ศิริราช ชี้ไทยคุมโควิด-19 ได้ดีแต่ยังไม่ปลอดภัย มีโอกาสเกิดระลอก 2 ขออย่าประมาท

ศิริราช ชี้ไทยคุมโควิด-19 ได้ดีแต่ยังไม่ปลอดภัย มีโอกาสเกิดระลอก 2 ขออย่าประมาท

คณบดีศิริราชฯ เผยโควิด-19 ยังระบาดทั่วโลก แม้ไทยควบคุมได้ดี แต่ไม่ได้สื่อว่าปลอดภัย ไม่ควรประมาท โอกาสเกิดระลอก 2 ยังมี ขอคนไทยทำตามมาตรการใส่หน้ากาก อยู่ห่าง ล้างมือ ตั้งรับให้พร้อม ดูแลตัวเองและคนรอบข้าง อย่ารอแต่วัคซีนเพียงอย่างเดียว

วานนี้ (17 กรกฎาคม) ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการวิเคราะห์สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ของโลกและประเทศไทย แนวทางดำเนินการกับการระบาดระลอก 2 ผ่าน เฟซบุ๊กแฟนเพจ Siriraj Channel ว่า เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า โลกกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาใหม่และอันตรายของเชื้อโควิด-19 (New and Dangerous Phase of COVID-19) เนื่องจากสถิติตัวเลขที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวันของประเทศในแทบทุกทวีป และการกลับมาของอัตราการติดเชื้อในผู้ป่วยใหม่ และการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นในประเทศที่เคยควบคุมได้ดีหรือค่อนข้างดี โดยขณะนี้ มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เกือบทั่วโลก

ขณะที่ภาพรวมสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ทั่วโลก ตั้งแต่วันที่ 5 – 16 กรกฎาคม 2563 ยอดผู้ป่วยจาก 12 ล้านรายในวันที่ 8 กรกฎาคม ทะลุ 13 ล้านราย ในวันที่ 12 กรกฎาคม โดยใช้เวลาเพียง 4 วันเท่านั้น สำหรับ ตัวเลขผู้เสียชีวิตต่อวัน อยู่ในช่วง 3,000 – 5,000 กว่ารายต่อวัน จะเห็นว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อที่สูง แต่อัตราการเสียชีวิตไม่สูงนัก เนื่องจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ ประเทศต่างๆ มีการปรับตัว โดยเฉพาะการเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงที่จะรุนแรงหรือเสียชีวิต พยายามทำให้คนเหล่านั้น ห่างไกลจากโควิด-19 จึงเห็นว่าหลายประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อสูงก็จริงแต่อัตราการเสียชีวิตน้อยมาก

สำหรับ ประเทศที่มีการระบาดอันดับ 1 ของโลกขณะนี้อย่าง “สหรัฐอเมริกา” ณ วันที่ 16 กรกฎาคม มีผู้ป่วยทั้งหมด 3,678,346 ราย เพิ่มขึ้น 70,929 รายภายในวันเดียว และหากดูในช่วง 10 วันที่ผ่านมาจะพบว่า สหรัฐฯ ผู้ป่วยใหม่มากกว่า 5 หมื่นรายต่อวัน ขณะที่อันตราการเสียชีวิตเริ่มลดลงในวันที่ 12 กรกฎาคม อยู่ที่ 377 รายต่อวัน และเพิ่มขึ้นในช่วงหลังถึง 959 ราย ในวันที่ 16 กรกฎาคม เนื่องจากบางรัฐเริ่มเข้าสู่สถานการณ์ฉุกเฉินเพราะไอซียูไม่เพียงพอ

ด้าน “ประเทศบราซิล” ซึ่งประธานาธิบดี ได้ติดเชื้อโควิด-19 ไปแล้ว พบว่ามีการติดเชื้อสูงสุดมากกว่า 4 หมื่นรายต่อวัน ขณะที่ระบบสาธารณสุขอาจจะไม่ดีเท่าหลายประเทศ ทำให้อัตราการเสียชีวิตสูงถึงหลักพันต่อวัน อย่างไรก็ตาม มีคนวิเคราะห์ว่าขณะนี้ บราซิลยังไม่จุดสูงสุด

