง โดยให้เหตุผลของการนำเทคโนโลยีมาใช้ การลุยออนไลน์เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดอีเวนท์มากขึ้น ขณะที่แนวโน้มในอนาคตการผสาน 2 โลก “ออนกราวด์-ออนไลน์” ยากจะหลีกเลี่ยง
ทั้งนี้ ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา อีเวนท์ซบเซา บีอีซีฯ เป็นผู้นำเข้าคอนเสิร์ต ดึงศิลปินระดับโลกมาแสดงในไทย ต้องยกเลิก! เช่น กรีนเดย์ ไลฟ์ อิน แบงค็อก 2020 และ Disney On Ice Live Your Dreams ฯ ทว่า เมื่อรัฐปลดล็อกดาวน์ทำให้ธุรกิจบันเทิงเร่งกอบกู้สถานการณ์ ฟื้นฟูธุรกิจ แต่ทำกิจกรรมแบบเดิมไม่ได้ จึงเห็นโมเดลใหม่ๆ ซึ่งบีอีซีฯ จับมือพันธมิตรทั้ง พีเอ็ม เซ็นเตอร์ ผู้เชี่ยวชาญการจัดอีเวนท์ ครบเครื่องเรื่องแสง สี เสียง และจูกซ์ แพลตฟอร์มฟังเพลงออนไลน์สด จัดคอนเสิร์ต ซาวด์บอกซ์ ออนไลน์ รวม 3 ซีรี่ส์จาก 3 ศิลปิน ได้แก่ ซีรีส์แรกวงสล็อต แมทชีน “10 ปีจันทร์เจ้า" เวอร์ชวล ไลฟ์ ฟอร์ม เดอะ มูน วันที่ 18 ก.ค. นี้ เปิดขายบัตร 30 มิ.ย.นี้ ตามด้วย แม็กซ์ เจนมานะ ไลฟ์..โนแวร์ นาวเฮียร์ อิทส์ จัส อะ แมทเทอร์ ออฟ สเปซิ่ง วันที่ 24 ก.ค. และ ทูพี เซาท์ไซด์ พรีเซ้นท์ส “เซาท์ไซด์ แอมบาสเดอร์ เวอร์ชวล ไลฟ์ วันที่ 26 ก.ค.นี้ เปิดจำหน่ายโค้ดเข้าชม 5 ก.ค.นี้ ทางไทยทิกเก็ตเมเจอร์ โดยแฟนๆรับชมได้ผ่านแอปพลิเคชั่นของจูกซ์บนมือถือ
เนล ทอมป์สัน
“ซาวด์บ็อกซ์ ออนไลน์ถือเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ ที่เราสร้างสรรค์มาตอบโจทย์คนดูคอนเสิร์ต และการจัดออนไลน์สตรีมมิ่งคอนเสิร์ตไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงโรคโควิด-19 ระบาดเท่านั้น แต่ยังเป็นโมเดลธุรกิจที่เรากำลังก้าวเข้าสู่อนาคตที่จะผสานออฟไลน์กับออนไลน์มากขึ้น”
ซาวด์บ็อกซ์ ได้มืออีเวนท์อีกรายมาช่วยเสริมแกร่ง ซึ้ง เสริมคุณ คุณาวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท พีเอ็ม เซ็นเตอร์ จำกัด และแม่ทัพ บริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) บอกว่า งานนี้มีการเตรียม 3 สตูดิโอ 3 ขนาด จัดคอนเสิร์ต โดยแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งให้คนเข้าชมได้ 20 ที่นั่ง สนุกในพื้นที่ตนเอง อีกส่วนถ่ายทอดสดเต็มรูปแบบผ่านจูกซ์
“เราจัดออนไลน์ 100% และให้คนเข้ามาดูได้เป็นการทดลองเพื่อปูทางสู่การเปิดให้คนดู 1,000-1,500 คนในอนาคต”
นาทีนี้ อีเวนท์พึ่งเทคโนโลยีเสมือนจริง คืนชีพธุรกิจฝ่าวงล้อมโควิด-19 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงประเมินการแข่งขันการแสดงโชว์ ตลอดจนกีฬา ผ่านออนไลน์จะสร้างเม็ดเงินให้กับอุตสาหกรรมโทรคมนาคม 1,700 ล้านบาท หรือเติบโตราว 0.64%