ทางรอดของ 'สตาร์ทอัพ' ยุคหลังโควิด
วิกฤติโควิด-19 ซ้ำเติมกลุ่มสตาร์ทอัพไทย จากที่ต้องเผชิญความท้าทายหลายด้าน และอาจมีเพียงไม่กี่รายที่จะอยู่ในรอด วันนี้หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ยิ่งทำให้หลายรายเริ่มทยอยแลนดิ้งแล้ว เนื่องไม่มีนักลงทุน โจทย์ใหญ่คือทางรอดของสตาร์ทอัพไทยคืออะไร?
ธุรกิจในประเทศไทยในยุคโควิดต้องการประสิทธิภาพ โดยนำเอาดิจิทัลเข้ามาใช้ในธุรกิจ ผมได้พูดคุยกับน้องๆ สตาร์ทอัพในช่วงก่อนโควิดได้ทราบว่าธุรกิจสตาร์ทอัพไทยหลายรายน่าจะอยู่ได้อีกไม่นาน และสถานการณ์หลังโควิดหลายคนเริ่มทยอยแลนดิ้งแล้ว เพราะไม่มีนักลงทุน บางคนปิดกิจการ บางคนลดขนาดตัวเองลง เริ่มหาทางรอดตาย หาทางที่จะหารายได้อย่างเร็วที่สุด
ตอนนี้ภาครัฐเองก็ทำหลายนโยบาย มีการตั้งกองทุนขึ้นมาซึ่งเป็นการรวมตัวของบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศไทย เช่น กลุ่ม ปตท. CP ไทยเบฟ ฯลฯ เอาเงินมาลงเป็นกองทุนหนึ่งขึ้นมาชื่อว่า InnoSpace และเริ่มอัดเม็ดเงินเพื่อลงไปช่วยสตาร์ทอัพในประเทศไทยแล้ว เป็นทางออกสำหรับคนที่จะแลนดิ้งธุรกิจ ให้สามารถออกเป็นหุ้นกู้แปลงสภาพได้หรือ Convertible Debenture ง่ายๆ คือสามารถขายหุ้นให้กับคนทั่วไปได้
ตรงนี้ทำให้สามารถขายหุ้นให้กับนักลงทุนได้ แต่จะเป็นเหมือนเงินกู้ นักลงทุนสามารถแปลงสภาพเงินกู้เป็นหุ้นได้ในอนาคต ผมมองดูแล้วว่าจะเป็นการเปิดทางให้คนทำธุรกิจที่ไม่จำเป็นแต่สตาร์ทอัพเท่านั้น สามารถมีวิธีการรูปแบบใหม่ในการระดมเงินเข้ามาในธุรกิจได้ง่ายมากขึ้น
ทั้งนี้ ข้างต้นอาจเป็นมุมของสตาร์ทอัพในการหาทางรอด แต่ในมุมของคนที่ทำธุรกิจอยู่แล้วและต้องการลงทุน ทั้งสองกลุ่มนี้เหมือนอยู่ละโลก แต่จะทำอย่างไรให้ทั้งสองโลกมาเจอกันได้
ผมว่าธุรกิจในประเทศไทยโดยเฉพาะยุคโควิดต้องการ efficiency หรือประสิทธิภาพ ต้องการเอาดิจิทัลเข้ามาใช้ในธุรกิจ แต่ไม่รู้จะหามาได้อย่างไร ทุกท่านคงอยากหาคนทำเทคโนโลยีแต่ไม่มีคนทำ โดยเฉพาะผู้ใหญ่หลายๆ คน ในขณะที่อีกโลกหนึ่งของเด็กๆ ทำได้ทุกอย่างที่ว่ามาแต่ไม่มีทุน สตาร์อัพไทยมีเทคโนโลยีดีๆ แต่ขาดคนแมทช์
อย่างไรก็ดี ในแง่ของผู้ใหญ่ที่ทำธุรกิจอยู่อาจต้องออกแรงมากขึ้นเพื่อเข้าถึงน้องๆ อีกวงการหนึ่ง และเช่นเดียวกัน น้องๆ ในวงการสตาร์ทอัพก็ต้องพยายามกระโดดเข้ามาหาพี่ ๆ ให้มากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน เมื่อสองคนมาบรรจบเข้าด้วยกันก็จะเป็นการรวมตัวกันที่ลงตัว พี่ๆ มีเงินต้องการเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย น้องๆ เองไม่มีเงินแต่มีเทคโนโลยี นั่นคือต้องหาให้เจอ
การลงทุนในสตาร์ทอัพช่วงเริ่มต้นใหม่ใช้เงินไม่เยอะ ส่วนใหญ่จะเอาไปใช้กับการจ้างคนเป็นหลัก บางธุรกิจใช้เงินแค่หลักแสนเท่านั้น หรือ 1-2 ล้านบาทขึ้นอยู่กับธุรกิจตอนนั้นว่าเขาโตแล้วหรือยัง การลงทุนราคาถูกในตอนเริ่มต้น ข้อดีคือเราลงทุนไม่แพง แต่จุดอ่อนคือโอกาสล้มเหลวมีสูง
ฉะนั้น ถ้าหากเราสามารถเข้าไปช่วยเขาได้ในจุดที่เราเก่งมันจะกลายเป็นการร่วมงานที่ดี ทำให้ยุคหลังโควิดผมว่าจะไม่ค่อยเจอแล้วที่ต้องใช้เงินถึง 20-30 ล้านบาท แค่หลักแสนหรือล้านเดียวคุณก็สามารถหาบริษัทประเภทที่ต้องการได้แล้ว หรือถ้าเคยอยากลงทุนในสตาร์ทอัพบางตัวก่อนหน้าโควิด ผมแนะนำว่าลองโทรไปหาอีกที ตอนนี้ราคาจะลงไปอีกเยอะเลยจริงๆ การลงทุนในบริษัทเทคโนโลยี เทคสตาร์ทอัพ นอกจากจะได้ช่วยเหลือน้องๆ สตาร์ทอัพไทยแล้วยังเป็นทางเลือกในการลงทุนที่น่าสนใจอีกทางหนึ่งครับ