เมื่อไทยต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษี : จาก FATCA ถึง CRS

เมื่อไทยต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษี : จาก FATCA ถึง CRS

ทำความเข้าใจ การแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีคืออะไร? และการที่ไทยเข้าร่วมพันธกรณี ทั้งความตกลง FATCA ของสหรัฐ และกรอบความร่วมมือ OECD ตามมาตรฐานการแลกเปลี่ยนแบบ CRS ของฝั่งองค์กรระหว่างประเทศนั้น มีความสำคัญต่อไทยอย่างไร?

หลายประเทศมองว่า “หนึ่งในสาเหตุของการหลบเลี่ยงภาษี เพราะรัฐไม่สามารถมองเห็นรายได้ที่แท้จริงของคนชาติตนที่เก็บไว้ในประเทศอื่นได้” อันเป็นที่มาของการสูญเสียรายได้ของภาครัฐอย่างมีนัยสำคัญ

ดังนั้น ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จึงเห็นการผลักดันในเรื่อง “แลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีระหว่างประเทศ” ทั้งจากสหรัฐอเมริกาภายใต้ความตกลง FATCA และจากองค์กรระหว่างประเทศภายใต้กรอบความร่วมมือ OECD ตามมาตรฐานการแลกเปลี่ยนแบบ CRS (Common Reporting Standard) ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าร่วมพันธกรณีกับทั้งสองความตกลง

การแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีคืออะไร? คือ การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินของผู้เสียภาษี เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจของกรมสรรพากรประเทศนั้นๆ ที่จะตรวจสอบได้ เพราะได้ถูกนำไปเก็บไว้ที่สถาบันการเงินในต่างประเทศ เช่น นาย A ชาวสหรัฐ ได้ลงทุนและมีเงินได้เก็บไว้ในบัญชีของธนาคารที่ตั้งอยู่ในไทย ดังนั้น แม้ว่าสหรัฐจะมีข้อกำหนดให้คนสหรัฐมีหน้าที่ยื่นเสียภาษีทุกปี แม้ในปีนั้นจะไม่ได้อาศัยอยู่ในสหรัฐเลยก็ตาม แต่เงินของนาย A ที่อยู่ในธนาคารไทยก็ยากต่อการตรวจสอบของกรมสรรพากรสหรัฐ ซึ่งเป็นปัญหาในเชิง Jurisdiction ที่ส่งผลกระทบต่อความโปร่งใสในทางภาษี (Tax Transparency)

  • ความแตกต่างระหว่าง FATCA กับ CRS  

1.คู่สัญญา สำหรับ FATCA คือ ความตกลงแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบอัตโนมัติ (ปีละครั้ง) ระหว่างไทยและสหรัฐ ดังนั้นภายใต้ FATCA ไทยมีหน้าที่ส่งข้อมูลทางการเงินของชาวสหรัฐฯที่อยู่ในไทยให้กับสหรัฐ และในทางกลับกัน สหรัฐฯก็มีหน้าที่ส่งข้อมูลทางการเงินของคนไทยในสหรัฐฯ ให้กับไทย

สำหรับ CRS คือ การแลกเปลี่ยนข้อมูลตามมาตราฐานที่ OECD กำหนด โดยไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก Global Forum on Transparency and Exchange of Information for Tax purposes ซึ่งภายใต้พันธกรณีของ Global Forum ไทยต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลทั้งแบบร้องขอ (Exchange of Information on Request : EOIR) ภายใต้กรอบอนุสัญญาภาษีซ้อนที่ไทยมีกับประเทศคู่สัญญาจำนวน 60ประเทศ และต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบอัตโนมัติในลักษณะพหุภาคีกับประเทศสมาชิกที่อยู่ในเครือข่ายจำนวน 136 ประเทศ

2.ข้อมูลของใครบ้างที่ไทยต้องรายงาน คือ ข้อมูลของทั้งบุคคลธรรมดา/นิติบุคคลสำหรับ FATCA ต้องเป็นข้อมูลทางการเงินของบุคคลสหรัฐ ซึ่งหมายถึง บุคคลสัญชาติสหรัฐ (U.S. Citizen) บุคคลสองสัญชาติ ผู้ที่ถือบัตรประจำตัวผู้มีถิ่นที่อยู่ในสหรัฐ (กรีนการ์ด) และบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในสหรัฐเพื่อวัตถุประสงค์ในทางภาษี (เช่น อยู่ในสหรัฐเกิน 183 วันในปีภาษี)

สำหรับ CRS จะพิจารณาจาก Tax resident ของบุคคล หรือถิ่นที่อยู่เพื่อวัตถุประสงค์ในทางภาษี ซึ่งหลักเรื่อง Tax Resident แตกต่างจากหลักถิ่นที่อยู่ในกรณีทั่วไป เช่น ในกรณีบุคคลธรรมดา จะพิจารณาจากจำนวนวันที่ได้อาศัยอยู่ในประเทศนั้นเพื่อใช้เป็นเงื่อนไขในการจัดเก็บภาษี เช่น ประเทศ A กำหนดว่า หากบุคคลอยู่ในประเทศ A เป็นเวลา 180 วัน และมีเงินได้เกิดขึ้นในประเทศ A ประเทศ A จะมีสิทธิเก็บภาษีจากเงินได้ดังกล่าว

