'เงินเยียวยา' 3,000 บาท กลุ่มเปราะบาง คลังตอบแล้วใครได้บ้าง ได้เมื่อไร?
กรมบัญชีกลางเตรียมจ่าย "เงินเยียวยา" ให้กลุ่มเปราะบาง รวดเดียว 3,000 บาท ในวันที่ 20 ก.ค.2563 นี้ ครอบคลุมกลุ่มผู้ได้รับ "เงินอุดหนุนบุตร" ผู้สูงอายุ และผู้พิการ โดยโอนเงินเข้าบัญชีเดิมที่เคยได้รับเงินอุดหนุนรายเดือน
เป็นที่แน่ชัดแล้ว สำหรับมาตรการจ่ายเงินเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำหรับกลุ่มเปราะบาง ที่ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2563 "วิลาวรรณ พยาน้อย" รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ครม.มีมติเห็นชอบให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ช่วยเหลือและเยียวยากลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด–19 รวดเดียวในวันที่ 20 กรกฎาคม 2563
ผู้ได้รับสิทธิเงินเยียวยา 3,000 บาท ได้แก่
- เด็กที่ได้รับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด จนถึงอายุ 6 ปี จำนวนราว 1,300,000 คน
- ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จำนวนราว 4,000,000 คน
- คนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ จำนวนราว 1,300,000 คน
โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือ ต้องเป็นผู้ที่ไม่เคยได้รับสิทธิช่วยเหลือเยียวยาจากมาตรการช่วยเหลือเยียวยาอื่นๆ ของกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงแรงงาน (สำนักงานประกันสังคม)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- ไม่เลื่อน! 'เงินอุดหนุนบุตร' รอรับ 'เยียวยา 3,000' พร้อมกลุ่มเปราะบาง โอนรวดเดียว 20 ก.ค.นี้
- 'เยียวยาเกษตรกร' เช็คสิทธิ์ ‘เงินเยียวยา’ ห้าพันรอบสุดท้าย อีก 2 ล้านราย 18-19 ก.ค.นี้
- ‘เยียวยาเกษตรกร' ตรวจสอบสถานะ www.moac.go.th โอน 'เงินเยียวยา' ห้าพัน ต่อเนื่องอีก 1 ล้านราย!
- ‘เราไม่ทิ้งกัน’ ตรวจสอบสถานะ ‘เงินเยียวยา’ ล่าสุด 4 แสนราย ยังมีหวัง!
- จ่ายเงินเยียวยารวดเดียว 20 กรกฎาคม 2563
โดยผู้มีสิทธิจะได้รับเงินเยียวยา เดือนละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน (พฤษภาคม-กรกฎาคม 2563) รวมเป็นเงินจำนวน 3,000 บาทต่อคน ซึ่งจ่ายครั้งเดียวในวันที่ 20 กรกฎาคม 2563
และเนื่องจากผู้ที่มีสิทธิเป็นผู้ที่ได้รับเงินอุดหนุนรายเดือนอยู่แล้ว จึงไม่ต้องลงทะเบียนใหม่เพื่อขอรับสิทธิช่วยเหลือเยียวยาตามมาตรการนี้
และสำหรับกรณีผู้มีสิทธิที่เคยรับเงินอุดหนุนเป็นเงินสด กรมบัญชีกลางจะโอนเงินไปยังหน่วยงานเดิมที่เคยจ่ายเงินอุดหนุนรายเดือน เพื่อให้หน่วยงานนำเงินไปจ่ายให้แก่ผู้มีสิทธิต่อไป
อย่างไรก็ตาม หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทั่วประเทศ หรือศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร 1300 ตลอด 24 ชม.