สำหรับ “ประเทศอังกฤษ” สถานการณ์เริ่มดีขึ้น ผู้ป่วยใหม่แนวโน้มลดลงคู่ขนานกับอัตราการเสียชีวิตก็ลดลง ณ วันนี้ประเทศอังกฤษ เข้าสู่โหมดการเพิ่มกิจกรรมต่างๆ เพื่อรักษาด้านเศรษฐกิจ ขณะที่ “ประเทศเยอรมนี” ผ่านการระบาดระลอกที่ 1 และเริ่มมีการระบาดระลอกที่ 2 โดยเหตุเกิดขึ้นจากโรงงานผลิตเนื้อทางตอนเหนือของเยอรมนี มีการนำคนงานจากต่างประเทศผ่านชายแดนเข้ามา ในโรงงานมีความหนาแน่นเนื่องจากเร่งผลิต ทำให้เกิดการติดเชื้อ พอรัฐบาลเข้าไปเพื่อขอรายละเอียดที่อยู่ของคนงานแต่ละคนเพื่อติดตามกลุ่มเสี่ยงในช่วงต้นบริษัทไม่ยอมให้ ทำให้ตอนแรกที่กำลังสงบกลับมีผู้ติดเชื้อขึ้นมาใหม่ อย่างไรก็ตาม เยอรมนี ก็ยังคงควบคุมการเสียชีวิตได้ ส่วน ประเทศอิหร่าน ยังคงอยู่ระลอก 1 มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นวัน 2,000 ราย เสียชีวิตราว 200 คนต่อวัน

“ประเทศญี่ปุ่น” กลางมีนาคมสามารถควบคุมโรคได้ดี แต่ระลอกที่ 2 เริ่มเอาไม่อยู่ และระลอก 2 เป็นการติดเชื้อภายในประเทศ โดย โตเกียว เป็นแหล่งแพร่ระบาดที่มีแนวโน้มคุมได้ลำบาก แต่อัตราการเสียชีวิตน้อยมาก ด้าน “ประเทศเกาหลีใต้” หลังจากที่เจอเหตุการณ์ซูเปอร์สเปรดเดอร์ สามารถควบคุมได้ดีมาก อัตราการเสียชีวิตในเกาหลีใต้ต่ำมาก ทั้งๆ ที่มีผู้ป่วยใหม่ราว 40-60 รายต่อวัน อย่างไรก็ตาม เกาหลีใต้พยายามเปิดเรียนหลายครั้ง แต่เกิดการติดเชื้อในโรงเรียน เราก็ยังอยู่ในช่วงเวลานั้น ดังนั้น การเฝ้าระวังการติดเชื้อในโรงเรียนเป็นสิ่งสำคัญ

สำหรับ “ประเทศฟิลิปปินส์” กำลังลำบาก เพราะอัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้น คู่ขนานกับอัตราการเสียชีวิต การควบคุมไม่ง่ายเพราะคนค่อนข้างเยอะ ด้าน “ประเทศสิงคโปร์” ที่ควบคุมได้ดีในช่วงแรก แต่ ณ วันนี้มียอดผู้ป่วยรวม 47,126 ราย จากการค้นพบคนติดเชื้อแรงงานต่างด้าวและยังคงมีผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่อัตราการตายต่ำมาก

“ประเทศออสเตรเลีย” เคยเป็นอันดับต้นๆ ที่ควบคุมโควิด-19 ได้ดี ตอนนี้อยู่ระลอก 2 รัฐบาลออสเตรเลีย ออกมาตรการเพิ่ม เช่น ในเมลเบิร์น สั่งให้ปิด อยู่บ้าน รวมถึงเมืองอื่นๆ มีมาตรการควบคุม เพราะรัฐบาลเกรงว่าหาก ขณะที่ “ประเทศไทย” เราผ่านการแพร่ระบาดเรียบร้อย ตอนนี้อยู่ในเกณฑ์ดี อัตราการเสียชีวิตน้อย แต่เวลาที่เราจัดการโรคที่มีการแพร่ระบาดได้ง่าย  หากพลาดแค่นิดเดียวจะมีโอกาสกลับมาใหม่

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ณ วันนี้ประเทศไทยมีมาตรการป้องกันดี แต่ทั่วโลกยังมีการแพร่กระจายของโควิด-19 และหลายประเทศเป็นช่วงขาขึ้น เปรียบเสมือนไฟที่อยู่รอบๆ ประเทศของเรา ดังนั้น เราต้องไม่เปิดหน้าต่างบ้านของเราโดยเด็ดขาด ขณะเดียวกัน อาจมีควันเล็ดรอดเข้ามา หากเราช่วยกันสอดส่อง ค้นหา จัดการ รวมถึงจัดสรร ดูแลสุขภาพภายในบ้านของเรา ให้พร้อมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ เรามีโอกาสที่ทำให้บ้านเราปลอดภัย จนกว่าจะมีสิ่งที่เรียกว่า “วัคซีน” เข้ามา เวลาจัดการกับโรคติดเชื้อ เรามองแค่ประเทศเราไม่ได้ ต้องมองโลกทั้งใบ และไวรัส สามารถเดินทางเข้ามาได้ ไม่ว่าจะเดินเท้า เครื่องบิน รถไฟ ชายแดนระหว่างประเทศ  เราไม่สามารถรู้ว่าคนที่ผ่านเข้ามาติดเชื้อหรือไม่ มาตรการต่างๆ เหล่านี้ต้องเข้มงวด เพราะทำให้เราปลอดภัย และคนไทยทุกคนต้องช่วยกัน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ จนกว่าทั่วโลกจะมีวัคซีน

