เอสแอนด์พีชี้ขนมไหว้พระจันทร์ซึม! เร่งขยายฐานลูกค้าใหม่ 'ขาย365วัน'
“เอสแอนด์พี” ปรับกลยุทธ์ปลุกตลาดขนมไหว้พระจันทร์ “พันล้าน” เพิ่มวาไรตี้วางขาย 365 วัน ขยายฐานลูกค้าใหม่เจาะกลุ่ม “ซื้อฝาก-รับประทานเอง” หลังพบดีมานด์สูง
นายอรรถ ประคุณหังสิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายปฏิบัติการธุรกิจ เอส แอนด์ พี บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เอสแอนด์พีได้ปรับกลยุทธ์การทำตลาดขนมไหว้พระจันทร์ใหม่โดยขยายโอกาสในการขายครอบคลุมช่วงเวลาทั้งปีมากขึ้น จากเดิมผู้ประกอบการส่วนใหญ่เน้นการทำตลาดเฉพาะช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์ที่มีระยะเวลาราว 2 สัปดาห์เท่านั้น
ทั้งนี้ ขนมไหว้พระจันทร์มีมูลค่าตลาด 950 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา เติบโต 2-3% จากปีก่อนหน้าที่มีมูลค่า 930 ล้านบาท ในปีนี้คาดการณ์ปัจจัยลบกระทบภาพรวมตลาดหดตัวลงเล็กน้อยแต่ในระยะยาวยังมีศักยภาพในการเติบโต
"เอสแอนด์พีในฐานะผู้นำและผู้เล่นรายใหญ่มุ่งขยายฐานตลาด ทลายข้อจำกัดการขายเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งจะสร้างการเติบโตให้ตลาดและธุรกิจได้มากขึ้น โดยเฉพาะปีนี้ยอมรับตลาดค่อนข้างซึมจะเห็นว่าผู้ประกอบการแต่ละรายค่อนข้างเงียบในการสื่อสารหรือการวางจำหน่าย"
จากการศึกษาข้อมูลเชิงลึกลูกค้าแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ซื้อไปไหว้ 50% ซื้อไปให้ (ของฝาก ของขวัญ) 25% และซื้อรับประทานเอง 25% โดยกลุ่มซื้อไปให้และซื้อรับประทานเองมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น ดังนั้นเอสแอนด์พีจึงต่อยอดการผลิตมากว่า 32 ปี และเป็นผู้นำตลาด ซึ่งมีขนมไหว้พระจันทร์หลากหลายรสชาติรวม 12 ไส้ (17 วาไรตี้) อีกทั้งได้มีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี ปรับการจำหน่ายในร้าน “ทุกวัน”
สำหรับปีนี้เอสแอนด์พีเปิดตัวขนมไหว้พระจันทร์ไส้ใหม่ “ไส้บัวทองไข่เค็มลาวา” เพื่อสร้างความแปลกใหม่ให้กับตลาดและเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคนอกเหนือจากไส้ที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ไส้หมอนทองล้วน ไส้หมอนทองแมคคาเดเมีย ไส้หมอนทองเจ ไส้แปดเซียน ไส้โหงวยิ้ง ไส้งาดำ ไส้บัว ไส้บัวแมคคาเดเมียไข่ ไส้อินทผาลัมธัญพืช นอกจากนี้ยังมีขนมไหว้พระจันทร์เปลือกสี ได้แก่ ไส้มัตฉะชาเขียวถั่วแดง ไส้ส้มช็อกโกแลตลาวา รองรับคนรุ่นใหม่
พร้อมกันนี้ ได้นำเสนอคอนเทนท์และวางแผนสื่อประชาสัมพันธ์มุ่งเน้นขยายฐานลูกค้าใหม่ให้เกิดความสนใจขนมไหว้พระจันทร์ ผ่านภาพยนตร์โฆษณา ภายใต้คอนเซปต์ “ของขวัญจากพระจันทร์” ซึ่งเปรียบขนมไหว้พระจันทร์ เสมือนของขวัญที่สามารถเป็นตัวแทนของการให้ได้ในทุกโอกาส ไม่ใช่แค่ช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์เท่านั้น โดยสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์ และออฟไลน์ เจาะตรงกลุ่มลูกค้าใหม่ และรักษาฐานลูกค้าเดิม
ในส่วนของการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ยังคงสัญลักษณ์ความเป็นมงคลโดยใช้ภาพหญิงสาวชาวจีนเป็นตัวแทนเทพธิดาแห่งดวงจันทร์ของจีน สวมเครื่องประดับจีนโบราณที่ประดับดอกไม้มงคล ได้แก่ ดอกบัว สัญลักษณ์เรื่องความโชคดี และความเป็นสิริมงคล ดอกโบตั๋น เป็นตัวแทนของความมั่งมีศรีสุข ลาภยศ ดอกเบญจมาศสัญลักษณ์ของการมีอายุยืน ดอกกล้วยไม้ สัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ความมั่งคั่ง และยังมีเป็ดแมนดาริน สัญลักษณ์เรื่องของความรัก และสามารถนำบรรจุภัณฑ์กลับมารีไซเคิลใหม่ เป็นการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่ากล่าวได้ว่าสอดคล้องกับสถานการณ์ที่ต้องการส่งความสุข ความโชคดี ท่ามกลางวิกฤติโควิดและภาวะเศรษฐกิจซบเซา