เรื่องใหญ่! 'กองปราบฯ' ลุยเชียงใหม่ สอบปม 'จารุชาติ' ตายผิดธรรมชาติ
ผบ.กองปราบปราม ส่งทีมลงพื้นที่เชียงใหม่ ไล่ตรวจกล้องวงจรปิดอย่างละเอียด ก่อน-หลังเกิดเหตุ เพื่อหาสาเหตุการตาย “จารุชาติ มาดทอง” พยานคนสำคัญคดีทายาทนักธุรกิจชื่อดัง ขณะที่ "วิชา มหาคุณ" ตั้งข้อสงสัย "ตายผิดธรรมชาติ" หรือไม่
ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการอายัดศพ นายจารุชาติ มาดทอง อายุ 40 ปี หนึ่งในพยานคนสำคัญคดีที่สำนักงานอัยการสูงสุดไม่สั่งฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทนักธุรกิจชื่อดัง ขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555 โดยให้เจ้าหน้าที่อายัดศพ เพื่อนำกลับมาชันสูตรพลิกศพสืบหาการเสียชีวิตอย่างละเอียด รอบคอบ เพื่อไม่ให้เป็นข้อกังขาของประชาชน
ล่าสุด วันนี้ (2 สิงหาคม) พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช ผู้บังคับการกองปราบปราม เปิดเผยว่า ได้ให้ พ.ต.อ.ปทักษ์ ขวัญนา ผู้กำกับการกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปราม ลงพื้นที่เกิดเหตุโดยจะต้องทำการตรวจสอบที่เกิดเหตุอย่างละเอียด พร้อมกับมีการไล่กล้องวงจรปิดย้อนไปก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ รวมถึงจะต้องนำตัวพยานที่อยู่ในเหตุการณ์ทั้งหมด มาสอบสวนอย่างละเอียด
ขณะนี้ทางกองปราบฯ ยังไม่ระบุแน่ชัด หรือตั้งประเด็นไปในทิศทางใด ไม่ว่าจะเป็นฆาตกรรมหรืออุบัติเหตุ ส่วนศพที่ถูกอายัดจะให้ทาง ผู้บังคับการตำรวจภูธร จังหวัดเชียงใหม่เป็นผู้พิจารณาและตัดสินใจว่าจะมีการนำศพผ่าชันสูตรที่ไหน ระหว่างที่เชียงใหม่ หรือจะนำมาที่ นิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งเรื่องนี้จะต้องมีการหารืออย่างละเอียดอีกครั้ง
รายงานข่าวแจ้งว่า สาเหตุที่ ต้องผ่าชันสูตร ศพ เนื้องจาก มีร่องรอยผิดปกติหลายอย่าง และเป็นการเสียชีวิตผิดธรรมชาติ
ด้าน นายวิชา มหาคุณ ประธาน คณะกรรมการฯ เปิดเผยว่า ได้เสนอกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งอายัดศพ นายจารุชาติ มาดทอง หนึ่งในพยานปากสำคัญในคดีของนายวรยุทธ อยู่วิทยา เพื่อนำกลับมาชันสูตรเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง
ตามกำหนดการญาติจะมีการฌาปนกิจศพ ในวันนี้ (2 สิงหาคม) แต่การเสียชีวิตอย่างกระทันหันทำให้มีการตั้งข้อสังเกตจากประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย ว่าอาจเป็นการเสียชีวิตผิดธรรมชาติ และสังคมยังมีความเคลือบแคลงสงสัย
นายวิชา ระบุอีกว่า จะมีการประชุมคณะกรรมการฯ ที่มีผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 10 คน นัดแรก ในวันพรุ่งนี้ (3 ส.ค.) เวลา 15.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยเบื้องต้นจะฟังเสียงของผู้ทรงคุณวุฒิว่ามีข้อคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้เพื่อนำไปสู่การเรียกบุคคลเข้ามาชี้แจง และจะได้มอบนโยบายได้ถูกต้อง
"การทำงานตามกรอบ 30 วัน ของคณะกรรมการชุดนี้ จะต้องดูให้รอบคอบ หากคณะกรรมการชุดนี้ตรวจสอบคดีเฉยๆ ก็คิดว่า 30 วันคงจะเพียงพอทำให้สังคมเกิดความเชื่อถือและเชื่อมั่นในระบบกระบวนการยุติธรรมไทย แต่ถ้าเรามีความจำเป็นจะต้องเสนอแนะ ที่เป็นประโยชน์ อาจต้องใช้ระยะเวลาต่อ แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะต้องรายงานเสนอต่อนายกรัฐมนตรีทุก 10 วัน"
ส่วนความคาดหวังของสังคมนั้น เมื่อมาอยู่ในจุดที่ต้องรับผิดชอบก็เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมมีความเสื่อมทรุดไปกว่าเดิม โดยอาจจะมีเรื่องของผลประโยชน์เงินและอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้อง ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในทุกชาติ ซึ่งถึงจุดเวลาที่จะต้องยกเครื่อง และการทำงานใหม่ สังคมก็ต้องเข้าใจในจุดนี้ด้วย เนื่องจากเราได้ปล่อยปละละเลยเรื่องนี้มานานพอสมควร อีกทั้งบ้านเมืองก็มีการเปลี่ยนแปลง จะทำแบบเดิมคงไม่ได้แล้ว ความคิดของผู้คนก็เปลี่ยนไป
นายวิชา ยอมรับว่า ประเทศไทยปฏิรูปมาหลายครั้งแล้ว แต่ก็ยังไม่เกิดผลเป็นรูปธรรมหรือเรียกว่าปฏิวัติหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ ซึ่งเวลาแล้ว จะต้องเอาจริงเอาจังกับระบบกระบวนการยุติธรรมไทย,เพราะถึงขนาดนายกรัฐมนตรีสั่งการ รวบรวมความคิดจากผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ รวมถึงคดีความมาเป็นแม่แบบ หรือต้องถอดบทเรียน หากปล่อยทิ้งไป เมื่อคณะกรรมการชุดนี้ไปนั่งสอบเฉยๆ จะทำให้เกิดความเสียหายเวลา
"หากจะขออะไรที่นายกรัฐมนตรีสามารถทำได้เพื่อประชาชน คณะกรรมการชุดนี้ก็จำเป็นจะต้องทำ"
ส่วน กรณีที่พยานปากสำคัญ 1 ใน 2 พยานที่เสียชีวิตกะทันหันน้ำนายวิชาระบุว่า เรื่องนี้จะต้องดูให้รอบคอบ และลึกลงไปในรายละเอียดและลึกลงไปในรายละเอียดโดยเฉพาะจะต้องตรวจสอบที่มาที่ไปอย่างละเอียดด้วย สรุปเบื้องต้นจะต้องดำเนินการ ให้ถูกต้องตามกระบวนการหากเสียชีวิตโดยผิดปกติหรือผิดธรรมชาติ แต่ตนตั้งข้อสังเกต ผู้เสียชีวิตเสียชีวิตมีการตายแบบผิดธรรมชาติ จึงต้องให้มีการไต่สวนชันสูตรพลิกศพว่าคดีนี้ว่าเกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าวหรือไม่อย่างไร เพราะมันอยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอยู่แล้ว เว้นแต่จะไม่ทำเท่านั้น ความเชื่อว่าหากไม่ทำเรื่องนี้ให้เกิดความสงสัยจะทำให้เกิดปัญหาแน่นอน