“อย่าไปกลัวการระบาดระลอก 2 อย่างไรเสียก็มา แต่จะมารูปแบบไหน เพราะถ้ามาแล้วไม่รุนแรงก็ไม่มีประเด็น เหมือนตัวอย่างประเทศทั้งหลายก็ควบคุมการระบาดระลอก 2 ได้ดี สิ่งที่อยากให้เป็นในการวิเคราะห์รูปแบบการระบาดรอบใหม่ โดยต้องใช้วิธีทุบด้วยค้อนให้คนติดเชื้อน้อยลง เมื่อติดเชื้อน้อยลงสิ่งที่แลกมาก็เศรษฐกิจ เจอกันทั่วโลกจึงต้องเข้าสู่ ผ่อนให้ฟ้อนรำ แต่ก็จะมีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดอีก”

ทั้งนี้ ความสมดุลของสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ปัจจัยสำคัญคือ “คนไทย” ซึ่งหมายถึงทั้งรัฐบาล ผู้ประกอบการ ผู้ปฏิบัติการ ผู้รับบริการ เป็นผู้กำหนด โดยสุขภาพที่ดี เอื้อให้เกิดการทำงาน มีรายได้ นำสู่สุขภาพใจที่ดี ส่งผลให้สภาพสังคมดีขึ้น การกลับมามีคนภายในประเทศติดเชื้อโควิด-19 เกิดขึ้นได้และเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ เพราะมีปัจจัยหลายประการ แต่หากจำนวนผู้ติดเชื้อไม่มาก (เพราะสามารถตามตัว แยกเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อได้) กิจการต่างๆ ก็ยังสามารถดำเนินไปได้ เศรษฐกิจในครัวเรือน ยังดำเนินต่อไป แต่หากจำนวนผู้ติดเชื้อมาก ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมาก เศรษฐกิจทั้งประเทศก็แย่ลง

การที่ผู้ป่วยติดเชื้อใหม่ เป็นผู้ที่กลับมาจากต่างประเทศ ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ภายในประเทศ ไม่ได้สื่อว่าประเทศไทยปลอดภัยจากเชื้อ เพราะโอกาสได้เชื้อจากแหล่งอื่นยังคงมี นอกจากนี้ คนไทยยังมีภูมิต้านทานเชื้อโควิด-19 น้อยถึงน้อยมาก ยุทธวิธีที่สำคัญ คือ การป้องกันการติดเชื้อ และการป้องกันการแพร่เชื้อ จนกว่าจะมีวัคซีน การตามหาผู้เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ และผู้เสี่ยงต่อการติดเชื้อเป็นปัจจัยสำคัญต่อความรุนแรงของการแพร่กระจายเชื้อ ดังนั้น การใช้ “ไทยชนะ” ช่วยให้การตามหาสะดวก และแม่นยำขึ้น คนยิ่งใช้มาก โอกาสตามตัวเพื่อควบคุมเชื้อจะยิ่งมาก

“ขณะนี้คนไทยมีภูมิต้านทานเชื้อน้อยมาก สิ่งสำคัญคือ อย่าปล่อยให้เชื้อเข้ามา ไม่เช่นนั้นจะลำบาก อย่างไรก็ตาม จนถึงวันนี้ วัคซีนที่ไทยวิจัยผ่านการทดลองในสัตว์ทดลองได้ผล แต่การจะไปถึงคนและผลิตใช้ได้ อาจจะถึงกลางปีหน้า ยังอีกห่างไกล อย่ารอแต่วัคซีน เราสามารถป้องกันตัวเองและเพื่อนร่วมชาติได้ แต่สิ่งที่เราคาดว่าหากเกิดเชื้อเยอะและเกิดภูมิคุ้มกันหมู่เช่นเดียวกับไข้หวัดสเปนเมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา อาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้ และวัคซีนอาจจะไม่ใช่ฉีดครั้งเดียว เราต้องตามดูต่อไป ขณะที่ยา อย่าปล่อยให้การติดเชื้อเยอะ เพราะยาเรานำเข้า ชะล่าใจไม่ได้ ส่วนเรื่อง การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส ซึ่งพบว่ามีอย่างน้อย 6 สายพันธุ์ แต่ยังไม่มีหลักฐานชัดว่าการกลายพันธุ์จะทำให้โรครุนแรงมากหรือน้อยลง คนไทยต้องติดตาม” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

159500803031