ส่อง 4 ปัจจัยที่ทำให้ 'ราคาทอง' ถูกหรือแพง
ส่อง 4 ปัจจัยสำคัญ ที่มีผลทำให้ "ราคาทอง" พุ่งหรือร่วง หลังทองรูปพรรณทะลุ 30,000 บาทเป็นคร้ังแรกในประวัติศาสตร์ไทย พร้อมทำความรู้จักกับผู้มีหน้าที่ "กำหนดราคาทอง" ไทย ที่หลายคนอาจยังไม่เคยรู้
"ราคาทอง" พุ่งทะลุ 30,000 บาท นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย โดยข้อมูล ราคาทองวันนี้ ประจำวันที่ 6 ส.ค. 63 เวลา 12.47 น. (ครั้งที่ 4) ทองคำแท่ง 96.5% ขายออก 30,000.00 รับซื้อ 29,900.00 ส่วนทองรูปพรรณ 96.5% ขายออก 30,500.00 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นตามราคาทองคำโลกที่ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์รอบใหม่ (อ่านข่าว : 'ราคาทอง' ทำนิวไฮต่อเนื่อง ใกล้แตะ 2,050 ดอลล์)
ราคาทองคำที่ขึ้นๆ ลงๆ เกิดขึ้นจากอะไรกันแน่? "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" พาไปไขข้อสงสัย และทำความรู้จักกับ 4 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาทองพุ่งสูงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และปัจจัยโดยรวมที่เกี่ยวข้องกับตัวเลขราคาทองในประเทศไทยที่เปลี่ยนแปลงขึ้นและลงในสถานการณ์ต่างๆ โดย "สมาคมค้าทองคำ" ระบุถึงตัวแปรที่สำคัญในการกำหนดราคาทองของไทย สามารถสรุปได้ 4 ประการดังนี้
1. ราคาทองต่างประเทศ (Gold spot)
2. อัตราค่า Premium (ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการนำเข้า/ส่งออกทองคำ)
3. ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
4. Demand และ Supply ของทองคำภายในประเทศ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- 'ราคาทองวันนี้' ทะลุ 3 หมื่นบาท ครั้งแรกในประวัติศาสตร์
- 'ทองปลอม' VS 'ทองแท้' ดูยังไง ไม่ให้โดนหลอก
- 'ราคาทอง' ทะลุ 2,000 ดอลลาร์ ครั้งแรกในประวัติศาสตร์
1. ราคาทองต่างประเทศ (Gold spot)
เป็นราคาอ้างอิงทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งยังไม่ได้มีการบวก หรือลบค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงในการส่งมอบทองคำ เป็นการซื้อขายทองคำที่ไม่มีการส่งมอบ ซึ่งหากท่านพิจารณาดูราคา Gold spot จะเห็นว่ามีทั้งฝั่ง Bid (ราคารับซื้อ) และ Ask (ราคาขายออก)
ในการซื้อทองคำจากต่างประเทศนั้น ผู้ขายจะใช้ราคา Ask ในการคำนวณ ส่วนเมื่อเราขายกลับไปยังผู้ค้าทองคำต่างประเทศ จะใช้ราคา Bid ในการคำนวณ ดังนั้นทางสมาคมเองก็เช่นกัน ในการกำหนดราคาทองภายในประเทศก็ต้องคำนึงถึงเรื่องดังกล่าวนี้ด้วย ว่าสภาวะตลาดทองคำภายในประเทศเป็นเช่นไร เช่นมีความต้องการซื้อทองคำอย่างมากก็ต้องนำเข้าทองคำ หรือหากมีความต้องการขายทองคำจำนวนมากก็ต้องส่งออก เป็นต้น
2. อัตราค่า Premium (ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการนำเข้า/ส่งออกทองคำ)
เมื่อมีความต้องการซื้อทองคำจำนวนมากจากผู้สนใจลงทุนในทองคำ และปริมาณทองคำภายในประเทศมีไม่เพียงพอ ร้านค้าทองจึงจำเป็นต้องอาศัยการนำเข้าทองคำจากต่างประเทศ ซึ่งก็คือการซื้อจากผู้นำเข้า ซึ่งผู้นำเข้าก็ต้องซื้อต่ออีกทอดหนึ่งจากผู้ค้าในต่างประเทศ โดยจะมีการคิดค่า Premium (พรีเมียม)
ค่า Premium ก็คือค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อที่นำเข้า หรือส่งออกทองคำ รวมถึงค่าขนส่ง ค่าความเสี่ยง ดอกเบี้ยธนาคาร ค่าประกันภัยต่างๆ ซึ่งถูกกำหนดมาโดยผู้ค้าทองในต่างประเทศ ซึ่งเรียกง่ายๆ ว่าเป็นต้นทุนในการนำเข้าทองคำจากต่างประเทศเข้ามาขายผู้บริโภคในไทยนั่นเอง
