'สมชาย แสวงการ' ถาม! คดี 'บอส อยู่วิทยา' พยานตาย ทำไมตำรวจไม่เร่งผ่าพิสูจน์
"สมชาย แสวงการ" โพสต์ถาม พยานคดี 'บอส อยู่วิทยา' เสียชีวิตมีเงื่อนงำ ทำไมตำรวจไม่เร่งอายัดผ่าศพพิสูจน์
เกี่ยวกับคดีของ นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ "บอส อยู่วิทยา" ซึ่งเกิดอุบัติเหตุ ขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจสน.ทองหล่อ เสียชีวิต เมื่อปี 2555 และคดียืดเยื้อมาหลายปี กระทั่งล่าสุด อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องคดีทุกข้อกล่าวหาและได้ถอนหมายจับแล้ว ขณะที่สังคมเต็มไปด้วยความคลางแคลงใจในหลายๆ ประเด็นนั้น
ล่าสุดยิ่งร้อนแรงขึ้น เมื่อพยานปากเอก นายจารุชาติ มาดทอง ตัวเปลี่ยนเกม ผู้ให้การเป็นประโยชน์แก่ "บอส อยู่วิทยา" ได้เสียชีวิตกะทันหันจากอุบัติเหตุ ที่ จ.เชียงใหม่ โดยนายจารุชาติ ได้ให้การเกี่ยวกับความเร็วของรถที่นายวรยุทธ ขับในขณะเกิดเหตุว่า ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จนกลายเป็นผลบวกแก่นายวรยุทธ และนำมาสู่การสั่งไม่ฟ้องของอัยการที่กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ถกเถียงและจับตาในวงกว้าง
โดยวันนี้ (1 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ได้โพสต์บนเฟซบุ๊คส่วนตัว สมชาย แสวงการ มีข้อความว่า..
กลิ่นตุตุ จุดเริ่มต้นวิ่งเต้นพลิกหลายคดีจากทีมเชียงใหม่ คดีอ้อ/โอ้ค/บอส พยานปากเอก ตายมีเงื่อนงำที่นั่น เหตุใดตำรวจไม่เร่งอายัดผ่าศพพิสูจน์
โดยก่อนหน้านี้ นายสมชาย ได้แสดงความเห็น เกี่ยวกับคดีของ นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ "บอส อยู่วิทยา" ใจความว่า
#เร่งทำความจริงให้ปรากฎต้องตรวจพิสูจน์ความเร็วรถใหม่
#เพราะความเร็วที่แท้จริงคือคำตอบในข้อสงสัยของปมพลิกคดี?
#เร่งนำคดีกลับคืนขึ้นศาลคือหนทางคืนความยุติธรรมให้สังคมไทย
เพื่อให้เกิดการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนแท้แน่นอน จำเป็นที่คณะกรรมการชุดพิเศษที่ท่านนายกรัฐมตรีตั้งขึ้น นำโดยศาตราจารย์ วิชา มหาคุณ อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา อดีตกรรมการปปช ที่ได้รับความยอมรับอย่างยิ่งในฝีมือ และคณะกรรมการอีก9คนที่มีองค์ประกอบที่น่าเชื่อถือและยอมรับในสังคม อาทิ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬา ธรรมศาสตร์ รามคำแหง ประธานคณะกรรมการปฏิรูปด้านกฎหมายและด้านกระบวนการยุติธรรม นายกสภาทนายความ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขากฤษฎีกา ฯลฯ จะได้จัดให้มีการตรวจพิสูจน์ข้อเคลือบแคลงสงสัยเรื่องความเร็วรถเฟอรร์รารี่ดังกล่าว ที่แตกต่างกันอย่างยิ่งระหว่างในคำนวนของความเร็วของรถยนต์เฟอรร์รารี่ที่เดิมเจ้าหน้าที่ตำรวจอาศัยอ้างอิงจากอาจารย์คณะวิทยาศาตร์ จุฬาฯในการคำนวนไว้ที่ความเร็ว177กม/ชม พลิกเปลี่ยนไปเชื่อการคำนวนใหม่ของอาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ที่ความเร็วลดลงอยู่ที่76-79กม/ชม เป็นการเปลี่ยนลดความเร็วต่างกันเกือบ100กมต่อชม ทำให้เกิดการพลิกคดี?
