ทบทวน 'โควิด-19' ในมุมที่คุณอาจยังไม่รู้!
ทบทวนเรื่องราว "โควิด-19" โรคจากเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่ครอบงำโลกมามากกว่า 7 เดือน จนปัจจุบันสถานการณ์เป็นไปอย่างไร เชื้อไวรัสสามารถแพร่ผ่านอะไรได้บ้าง และจะสามารถป้องกันตัวเองได้อย่างไร?
เป็นเวลาเกินกว่า 7 เดือน ที่ประเทศทั่วโลกต้องเผชิญกับเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 เชื้อที่ก่อให้เกิดโรค "โควิด-19" ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนทั่วโลก ทั้งการออกนอกเคหสถานได้น้อยลง ต้องสวมหน้ากากอนามัย ซึ่งช่วงที่ผ่านกลายเป็นสินค้าที่มีดีมานด์สูง ส่งผลให้ขาดตลาดและมีราคาสูง รวมถึงกลุ่มธุรกิจต่างๆ พลอยได้รับผลกระทบเชิงลบกันถ้วนหน้า
- สถานการณ์ผู้ติดเชื้อในปัจจุบัน
ปัจจุบัน ข้อมูล ณ วันที่ 17 กรกฎาคม 2563 เวลา 14.00 น. ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อ 13,954,077 ราย ใกล้จะทะลุ 14 ล้านรายเข้ามาทุกทีแล้ว โดยมีรายงานผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วจำนวน 8,285,924 ราย และเสียชีวิต 592,791 ราย
ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดของโลกอย่าง สหรัฐ ได้แซงหน้า จีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีการพบผู้ติดเชื้อเป็นรายแรกของโลก รวมถึงมีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างในช่วงแรก โดยปัจจุบันการแพร่ระบาดได้ขยายไปสู่ประเทศและภูมิภาคอื่นมากขึ้น ทำให้จีนรั้งอันดับที่ 25 ของประเทศที่พบผู้ติดเชื้อทั้งหมด 215 ประเทศ
ประเทศ 5 อันดับแรกที่มีผู้ติดเชื้อไวรัส หรือโควิด-19 มากที่สุดในโลก ณ เวลา 14.00 น. ของ วันที่ 17 กรกฎาคม 2563 ได้แก่
- สหรัฐอเมริกา มีผู้ป่วยมากถึง 3,695,302 ราย โดยมหาวิทยาลัยจอห์นส ฮอปกินส์ในเมืองบัลติมอร์ของสหรัฐ รายงานเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า ในช่วง 24 ชั่วโมง สหรัฐพบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 67,417 คน นับเป็นยอดรายวันสูงสุดเป็นสถิติใหม่ จากเดิม 66,528 คนในวันที่ 11 ก.ค.
- บราซิล มีผู้ติดเชื้อ 2,014,738 ราย
- อินเดีย มีผู้ติดเชื้อ 1,005,760 ราย
- รัสเซีย มีผู้ติดเชื้อ 752,797 ราย
- เปรู มีผู้ติดเชื้อ 341,586 ราย
สำหรับประเทศไทย ไม่พบการติดเชื้อภายในประเทศ หรือการติดเชื้อเป็น 0 ราย เป็นเวลา 53 วัน (ข้อมูล ณ 17 ก.ค.63) โดยปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อ 3,239 ราย รักษาหายแล้ว 3,096 ราย และเสียชีวิต 58 ราย อยู่อันดับที่ 101 ของโลก
ขณะที่ 10 อันดับประเทศที่มีผู้ป่วยรายใหม่สูงสุด (ณ วันที่ 16 ก.ค.) ไล่เรียงจากมากไปน้อยดังนี้ สหรัฐ บราซิล อินเดีย แอฟริกาใต้ รัสเซีย เม็กซิโก โคลอมเบีย อาร์เจนตินา เปรู และบังกลาเทศ
- ลักษณะอาการโรค "โควิด-19" เป็นอย่างไร?
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ระบุถึงลักษณะอาการต่างๆ ที่สามารถสังเกตได้เบื้องต้น ได้แก่ มีไข้ หรือมีอุณหภูมิเกิน 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ไอแห้ง อ่อนเพลีย มีน้ำมูก เจ็บคอ ท้องเสีย หายใจลำบาก เจ็บแน่หน้าอก ปวศีรษะ ปวดเมื่อยเนื้อตัว ผื่นบนผิวหนัง
ด้านกระทรวงสาธารณสุขของไทย ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ระบุให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (COVID-19) เป็นโรคติดต่ออันตราย ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2563 ซึ่งมีการระบุอาการไว้ว่า มีไข้ ไอ เจ็บคอ หอบเหนื่อย หรือมีอาการของโรคปอดอักเสบ ในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการระบบทางเดินหายใจล้มเหลว และอาจถึงขั้นเสียชีวิต
ขณะเดียวกันราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์ แห่งประเทศไทย ได้ออกประกาศเป็นข้อแนะนำเรื่องอาการสูญเสียการได้กลิ่นในผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า ผู้ป่วยโรค COVID-19 ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่มีผลตรวจเป็นบวก พบว่ามีอาการสูญเสียการได้กลิ่น (anosmia) ได้ถึง 2 ใน 3 โดยที่พบอาการอื่นๆ เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล เพียงไม่มาก
นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น กรณีการพบผู้ติดเชื้อในประเทศไทย เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2563 ที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่ หนึ่งรายเป็นนักศึกษาเพศชายที่เดินทางมาจากรัสเซีย ได้เข้าพักใน State Quantine จ.ชลบุรี ตรวจพบเชื้อ แต่ไม่มีอาการ ขณะที่อีกรายเป็นพนักงานโรงงานในคูเวต เข้าพักใน State Quantine กรุงเทพฯ ไม่แสดงอาการใดๆ แต่ตรวจพบเชื้อ
ด้าน นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เคยกล่าวตอนหนึ่งเมื่อต้นเดือนเมษายน 2563 ว่า ฝ่ายวิชาการมีข้อมูลสนับสนุนทำให้เชื่อว่าในประเทศไทยยังมีผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือแสดงอาการน้อยหลงเหลืออยู่จำนวนหนึ่ง ทำให้กระทรวงสาธารณสุขยังต้องเฝ้าระวังและค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก
- โควิด-19 แพร่เชื้อได้อย่างไร?
ขณะที่เชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ต้นตอของโรคโควิด-19 สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนผ่านทางละอองน้ำมูก น้ำลาย ทั้งจากการไอและจาม ยังรวมถึงที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ “สมบูรณ์ จิตเป็นธม” ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายออกบัตรธนาคาร ธปท. ที่ให้สัมภาษณ์กับ จส.100 โดยระบุตอนหนึ่งว่า เชื้อโรคโควิด-19 เวลาที่อยู่บนผิวสัมผัส เช่น กระดาษ และพลาสติก กว่าเชื้อจะตายใช้เวลาแตกต่างกัน หากเชื้อโรคอยู่บนผิว เช่น พลาสติก เชื้อโรคอยู่ได้ถึง 9 วัน แต่ถ้าเป็นผิวกระดาษ ถ้าอยู่ในอุณหภูมิห้องจะมีชีวิตอยู่ประมาณ 5 วัน
ดังนั้นถ้าธนบัตรหมุนเวียนเข้ามาอยู่ในแบงก์ชาติ และแบงก์ชาติมีเวลา 14 วันกว่าจะส่งออกไป เชื้อก็น่าจะตายไปแล้ว
ล่าสุดในวารสาร Clinical Infectious Diseases ของมหาวิทยาลับออกซ์ฟอร์ด มีการเผยแพร่ความเห็นของนักวิจัยนานาชาติจาก 32 ประเทศ 239 คน ว่า ผลการศึกษาระบุว่า ไวรัสนี้แพร่กระจายทางอากาศได้มากกว่า 2 เมตร ซึ่งเป็นระยะห่างมาตรฐานที่ WHO แนะนำ
เมื่อผู้ติดเชื้อไอหรือจาม จะพ่นละอองฝอยขนาดต่างๆ ออกมา โดยละอองฝอยที่มีขนาดมากกว่า 5-10 ไมโครมิเตอร์ จะร่วงสู่พื้นที่อย่างรวดเร็วภายในรัศมี 1-2 เมตร แต่ละอองฝอยที่มีขนาดเล็กกว่า จะสามารถลอยอยู่ในอากาศได้นานและกระจายไปไกลกว่านั้นมาก แม้จะมีการถกเถียงกันถึงกรณีนี้ แต่นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ไม่ว่าจะเป็นละอองฝอยขนาดใหญ่ที่แพร่ออกไปเมื่อมีการไอจาม หรืออนุภาคเล็กๆ ที่สามารถลอยในห้องได้ไกลๆ โควิด-19 ก็คือเชื้อที่เดินทางในอากาศและสามารถติดต่อคนเมื่อสูดเข้าไปในร่างกายได้เหมือนกัน
- แนวทางป้องกันตัวจากเชื้อไวรัส
ดังนั้นแนวทางในการป้องกันตัวเอง ตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สิ่งหนึ่ง คือ การสวมหน้ากากอนามัย โดยจะต้องสวมให้ถูกวิธี ด้วยการนำด้านที่มีสีเข้มออกด้านนอกเสมอ คลุมให้ปิดจมูก ปากและคาง กดลวดขอบบนให้สนิทกับสันจมูก และเปลี่ยนทุกวัน รวมถึงการล้างมือด้วยน้ำสะอาดและสบู่ ใช้เวลาในการล้างมือนาน 15 วินาที หรือแอลกอฮอล์เจล ใช้เวลาประมาณ 15-25 วินาที
หากเริ่มรู้สึกว่ามีไข้ ควรสังเกตอาการอื่นๆ เพิ่มเติม หรือในกรณีที่เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-19 โดยมีแผนผังดังนี้
อย่างไรก็ตามยังเป็นเรื่องที่ทั้งไทยและทั่วโลกยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัดและเหลือน้อยที่สุด เพราะหากมีเกิดการแพร่ระบาดขึ้นระลอกสองและรุนแรงเช่นเดียวกับระลอกแรก อาจะส่งผลกระทบต่อทั่วโลกหนักกว่าเดิม
ที่มา : ratchakitcha.soc, dmsic.moph, bangkokbiznews, bangkokbiznews(2), who.int, ddc.moph,