โดยในการคำนวนจะนำราคา Spot บวกค่า Premium ดังกล่าวนี้เข้าไปด้วย ซึ่งในทางกลับกัน เมื่อมีประชาชนมาขายทองคำแท่ง คืนให้กับร้านทองจำนวนมากๆ ร้านทองจำเป็นต้องทำการขายกลับคืนมาให้กับบริษัทผู้นำเข้า และผู้นำเข้าก็จะทำการขายคืนกลับไปให้กับผู้ค้าทองในต่างประเทศอีกทอดหนึ่ง ซึ่งในจุดนี้ต่างประเทศจะใช้ราคา Spot ฝั่ง Bid และหักลบค่าใช้จ่าย Premium ซึ่งในฝั่งขายออกนี้จะเรียกว่า Discount สำหรับสภาวะปกติค่า Premium หรือ discount จะอยู่ที่ +1 ถึง 2 เหรียญต่อออนซ์
แต่ในสภาวะผิดปกติ การที่ราคาทองคำในต่างประเทศปรับตัวขึ้นหรือลงอย่างมาก และรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น จะทำให้มีความต้องการซื้อทองคำจากทุกประเทศในโลกพร้อมๆ กัน ทำให้มี Demand (ความต้องการซื้อ) ในตลาดโลกมาก เกิดการแย่งซื้อ ส่งผลให้มีการปรับขึ้นลงค่า Premium และ Discount จากผู้ค้าในต่างประเทศอย่างรวดเร็วและรุนแรงมากเช่นกัน
3. ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ค่าเงินบาทในการคำนวณราคาทองในประเทศ จะใช้อัตราการโอนเงินระหว่างประเทศ ซึ่งมีการเปลี่ยนกันอยู่ตลอดเวลา เช่นเดียวกัน Gold spot และมีการใช้ราคาในฝั่ง Bid (ราคารับซื้อ) และ Ask (ราคาขายออก) เช่นเดียวกัน
4. Demand และ Supply ภายในประเทศ
"คณะกรรมการควบคุมราคาทอง" ของสมาคมฯ นอกจากจะพิจารณาราคา Gold Spot / ค่า Premium และค่าเงินบาท ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาแล้ว ยังต้องคำนึงถึงปัจจัย Demand/ Supply ภายในประเทศด้วยเป็นหลัก เพื่อที่จะตัดสินใจประกาศราคาทองคำภายในประเทศ ณ ช่วงเวลานั้นๆ โดยคณะกรรมการกำหนดราคาทั้ง 5 ท่าน จะพิจารณาจากปริมาณ และราคาจากการซื้อขายระหว่าง
4.1 ผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออกทองคำ
4.2 ร้านค้าทองเยาวราช
4.3 ร้านค้าส่งทองคำ
4.4 ร้านค้าปลีกทองคำ
4.5 ผู้ลงทุนทองคำรายใหญ่
4.6 ผู้ลงทุนทองคำรายย่อย
กล่าวคือ ไม่ใช่ว่าร้านทองจะซื้อขายกับประชาชนผู้สนใจลงทุนในทองคำเพียงฝ่ายเดียว แต่ยังมีภาคส่วนอื่นๆ ที่มีการซื้อและขายทองคำด้วยกันเองตลอดเวลาด้วย ซึ่งการซื้อขายของร้านค้าทองด้วยกันเองนั้นจะมีปริมาณที่มากกว่าการซื้อขายกับผู้ลงทุนทั่วไปหลายเท่าตัว
เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าสมาคมฯ ประกาศราคาทองคำสูงหรือต่ำกว่าความเป็นจริงจากตลาดต่างประเทศมากไป ร้านทองด้วยกันเองจะมีการวิ่งเข้าหาซื้อหรือเทขายกันเอง ส่งผลให้สมาคมฯ ต้องปรับราคาให้เหมาะสมในที่สุด เพื่อสะท้อนถึงความต้องการทองคำของตลาดตามความเป็นจริง ตามกฎของ Demand / Supply กลไกของตลาดดำเนินการไปด้วยตัวของมันเอง
เช่น หากราคาทองของสมาคมฯ ประกาศต่ำกว่าตลาดโลกมาก ก็จะมีกลุ่มผู้ตระเวนซื้อทองรูปพรรณเก่าตามร้านทองทั่วประเทศ และขายทองให้ผู้ส่งออกต่างประเทศได้ส่วนต่างผลกำไรโดยตรง โดยไม่ผ่านร้านทองทำให้ร้านทองเสียรายได้ส่วนนี้ไปอย่างเห็นได้ชัด หรือหากมีการกำหนดราคาที่สูงกว่าราคาตลาดโลกมาก ก็จะมีผู้นำเข้าทองนำทองมาขายให้ร้านทองโดยทันทีเช่นกัน เนื่องจากได้กำไรจากส่วนต่างที่มากนั้นจูงใจ
ดังนั้น การที่ผู้สนใจลงทุนในทองคำดูราคา Gold spot จาก Website ต่างประเทศ แล้วนำมาคำนวณตามสูตรตรงๆ ก็จะได้ราคาที่ไม่สะท้อนความเป็นจริงในการซื้อขายที่มีการส่งมอบทองจริง
ราคา "ทองคำ" ไทย ใครเป็นผู้กำหนด ?