จึงต้องพิสูจน์ทางวิทยาศาตร์ให้หายสงสัยจนสิ้นกระแสความ ว่า ความเร็วที่แท้จริงคือกี่กิโลเมตรต่อชั่วโมงแน่?
โดยกรรมการอาจตั้งเป็นคณะทำงานที่ประกอบด้วย ตัวแทนภาคส่วนที่น่าเชื่อถือเป็นกลาง อาทิ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย สมาคมวิศวกรรมยานยนต์ไทย สมาคมฟิสิกส์ไทยสถาบันยานยนต์ไทย สมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทยเข้าร่วมเป็นคณะทำงานตรวจพิสูจน์และคำนวนความเร็วใหม่อย่างตรงไปตรงมา พร้อมแถลงผลให้สื่อมวลชนและสังคมไทยได้ทราบเพื่อหายข้อข้องใจ
และหากพบว่าความเร็วที่ตรวจพิสูจน์ใหม่มีความแตกต่างจากในสำนวนที่สั่งไม่ฟ้องนั้น ย่อมเป็นเหตุที่จะถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของพยานหลักฐานใหม่ที่นำไปสู่การที่จะสั่งฟ้องคดีใหม่ได้อีกครั้งตามกฎหมาย
นักกฎหมายชั้นนำระดับปรมาจารย์ของไทยท่านหนึ่งให้ความเห็นและตัวอย่างการพิจารณาคดีแบบนี้ในสหรัฐอเมริกา ในเรื่องนี้ต่อผมไว้อย่างน่าสนใจครับ
“ศาลในหลายมลรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะแถบ New England ทางตะวันออกเฉียงเหนือ อนุญาตให้ใช้ app. ชื่อ animation-at-law ทำภาพสามมิติย้อนกลับพิสูจน์ความเร็วของรถยนต์ ทุกรุ่นจากสภาพรอยเบรค(ถ้ามี)กับภาพความเสียหายสุดท้ายย้อนกลับตามลำดับ ในรูปของเศษเสี้ยววินาทีแสดงผลความเร็วของรถให้เห็นในขณะที่เกิดเหตุกลับย้อนไป จนถึงภาพแรกที่จับภาพรถได้ ได้ผลความเร็วของรถใกล้เคียงที่สุด “
“พยานผู้เชี่ยวชาญต้องตอบถามของทนายความทั้งสองฝ่าย ในเรื่องประสบการณ์ ทฤษฎี วิธีการคำนวณ ความน่าเชื่อถือ ความละเอียดฯลฯ ในการเบิกความชี้แจงต่อศาล โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เขาใช้กันนั้นมีความละเอียดสูง เป็นภาพเสมือนจริงทุกขั้นตอน ทนายความมีโอกาสถามค้านเพียงเรื่องระบบและโปรแกรมที่ใช้เขียนเท่านั้น โอกาสทำลายน้ำหนักพยานน้อยกว่าพยานผู้เชี่ยวชาญ จึงเป็นที่นิยมของการค้นหาความจริงของอุบัติเหตุรถยนต์ ความน่าเชื่อถือทั้งหมดสุดท้ายจึงไปอยู่ที่ดุลยพินิจของศาลว่า
พยานผู้เขี่ยวชาญกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์อะไรตอบโจทย์ได้น่าเชื่อถือกว่ากันครับ”
นอกจากนั้นคณะกรรมการควรเปรียเทียบตรวจพิสูจน์ความเร็วจากกับข้อมูลที่ได้การตรวจกล่อง ECU (อีซียู) ชื่อเต็มคือ Electronic Control Unit มีพื้นฐานมาจากคอมพิวเตอร์ กล่องสมองกลนี้ทำหน้าที่รับข้อมูลจากเซ็นเซอร์ต่างๆ เพื่อนำมาประมวลผล ใช้ในการควบคุมการสั่งจ่ายเชื้อเพลิงและการจุดระเบิดของเครื่องยนต์ ให้ทำงานได้มาตรฐานด้านมลภาวะสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจควรตรวจพยานหลักฐานนี้ไว้ตั้งแต่ต้น. ซึ่งจะสามารถนำคำนวนความเร็วรถได้อย่างแม่นยำคล้ายกับกล่องดำในเครื่องบินในรถยนต์ทั้วไปมีโดยเฉพาะรถหรูอย่างเฟอรร์รารี่คันนี้มีอยู่อย่างแน่นอนครับ