3 กูรูไขรหัสกู้ยอด ‘ทัวริสต์จีน’ ชูแพ็คเกจ-คอนเทนต์ยั่วต่อมเที่ยว

3 กูรูไขรหัสกู้ยอด ‘ทัวริสต์จีน’  ชูแพ็คเกจ-คอนเทนต์ยั่วต่อมเที่ยว

กลยุทธ์ที่ธุรกิจท่องเที่ยวเคยใช้ก่อนโควิด...อาจใช้ไม่ได้หลังโควิด!

วิกฤตินี้มอบบทเรียนอันใหญ่หลวงแก่ภาคท่องเที่ยวไทยซึ่งถือครองสัดส่วน 18% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ซ้ำเติมปัจจัยลบรุมเร้าที่มีอยู่แล้ว ทั้งการถดถอยทางเศรษฐกิจ หนี้ท่วมโลก รวมถึงสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ภัยธรรมชาติกับปัญหามลพิษที่เกิดถี่ขึ้นทั่วโลก พอโรคระบาดรอบร้อยปีเข้ามาฉุดทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ประกอบการไม่รู้ว่าควรจะทำอย่างไรให้ธุรกิจไปรอดในสถานการณ์ “ความไม่แน่นอน” คือความแน่นอน

ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ฉายภาพว่า วิกฤติรอบนี้มีส่วนผสมของความไม่แน่นอน ต้องบริหารกระแสเงินสดและความเสี่ยงให้ดี ในภาวะที่ความสามารถด้านการทำรายได้หายไปอย่างสิ้นเชิง จากดีมานด์นักท่องเที่ยวไม่สมดุลกับซัพพลายโรงแรม เดิมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เคยคาดการณ์ว่าตลอดปี 2563 ไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคน แต่ล่าสุดได้ปรับคาดการณ์ว่ามาเต็มที่ปีนี้ก็ไม่เกิน 8 ล้านคน

กลุ่มดุสิตธานีจึงมองว่ารัฐบาลจำเป็นต้องหา “จุดสมดุล” ระหว่างการป้องกันโรคโควิด-19 ระบาดซ้ำในประเทศกับการมองบริบททางเศรษฐกิจ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อได้

ทั้งนี้ต้องปรับกลยุทธ์ด้วยการชูจุดขายที่ไม่ซ้ำใคร (Unique) ควบคู่กับมาตรฐานสุขอนามัย เพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยว อย่างตลาด “นักท่องเที่ยวจีน” ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่ง “รีแบรนด์” ภาคท่องเที่ยวไทย ด้วยการฉวยโอกาสที่ไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศมากว่า 60 วันเพื่อดึงชาวจีนมาเที่ยวไทยทันทีที่ผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทางข้ามประเทศ เนื่องจากประเทศในใจที่ชาวจีนสนใจไปเที่ยวหลังจบโควิดตอนนี้ อันดับ 1 คือญี่ปุ่น ส่วนไทยตามมาติดๆ ที่อันดับ 2

“เราต้องฉวยโอกาสนี้รีแบรนด์ประเทศไทยเพื่อช่วงชิงนักท่องเที่ยวจีนและประเทศอื่นๆ หลังไทยไม่มีผู้ติดเชื้อภายในประเทศนาน 2 เดือน ในช่วงที่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นคู่แข่งอันดับ 1 ยังมีรายงานพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศอยู่ ทั้งนี้มองว่าการทำทราเวลบับเบิลให้ทันภายในเดือน ก.ย.นี้น่าจะเป็นเรื่องยาก นักท่องเที่ยวจีนน่าจะกลับมาไทยช่วงตรุษจีนต้นปี 2564 เลย ไม่น่าทันช่วงโกลเด้นวีคหยุดยาววันชาติจีนเดือน ต.ค.นี้”

