คืบหน้า 'วัคซีนโควิด-19' ไทย-เทศ

 คืบหน้า 'วัคซีนโควิด-19' ไทย-เทศ

ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังค่อนข้างรุนแรงอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก ความหวังหนึ่งของมวลมนุษยชาติที่จะชะลอหรือหยุดการระบาดของโรคโควิ-19 คือ การมีวัคซีนมาใช้ป้องกันการติดเชื้อ นานาประเทศล้วนต่างพยายามศึกษาวิจัยวัคซีน มีความคืบหน้ามาก

ล่าสุด มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดออกมาเปิดเผยว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19อาจจะใช้ได้ในสิ้นปี 2563 โดย แอนดรูว์ พอลลาร์ด หัวหน้าคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เผยว่า วัคซีนได้รับการตอบสนองอย่างดีจากอาสาสมัครที่เข้าร่วมการทดลองจำนวนกว่า 1,000 คน และประสบความสำเร็จในการกระตุ้นการตอบสนองจากภูมิต้านทาน และ T-Cell โดยวัคซีนชนิดนี้ เป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และ บริษัทยา AstraZeneca


เอเดรียน ฮิล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวัคซีนของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด บอกว่า กำลังการผลิตของบริษัท AstraZeneca อาจผลิตได้มากกว่า 1 ล้านโดส หากการทดลองเสร็จสมบูรณ์ และมีความเป็นไปได้ที่วัคซีนจะผลิตและกระจายออกไปในวงกว้างได้ภายในสิ้นปีนี้


แซนดี้ ดักลาส หัวหน้าทีมวิจัยของสถาบัน บอกว่า วัคซีนที่อาจผลิตได้ก่อนสิ้นปีนี้ จะใช้ให้กับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงก่อน จากนั้นจึงผลิตเพื่อให้ประชากรส่วนที่เหลือ
อย่างไรก็ตาม

ปัจจุบันทั่วโลกมีการศึกษาวิจัยพัฒนา วัคซีนต้านโควิด-19 มากกว่า 150 ชนิด ซึ่งสหรัฐและจีน ก็กำลังมีความคืบหน้าด้านการพัฒนาวัคซีนไปในทิศทางบวกเช่นกัน


ยกตัวอย่างเช่น โมเดอร์นา บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพจากสหรัฐ ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2563 ว่า วัคซีน mRNA-1273 ใช้ต้านไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ซึ่งทางบริษัทผลิตขึ้น สามารถสร้างการตอบสนองด้านภูมิคุ้มกันได้อย่างแข็งแกร่ง ผลการทดลองขั้นต้นในการใช้วัคซีนต้านโควิด-19 กับผู้ป่วย 45 คนพบว่า ผู้ป่วยทั้งหมดมีการตอบสนองด้านภูมิคุ้มกันในระดับที่แข็งแกร่ง โดยผู้ป่วยทั้ง 45 คนสามารถผลิตแอนติบอดีที่เป็นกลาง ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามีความสำคัญต่อการสร้างภูมิคุ้มกัน และได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากขึ้นว่า วัคซีนอาจสามารถป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้ในระดับหนึ่ง โดยการทดลองครั้งนี้ ได้มีการแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 15 คน โดยผู้ป่วยแต่ละคนได้รับวัคซีนในโดส 25 ไมโครกรัม, 100 ไมโครกรัม หรือ 250 ไมโครกรัม


ทัล แซคส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการแพทย์ของโมเดอร์นา ระบุในแถลงการณ์ว่า ข้อมูลจากการทดลองระยะที่ 1 แสดงให้เห็นว่า วัคซีน mRNA-1273 สามารถสร้างการตอบสนองด้านภูมิคุ้มกันให้กับผู้ป่วยทั้ง 45 คน และทางบริษัทจะเริ่มทำการศึกษาวัคซีนดังกล่าวในระยะที่ 3 ในเดือนนี้ เป็นการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมยาหลอกแบบ 1 ต่อ 1 โดยคาดว่า จะมีผู้เข้าร่วมในสหรัฐราว 30,000 คน และคาดด้วยว่าจะดำเนินการร่วมกับสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติของสหรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ

นอกจากนี้ บริษัทจะสามารถส่งมอบวัคซีนต้านโควิดได้ราว 500 ล้านโดสต่อปี และอาจจะแตะ 1 พันล้านโดสต่อปี โดยจะเริ่มในปี 2564


