'ปรีดี ดาวฉาย' กับ 27 วันทำงาน เทียบกับอดีตขุนคลังไทย ใครมีอายุงานสั้นบ้าง?

'ปรีดี ดาวฉาย' กับ 27 วันทำงาน เทียบกับอดีตขุนคลังไทย ใครมีอายุงานสั้นบ้าง?

หลังจาก "ปรีดี ดาวฉาย" ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เพิ่งเข้ามานั่งเก้าอี้ได้เพียง 27 วัน ชวนส่องเก้าอี้ขุนคลังในอดีตในหน้าประวัติศาสตร์ไทย ว่าใครมีอายุงานสั้นที่สุดบ้าง?

จากกรณีที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 เรื่องรัฐมนตรีลาออก โดยมีเนื้อความว่า

ด้วยนายปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ขอลาออกจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2563 ความเป็นรัฐมนตรีของนายปรีดี ดาวฉาย จึงสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2563 ตามความในมาตรา 170 (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกาศเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 ลงชื่อพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐตรี

นับเป็นประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจอย่างมาก เนื่องจากหากนับช่วงระยะเวลาการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีการกระทรวงการคลัง ตามข้อมูลของกระทรวงการคลัง พบว่านายปรีดี ดำรงตำแหน่งคนที่ 53 ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา และเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2563 ถือเป็นรัฐมนตรีในโควตาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งหากนับตั้งแต่วันที่เข้าดำรงตำแหน่งจนถึงวันที่มีการประกาศตามราชกิจจานุเบกษา (1 กันยายน 2563) รวมระยะเวลาทำงานรวมทั้งหมด 27 วัน

ทั้งนี้นับเป็นช่วงเวลาของการดำรงตำแหน่งที่ค่อนข้างสั้น แต่จริงๆ แล้ว หากย้อนกลับไปส่องเก้าอี้ขุนคลังในหน้าประวัติศาสตร์ไทย จะพบว่ามีขุนคลังที่มีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งในระสั้นเช่นเดียวกัน โดย 5 อันดับแรก มีดังนี้

159896472126

1.นายพจน์ สารสิน ดำรงตำแหน่งรวม 4 วัน

นายพจน์ สารสิน ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตั้งแต่ 23 กันยายน 2500 - 26 กันยายน 2500 ซึ่งมีระยะเวลาทั้งหมด 4 วัน นับว่าเป็นช่วงเวลาที่สั้นที่สุด เนื่องจากช่วงเวลานั้นนายพจน์ สารสิน ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่มีประกาศพระบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2500 โดยควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกหนึ่งตำแหน่ง

หลังจากนั้นคณะรัฐมนตรีมีการแต่งตั้งเปลี่ยนแปลง โดยนายพจน์ สารสิน ได้พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และแต่งตั้งนายเสริม วินิจฉัยกุล เข้ามาดำรงตำแหน่งแทนเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2500 ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะนี้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2500 เนื่องจากกราบถวายบังคมลาออกทั้งคณะ เพราะได้ดำเนินการเลือกตั้งทั่วไปเสร็จสิ้นแล้ว

2.พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ) ดำรงตำแหน่งรวม 9 วัน

พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตั้งแต่ 29 พฤศจิกายน 2494 - 7 ธันวาคม 2494 รวมทั้งหมด 9 วัน ในยุคของนายกรัฐมนตรี จอมพล แปลก พิบูลสงคราม นับเป็นคณะรัฐมนตรีที่ 23 มาจากการแต่งตั้งรัฐมนตรีชั่วคราว

3.นายดิเรก ชัยนาม ดำรงตำแหน่งรวม 18 วัน

นายดิเรก ชัยนาม ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตั้งแต่ 1 กันยายน 2488 - 18 กันยายน 2488 ในรัฐบาลที่มีนายทวี บุณยเกตุ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นคณะรัฐมนตรีที่ 12 ซึ่ง นายดิเรก ชัยนาม สิ้นสุดการดำรงตำแหน่งพร้อมกับการลาออกของนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งคณะรัฐมนตรีได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2488 เพื่อหวังเปิดโอกาสให้ผู้ที่เหมาะสมได้เข้ามาบริหารราชการแทน

4.นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ ดำรงตำแหน่งรวม 18 วัน

นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตั้งแต่ 4 ตุลาคม 2519 - 21 ตุลาคม 2519 อยู่ในยุคของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมาแล้วก่อนหน้านี้ รวมถึงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งการดำรงตำแหน่งแต่ละครั้งนั้นดำรงตำแหน่งได้เพียงไม่นาน

5.นายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ดำรงตำแหน่งรวม 21 วัน

นายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตั้งแต่ 24 ตุลาคม 2540 - 13 พฤศจิกายน 2540 ในรัฐบาล พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่ง นายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ดำรงตำแหน่งต่อจากนายทนง พิทยะ ที่ลาออกจากเก้าอี้ขุนคลัง โดยหลังจากนายโฆษิตเข้ารับตำแหน่งได้ไม่นาน คณะรัฐมนตรีทั้งชุดก็ได้สิ้นสุดลง เนื่องจากนายกรัฐมนตรีประกาศลาออกจากตำแหน่ง

ที่มา : socmof