การ "กำหนดราคาทอง" ของไทย ประกอบด้วยหลายปัจจัยตามที่กล่าวไปแล้วในข้างต้น โดยผู้ที่กำหนดราคาทองคำไม่สามารถทำได้โดยใครคนใดคนหนึ่ง แต่จะมี "คณะกรรมการควบคุมราคาทองของสมาคมค้าทองคำ" คอยดูแลตลอดช่วงเวลาการซื้อขาย โดยยึดถือ "หลักประชาธิปไตย" ในการกำหนดราคาทองคำ ถือเสียงส่วนมาก 3 ใน 5 เสียงในการตัดสินใจ ซึ่งคณะกรรมการประกอบไปด้วยคณะกรรมการจาก
1. ห้างทองจินฮั้วเฮง
2. ห้างทองฮั่วเซ่งเฮง
3. ห้างทองเลี่ยงเส็งเฮงพาณิชย์
4. ห้างทองหลูชั้งฮวด
5. ห้างทองแต้จิบฮุย
ราคาทองคำสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม ซึ่งการกำหนดราคาทองของสมาคม จะอ้างอิงจากราคา Gold Spot บวกหรือลบค่า Premium จากผู้ค้าทองในต่างประเทศ ซึ่งเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ว่าเป็นสภาวะการนำเข้า หรือการส่งออก แล้วจึงนำมาคำนวณกับค่าเงินบาท จากนั้น จะทำการแปลงหน่วยน้ำหนักจากหน่วย ounze (ออนซ์) ให้เป็นหน่วยน้ำหนักของไทย คือ บาท โดยการตัดสินใจประกาศราคาทองในประเทศแต่ละครั้งนั้น ทางสมาคมจะต้องพิจารณาองค์ประกอบของ Demand (ความต้องการซื้อ)
ปัจจัยบวก หนุน "ทองคำ" ครึ่งหลังปี 2563
ณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด (GBS) เคยให้ข้อมูลกับ "กรุงเทพธุรกิจ BizWeek" โดยคาดการณ์ว่าช่วงครึ่งปีหลัง 2563 ราคาทองคำยังเป็น "ขาขึ้น" ต่อเนื่อง โดยเฉพาะได้รับแรงหนุนจากการเข้าซื้อทองคำอย่างต่อเนื่องของ กองทุน SPDR หรือ SPDR Gold Trust รวมทั้งความกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีตัวเลขผู้ติดเชื้อในหลายประเทศยังอยู่ในอัตราสูง โดยเฉพาะสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม "ปัจจัยบวก" ที่มีผลต่อราคาทองคำให้อยู่ในทิศทางขาขึ้นนั้น คือ "ความเสี่ยงจากการระบาดรอบ 2" ของ COVID-19 ที่จะกดดันเศรษฐกิจถดถอยต่อเนื่อง "การผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารสหรัฐ (เฟด)" ทั้งนโยบายการทำ QE แบบไม่จำกัดวงเงิน และการส่งสัญญาณดำเนินนโยบายดอกเบี้ยระดับต่ำที่ 0-0.25% ไปจนถึงปี 2565 "สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน" ที่อาจจะมีความรุนแรงขึ้นอีก
รวมทั้ง "ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์" ทั้งชายแดนจีน-อินเดีย สหรัฐ-อิหร่าน คาบสมุทรเกาหลี รวมถึงประเด็นการเลือกตั้งสหรัฐ และ "กองทุนทองคำขนาดใหญ่" ทั้ง SPDR -ธนาคารกลางต่างๆ ถือครองทองคำเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยบวกทั้งหมดถือว่าเป็นปัจจัยที่หนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นได้อีก
อย่างไรก็ตาม หากสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้อาจจะส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงเช่นกัน แต่ตราบใดที่ปัจจุบันนักลงทุนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์การระบาดของไวรัส ก็จะยังคงมองหาการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่าง "ทองคำ" ต่อไป
ที่มา: สมาคมค้าทองคำ