ด้าน ไฟเซอร์ อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทยาใหญ่ที่สุดของสหรัฐ และบริษัท ไบโอเอ็นเทค (BioNTech) ซึ่งเป็นบริษัทยาของเยอรมนี ออกแถลงการณ์ระบุว่า ทั้งสองบริษัทได้รับสถานะ “fast track” จากสำนักงานอาหารและยาสหรัฐ (เอฟดีเอ) ในการทดลองวัคซีนต้านโควิด-19 ซึ่งจะทำให้ทางบริษัทได้รับการผ่อนคลายกฎระเบียบจากเอฟดีเอ และส่งผลให้การพัฒนาวัคซีนเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น ขณะนี้ วัคซีน BNT162b1 และ BNT162b2 ถือเป็นวัคซีน 2 ตัวที่มีความคืบหน้ามากที่สุดของไฟเซอร์ และ BioNTech จากทั้งหมด 4 ตัว และหากวัคซีนดังกล่าวได้รับการอนุมัติจากเอฟดีเอ ทางบริษัทจะสามารถผลิตวัคซีนจำนวน 100 ล้านโดส ภายในสิ้นปีนี้ และมากกว่า 1.2 พันล้านโดสภายในสิ้นปีหน้า หลังจากนี้ จะทำการทดลองกับอาสาสมัครจำนวน 30,000 รายภายในเดือนนี้ หากได้รับการอนุมัติจากเอฟดีเอ
แม้ว่าต่างประเทศจะมีความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนอย่างมาก แต่ส่วนหนึ่งที่ต้องยอมรับนั่นคือหากวิจัยวัคซีนเป็นผลสำเร็จแล้ว การนำวัคซีนมาใช้ย่อมต้องเกิดขึ้นในประเทศนั้นก่อนเป็นเบื้องต้น ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีการศึกษาพัฒนาวัคซีนภายในประเทศ เพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงวัคซีนได้เช่นเดียวกันหากการวิจัยประสบความสำเร็จ ซึ่งประเทศไทยมีการศึกษาวิจัยใน 6 รูปแบบและมีความคืบหน้าอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนิดmRNAของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเตรียมที่จะมีการศึกษาวิจัยในมนุษย์แล้ว


ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผลการทดสอบวัคซีน“Chula-Covid19” ซึ่งเป็นชนิดmRNA ในลิงเข็มที่ 2 จำนวน 13 ตัว ที่ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาฯ เป็นเวลา 2 สัปดาห์ พบว่า ลิงที่ได้รับวัคซีนทุกตัวมีระดับภูมิคุ้มกันที่เพิ่มขึ้น โดยมีระดับภูมิคุ้มกันที่สูง เฉลี่ย 5,120 ไตเตอร์ และทุกตัวมีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีผลข้างเคียง

ซึ่งศูนย์วิจัยวัคซีนฯ จะเริ่มสั่งผลิตวัคซีน mRNA จำนวน 2 ชนิด ซึ่งแตกต่างกันในแง่ของพันธุกรรมเล็กน้อย โดยส่งผลิต 2 โรงงาน ได้แก่ โรงงานแรกในสหรัฐ ผลิตเนื้อวัคซีน คาดแล้วเสร็จในเดือน ต.ค. 2563 และส่งไปยังโรงงานที่ 2 ในแคนาดา ผลิตไขมันเคลือบวัคซีน ในเดือน พ.ย. 2563 เพื่อให้พร้อมสำหรับการทดสอบในมนุษย์ตามแผน โดยต้องเตรียมวัคซีนราว 10,000 โดส ใช้ได้ 5,000 คน แบ่งการทดลองในมนุษย์เป็น 3 ระยะ ระยะแรก อาสาสมัครจำนวน 150 คน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน แล้วเสร็จประมาณสิ้นปี 2563 ระยที่ 2 จะใช้อาสาสมัครประมาณ 500-1,000 คน คาดว่าจะรู้ผลในกลางปี 2564 ส่วนระยะที่ 3 ซึ่งต้องทดลองในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อ อาจทดลองในประเทศไทยไม่ได้ เพราะไม่มีคนติดเชื้อโควิด-19 จึงต้องมีการหารือกับทางประเทศที่มีการระบาดของโรคอยู่