ลุ้น 'ทองคำ' ทำนิวไฮ 5 ปัจจัยบวกดันราคาพุ่ง !
'ทองคำ' New High ในรอบ 8 ปี ! ด้าน 'กูรู' ฟันธงครึ่งปีหลังยังเป็น 'ขาขึ้น' พร้อมส่งซิกลุ้นทำลายสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 1,920 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังกองทุนขนาดใหญ่ไล่ซื้อเก็บเข้าพอร์ต จับตา 5 ปัจจัยบวกผลักดันราคาขยับต่ออีก
'ทองคำ' ถือเป็นสินทรัพย์ประเภท 'ปลอดภัย' หรือ 'Safe Haven' ยิ่งเฉพาะในยามที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับความเสี่ยงสูง บ่งชี้ผ่าน 'ความกังวล' (Panic) ต่อผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ที่มีต่อเศรษฐกิจทั่วโลกและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ที่ทำให้ตลาดเงิน ตลาดทุน มีความผันผวนรุนแรง
ทว่า ในปี 2563 ทองคำถือเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ให้ 'ผลตอบแทน' (รีเทิร์น) เป็นบวกตั้งแต่ต้นปีนี้ (YTD) มากถึง 20% ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับผลตอบแทนปีก่อนทั้งปีอยู่ที่ 10% เพราะความกังวลต่อผลกระทบจากโรค COVID-19 ดังนั้น กระแสเงินทุนจึงโยกย้ายเข้าสู่สินทรัพย์ประเภท Safe Haven อย่าง ทองคำเพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนโดยรวม (Hedging) หนุนราคา Spot ยืนเหนือ 1,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปลายปี 2555
'ราคาทองคำปรับขึ้นมาจนไปแตะระดับ 'สูงสุด' (New High) ของปีนี้ครั้งใหม่ที่ 1,789 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ซึ่งสูงสุดในรอบ 8 ปี 8 เดือน ดังนั้น นักลงทุนจึงควรหันมาถือทองคำอย่างน้อย 5-10% ไว้ในพอร์ตการลงทุนเพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยง'
ทว่า ราคาทองคำเคยขึ้นไประดับ 'สูงสุดเป็นประวัติการณ์' อยู่ที่ 1,920 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในปี 2554 ดังนั้น ในปีนี้ก็มีลุ้นที่ราคาจะไปถึงระดับดังกล่าวเช่นกัน ปีนี้ถือว่าเป็นปีที่มีความพิเศษเพราะเปิดต้นปีมาก็มีปัญหาเรื่องอิหร่าน-สหรัฐ ราคาทองจึงเริ่มปรับตัวขึ้นมา แม้ระหว่างทางนักลงทุนจะมีการขายทำกำไรสลับออกมาโดยตลอด
'ณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์' ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS บอกกับ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ว่า ช่วงครึ่งปีหลัง 2563 ราคาทองคำยังเป็น 'ขาขึ้น' ต่อเนื่อง โดยเฉพาะได้รับแรงหนุนจากการเข้าซื้อทองคำอย่างต่อเนื่องของ 'กองทุน SPDR' หรือ 'SPDR Gold Trust' รวมทั้งความกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีตัวเลขผู้ติดเชื้อในหลายประเทศยังอยู่ในอัตราสูง โดยเฉพาะสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม 'ปัจจัยบวก' ที่มีผลต่อราคาทองคำให้อยู่ในทิศทางขาขึ้นนั้น คือ 'ความเสี่ยงจากการระบาดรอบ 2' ของ COVID-19 ที่จะกดดันเศรษฐกิจถดถอยต่อเนื่อง 'การผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารสหรัฐ (เฟด)' ทั้งนโยบายการทำ QE แบบไม่จำกัดวงเงิน และการส่งสัญญาณดำเนินนโยบายดอกเบี้ยระดับต่ำที่ 0-0.25% ไปจนถึงปี 2565 'สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน' ที่อาจจะมีความรุนแรงขึ้นอีก
รวมทั้ง 'ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์' ทั้งชายแดนจีน-อินเดีย สหรัฐ-อิหร่าน คาบสมุทรเกาหลี รวมถึงประเด็นการเลือกตั้งสหรัฐ และ และ 'กองทุนทองคำขนาดใหญ่' ทั้ง SPDR -ธนาคารกลางต่างๆ ถือครองทองคำเพิ่มขึ้น
'ปัจจัยบวกทั้งหมดถือว่าเป็นปัจจัยที่หนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นได้อีก !'
แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนของปัจจัยเรื่องโควิด-19 หากสามารถควบคุมการระบาดได้อาจจะส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงเช่นกัน แต่ตราบใดที่ปัจจุบันนักลงทุนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์การระบาดของไวรัส ก็จะยังคงมองหาการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำต่อไป
สอดคล้องกับ 'ดร.พิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล' ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยทองคำ ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำประจำเดือนก.ค. 2563 แตะระดับ 62.51 จุด เพิ่มขึ้น 2.32 จุด หรือ 3.86% เทียบกับเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา โดยปัจจัยที่ทำให้ดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้นมาจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำระยะ 3 เดือน (ก.ค.– ก.ย.2563) ปรับ 'เพิ่มขึ้น' จากไตรมาส 2 ปี 2563 จากระดับ 62.11 จุด มาอยู่ที่ระดับ 62.83 จุด เพิ่มขึ้น 0.72 จุด หรือคิดเป็น 1.16% โดยดัชนีฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นมานั้น มาจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย และทิศทางราคาน้ำมัน
อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ความต้องการซื้อทองคำในช่วงเดือนก.ค. 2563 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 296 ตัวอย่าง พบว่า 50.34% ไม่แน่ใจว่าจะซื้อทองคำหรือไม่ ขณะที่ 29.05% ยังไม่ซื้อทองคำและ 20.61% คาดว่าจะซื้อทองคำในช่วงเดือนนี้
สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่ และผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำจำนวน 10 ตัวอย่าง โดยส่วนใหญ่เชื่อว่าราคาทองคำในเดือนก.ค. 2563 จะเพิ่มขึ้นมีจำนวน 5 ราย และคาดว่าจะใกล้เคียงกับราคาทองคำเดือนมิ.ย. 2563 มีจำนวน 3 ราย ส่วนที่คาดว่าราคาทองคำจะลดลงมีจำนวน 2 ราย
ขณะที่ การคาดการณ์ราคาทองคำในเดือนก.ค. 2563 ของผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่มีมุมมอง ดังนี้ Gold Spot ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 1,717-1,822 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ด้านราคาทองคำแท่งในประเทศความบริสุทธิ์ 96.5% ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 25,400-26,900 บาทต่อน้ำหนัก 1 บาททองคำ และค่าเงินบาทไทยให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 30.68 –31.72 บาทไทยต่อดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม การลงทุนทองคำในเดือนก.ค. 2563 ในมุมมองของ 'ผู้ค้าทองคำรายใหญ่' ให้ความเห็นว่าราคาทองคำมีแนวโน้มเคลื่อนไหวไปในทิศทางเชิงบวก โดยราคาทองคำมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ทองคำยังคงมีความผันผวน เนื่องจากราคาแกว่งตัวในระดับสูง และเคลื่อนไหวใกล้กับระดับสูงสุดในรอบหลายปี ดังนั้น นักลงทุนควรติดตามการเคลื่อนไหวของราคาทองคำอย่างใกล้ชิด
ด้าน 'นาวิน อินทรสมบัติ' รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุนต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ.กสิกรไทย) ระบุว่า ในมุมมองต่อตลาดทองคำในระยะนี้ยังมีความ 'น่าสนใจ' จากที่ราคาทองคำได้ขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 8 ปี อยู่ที่ระดับ 1,650-1,750 ดอลลาร์ต่อออนซ์
โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เป็นผลกระทบต่อเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายคงอยู่ในระดับต่ำต่อไปอีกระยะ รวมถึงความต้องการเข้าลงทุนในทองคำจากกลุ่มผู้ลงทุนผ่านกองทุนรวมดัชนีที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (Exchange Traded Fund: ETF) ที่ยังคงลงทุนในทองคำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
'แม้ว่าระดับราคาทองคำปรับตัวขึ้นสวนทางกับความต้องการซื้อจากแถบภูมิภาคเอเชียและธนาคารกลางต่างๆ ในอัตราที่ลดลงก็ตาม แต่หากปัจจัยเสี่ยงต่าๆ เริ่มคลี่คลาย รวมถึงค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น อาจทำให้ความน่าสนใจในทองคำลดลงได้'
ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า 'ทองคำ' เป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกตั้งแต่ต้นปีนี้ (YTD) เพราะความกังวลต่อผลกระทบจากโควิด-19 แต่ในไตรมาส 3 ปี 2563 ให้น้ำหนัก Underweight ต่อทองคำ เพราะเมื่อความกลัวในตลาดลดลง ทำให้ความน่าสนใจต่อการถือครองทองคำลดลงเช่นเดียวกัน และด้วยราคาที่ปรับตัวขึ้นมามาก มีโอกาสที่จะถูกขายทำกำไรออกมา
นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ค่าเงินดอลลาร์ผ่าน Dollar Index มีทิศทางอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่กลางเดือน พ.ค. จนถึงกลางเดือน มิ.ย. แต่ราคาทองคำกลับแกว่งตัวออกข้าง (ปกติ ราคาทองคำและ Dollar Index มักเคลื่อนไหวสวนทางกัน) เป็นสัญญาณชี้นำอีกประการว่า ความต้องการถือครองทองคำมีแนวโน้มลดลงด้านอุปสงค์แท้จริงของทองคำ (Physical Gold Demand) มีแนวโน้มชะลอตัวเช่นกัน โดยเฉพาะจากประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นผู้อุปโภคทองคำเป็นอันดับ 2 ของโลก เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศอินเดียจำนวนผู้ป่วยยังเร่งตัวขึ้นอีกด้วย
10 ประเทศถือครองทองมากสุด !
ในสภาวะความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ 'ทองคำ' ยังเป็นสินทรัพย์ที่หลายคนให้ความสำคัญ ในฐานะสินทรัพย์ปลอดความเสี่ยง รวมถึงธนาคารกลางแต่ละประเทศและองค์กรสำคัญในโลกที่ใช้ทองคำเป็นทุนสำรอง และหากคิดยอดการถือครองทุนสำรองทองคำทั่วโลกจะมีจำนวน 34,859.33 ตัน
สำหรับประเทศและองค์กรที่ถือครองทองคำอย่างเป็นทางการจำนวนมากที่สุดในโลก '10 อันดับแรก' รวมถึงข้อมูลสัดส่วนทองคำในทุนสำรองว่าถือเท่าไหร่ให้ทราบกันดังนี้
อันดับ 1 สหรัฐฯ ถือครองทองคำมากที่สุดในโลกจำนวน 8,133.5 ตัน โดยมีสัดส่วนทุนสำรองทองคำเมื่อเทียบกับทุนสำรองในประเทศทั้งหมดคิดเป็น 78.3% อันดับ 2 เยอรมนี ถือครองทองคำจำนวน 3,364.2 ตัน มีสัดส่วนทุนสำรอง 74.3% อันดับ 3 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ถือครองทองคำจำนวน 2,814 ตัน อันดับ 4 อิตาลี ถือครองทองคำจำนวน 2,451.8 ตัน มีสัดส่วนทุนสำรอง 69.5%
อันดับ 5 ฝรั่งเศส ถือครองทองคำจำนวน 2,436 ตัน มีสัดส่วนทุนสำรอง 63.4% อันดับ 6 รัสเซีย ถือครองทองคำจำนวน 2,299.2 ตัน มีสัดส่วนทุนสำรอง 21.1% อันดับ 7 จีน (เฉพาะจีนแผ่นดินใหญ่) ถือครองทองคำจำนวน 1,948.3 ตัน มีสัดส่วนทุนสำรอง 3.2%
อันดับ 8 สวิตเซอร์แลนด์ ถือครองทองคำจำนวน 1,040.0 ตัน มีสัดส่วนทุนสำรอง 6.3% อันดับ 9 ญี่ปุ่น ถือครองทองคำจำนวน 765.2 ตัน มีสัดส่วนทุนสำรอง 2.9% อันดับ 10 อินเดีย ถือครองทองคำจำนวน 641.8 ตัน มีสัดส่วนทุนสำรอง 6.8%
สำหรับประเทศไทยถือครองทองคำสำรองอยู่อันดับที่ 28 ของโลก โดยมีปริมาณการถือครองจำนวน 154 ตัน โดยคิดเป็นสัดส่วนทุนสำรอง 3.5%
อ้างอิงข้อมูล : World Gold Council ถือครองทองคำสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2563