อลิสา พันธุศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทิฟฟานี่โชว์ พัทยา เล่าว่า ตลอด 46 ปีที่ผ่านมา ทิฟฟานี่โชว์ถือเป็นจุดหมายที่นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องมาชมสักครั้งเมื่อเยือนไทย เมื่อก่อนนักท่องเที่ยวหลักเป็นกรุ๊ปทัวร์ แต่พอพฤติกรรมเปลี่ยน นักท่องเที่ยวหันมาเดินทางด้วยตัวเอง (เอฟไอที) มากขึ้น ประกอบกับบริษัทฯสร้างแบรนดิ้งด้วยการจัดประกวดมิสทิฟฟานี่ ส่งผลให้มีลูกค้าเอฟไอทีมากขึ้นเป็น 70% โดยเป็นนักท่องเที่ยวจีนมากสุดถึง 50-70%

“แม้เผชิญวิกฤติมากมาย แต่นี่ถือเป็นครั้งแรกที่ต้องปิดให้บริการชั่วคราว ภายใต้โจทย์ที่ไม่สามารถลดคนได้ เพราะพนักงานส่วนใหญ่อยู่กันมามากกว่า 8 ปี และนักแสดงโชว์เปลี่ยนอาชีพยาก”

สิ่งที่บริษัทฯทำคือยังจ่ายเงินเดือนอยู่ แต่เปิดโอกาสให้ทำอาชีพเสริมด้วย พร้อมปรับตัวด้วยการผลิตคอนเทนต์เพื่อลงโซเชียลมีเดียทั้งในไทยและจีน ให้ลูกค้าเห็นความเคลื่อนไหวของแบรนด์ตลอด โดยกำลังมองเรื่องการ “ไลฟ์” ถ่ายทอดสดโชว์เพื่อเป็น “น้ำจิ้ม” ดึงผู้ชมในปีนี้ เพื่อไม่ให้ชื่อเสียงของทิฟฟานี่โชว์หายไปจากใจนักท่องเที่ยว และเตรียมการให้พร้อมรองรับการขายออนไลน์ในวันที่ไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง โดยในอนาคตอาจจะมี “ทัวร์หลังฉาก” ขายประสบการณ์แปลกใหม่เจาะลึกเบื้องหลังการทำโชว์ด้วย

ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด กล่าวว่า ไทยแอร์เอเชียบุกตลาดเส้นทางบินสู่ประเทศจีนเมื่อ 12-13 ปีที่แล้ว หลังเปิดให้บริการมานานกว่า 17 ปี ปัจจุบันขนผู้โดยสารชาวจีน 3-4 ล้านคนต่อปี เท่ากับว่าขนคน 1 ใน 3 ของตลาดจีนเที่ยวไทยทั้งหมด

สำหรับแผนการทำตลาดจีน แน่นอนว่าต้องร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งเอเย่นต์และเจ้าของแพลตฟอร์มท่องเที่ยวจีนทั้งหลาย เอา “คอนเทนต์” ของประเทศไทยนำเสนอให้ชาวจีนเห็นอย่างสม่ำเสมอและตลอดเวลา

และนอกจากชาวจีนจะชอบการชอปปิงแล้ว ยังชื่นชอบทะเลและอาหารทะเล ซึ่งทะเลไทยตอนนี้สวยมาก ธรรมชาติฟื้นกลับมา จึงได้มอบหมายให้ทีมงานนำเสนอคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับทะเลและธรรมชาติสื่อสารให้ชาวจีนเห็นว่าไทยน่าเที่ยวกว่าก่อนโควิดระบาดเสียอีก

“ผมจึงเชื่อว่าถ้าไทยเราเปิดน่านฟ้าเมื่อไร คนจีนพร้อมมาเที่ยวไทยแน่นอน ตอนนี้เรียกได้ว่ารออยู่ตรงจุดสตาร์ทพร้อมวิ่งแล้ว รอแค่เสียงปืนดังส่งสัญญาณให้ออกตัวเท่านั้น” ธรรศพลฐ์กล่าว