ดังนั้นเมื่อปรับเข้ากับข้อกำหนดของ CRS จึงสรุปได้ว่า บุคคลที่จะถูกไทยรายงานข้อมูล คือบุคคลที่ไม่มี Tax Resident ในประเทศไทย แต่เป็น Tax Resident ของรัฐคู่สัญญาที่อยู่ในเครือข่ายการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษี ซึ่งในทางปฏิบัติ บุคคลคนคนหนึ่งอาจเป็น Tax resident ของหลายประเทศก็ได้ หากในปีภาษีที่ผ่านมาได้อาศัยอยู่ในประเทศต่างๆ ตรงตามเงื่อนไขที่แต่ละประเทศกำหนด 

3.ใครเป็นผู้มีหน้าที่รายงาน ในภาพรวม FATCA กับ CRS ได้กำหนดนิยาม “สถาบันการเงินที่ต้องรายงาน” ไว้ใกล้เคียงกัน โดยพิจารณาจากประเภทของธุรกิจที่มีลักษณะการให้บริการที่อาจก่อให้เกิดรายได้และอาจถูกใช้เป็นที่เก็บเงินกำไรของบุคคล อันได้แก่1) สถาบันที่ทำหน้าที่รับฝากเงิน เช่น ธนาคาร 2) สถาบันผู้รับฝากสินทรัพย์ทางการเงิน (Custodian) 3) ธุรกิจเกี่ยวกับการลงทุนที่รับจัดการ/บริหารการลงทุนให้ลูกค้า เช่น การให้บริการบริหารกองทุน 4) ผู้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตที่มีการออกกรมธรรม์ที่มีมูลค่าเงินสดหรือแบบเงินรายปี (มีลักษณะเป็นการประกันภับแบบพ่วงการลงทุน)

4.ข้อมูลที่ต้องรายงาน แม้ข้อมูลที่ต้องรายงานจะมีลักษณะคล้ายกันในแง่ที่ว่าจะต้องเป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับการระบุตัวตนลูกค้าส่วนหนึ่งเช่น ชื่อบัญชี เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร และอีกส่วนหนึ่งเป็นข้อมูลบัญชีหรือข้อมูลทางการเงินที่แสดงถึงรายได้ของลูกค้าแต่ในรายละเอียด FATCA จะกำหนดเพียงให้รายงานยอด Sum ณ สิ้นปี หรือยอด Sum ที่แสดงเงินเข้าออก ในขณะที่ CRS จะระบุชุดข้อมูลที่ซับซ้อนกว่า เช่น ข้อมูลความเคลื่อนไหวในทางบัญชี เอกสารการกู้เงิน และเอกสารที่สถาบันการเงินมีการติดต่อกับลูกค้า

5.บทลงโทษ สำหรับ FATCA การที่ประเทศไทยไม่เข้าร่วมจะส่งผลให้สถาบันการเงินไทยที่มีเงินได้เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 30% โดยไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ตามอนุสัญญาภาษีซ้อนเพื่อลด/ยกเว้นอัตราตามบทลงโทษของ FATCA ได้ เนื่องจากสหรัฐฯ มองว่า FATCA เป็นความตกลงที่ได้จัดให้มีหลังอนุสัญญาภาษีซ้อน จึงเป็นไปตามทฤษฎี Later-in-Time Principle หรือ กฎหมาย/อนุสัญญาใดที่มีผลบังคับในภายหลังย่อมมีศักดิ์ที่สูงกว่า สำหรับ CRS ไม่ได้มีการกำหนดโทษโดยหักภาษี ณ ที่จ่ายจากประเทศในเครือข่ายเช่น FATCA แต่ผลที่ตามมาจะอยู่ในลักษณะการกดดันหรือมาตรการต่อต้านจากองค์กรระหว่างประเทศหรือประเทศสมาชิกในลักษณะต่างๆ เช่น ประเทศไทยอาจจัดอยู่ในประเทศที่มีระบบภาษีที่ไม่โปร่งใส และอาจเป็นผลต่อการถูกขึ้น EU Blacklist ได้ 

6.ความคืบหน้า ทั้งสองความตกลงอยู่ในระหว่างการจัดทำกฎหมายภายใน โดย FATCA อยู่ในขั้นตอนการจัดทำกฎหมายลำดับรอง และ CRS กรมสรรพากรอยู่ในระหว่างการจัดรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามการภาษีอากรระหว่างประเทศ พ.ศ. .... (ถึง 31 ส.ค. 63)

ท้ายที่สุด คงปฏิเสธไม่ได้ว่า Tax exchange คือ เทรนด์ของภาษีอากรระหว่างประเทศในอนาคตที่ไทยเองคงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน]