รู้จัก ‘โยชิฮิเดะ ซูกะ’ จากลูกชาวไร่ สู่นายกฯญี่ปุ่นคนใหม่
เป็นไปตามความคาดหมาย เมื่อ “โยชิฮิเดะ ซูกะ” มือประสานสิบทิศคนสำคัญของรัฐบาลญี่ปุ่น ขึ้นแท่น “ว่าที่นายกฯคนใหม่” แทน ชินโซ อาเบะ ที่ลาออกด้วยปัญหาสุขภาพ แต่เส้นทางการเมืองของซูกะถือว่าไม่ธรรมดา กว่าจะเป็นที่ยอมรับอย่างทุกวันนี้ เขาต้องเริ่มต้นจากศูนย์
โยชิฮิเดะ ซูกะ นักการเมืองญี่ปุ่น วัย 71 ปี ชนะเลือกตั้งเป็นหัวหน้าคนใหม่ของพรรคเสรีประชาธิปไตย หรือ แอลดีพี เมื่อวันจันทร์ (14 ก.ย.) ซึ่งแน่นอนว่าเขาจะผ่านการรับรองจากสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคแอลดีพีครองเสียงข้างมากอยู่แล้วในวันพุธ (16 ก.ย.) และนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนใหม่แทนที่ ชินโซ อาเบะ
การขึ้นเป็นผู้นำประเทศจะถือเป็นจุดสูงสุดบนเส้นทางการเมืองของซูกะ ซึ่งรับตำแหน่งการเมืองสำคัญมาแล้วหลายบทบาท รวมถึงตำแหน่งล่าสุดอย่าง “หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรี” ที่เขาครองสถิติอยู่ในตำแหน่งนี้นานที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นถึง 8 ปีเต็ม
หัวหน้าเลขาธิการครม. เป็นตำแหน่งที่รับผิดชอบการประสานงานด้านนโยบาย และจัดการหน่วยงานรัฐและระบบราชการให้เป็นระเบียบเรียบร้อย หรือเรียกได้ว่าเป็น “พ่อบ้าน” ประจำคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น
นอกจากนี้ ซูกะยังเป็นเหมือน “หน้าตา” ของรัฐบาลอาเบะ โดยทำหน้าที่หัวหน้าโฆษกและคอยชี้แจงการตัดสินใจต่าง ๆ ของรัฐบาลในการแถลงข่าวรายวัน รวมถึงต้องรับมือกับคำถามเผ็ดร้อนจากสื่อมวลชนด้วยในบางครั้ง
ในอดีต แม้ตำแหน่งหัวหน้าเลขาธิการครม. เป็นบันไดไต่เต้าสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีสำหรับนักการเมืองญี่ปุ่นหลายคน แต่ซูกะเคยพูดอยู่บ่อยครั้งว่า “ไม่สนใจตำแหน่งนายกฯ”
แต่ไม่นานหลังจากอาเบะประกาศลาออกด้วยปัญหาสุขภาพเมื่อปลายเดือน ส.ค. ซูกะก็กลายเป็นตัวเก็งสืบทอดตำแหน่งผู้นำประเทศคนต่อไป ด้วยการสนับสนุนของกลุ่มก๊วนต่าง ๆ ในพรรคแอลดีพี โดยจุดเด่นของซูกะคือ ขึ้นชื่อเรื่องการใช้อำนาจในการควบคุมระบบราชการที่ซับซ้อนและทรงพลังของญี่ปุ่น และช่วยผลักดันนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลจนลุล่วง
- เริ่มต้นจากศูนย์
อย่างไรก็ตาม ซูกะแตกต่างจากนักการเมืองพรรคแอลดีพีคนอื่น ๆ ตรงที่ไม่ได้เป็น “นักการเมืองโดยสายเลือด” เพราะเกิดในครอบครัวชาวไร่สตรอว์เบอร์รีในพื้นที่ชนบทอย่างจังหวัดอาคิตะ ทางเหนือของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2491
ต่อมา ซูกะย้ายมาอยู่ในกรุงโตเกียวหลังเข้าเรียนมัธยมปลายและทำงานเสริมเพื่อส่งตัวเองเรียนจนจบคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยโฮเซในโตเกียวเมื่อปี 2516
หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัย ซูกะได้ทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านการหาเสียงเลือกตั้งประจำวุฒิสภา จากนั้นมาเป็นเลขานุการของสมาชิกสภาไดเอทคนหนึ่งจากพรรคแอลดีพีเป็นเวลา 11 ปี ก่อนจะลาออกในเดือน ต.ค. 2529 เพื่อลงเล่นการเมืองเต็มตัว
ซูกะได้รับเลือกตั้งครั้งแรกเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองโยโกฮามาเมื่อปี 2530 หลังจากใช้เทคนิคหาเสียงด้วยการเดินเท้าเคาะประตูบ้านประชาชนมากถึง 3 หมื่นหลังและเปลี่ยนรองเท้าระหว่างหาเสียงถึง 6 คู่ นอกจากนี้ เขายังบุกเบิกวิธีปราศรัยหาเสียงหน้าสถานีรถไฟที่มีผู้คนพลุกพล่าน ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นวิธีหาเสียงยอดนิยมในหมู่นักการเมืองญี่ปุ่น
ซูกะพูดถึงปูมหลังของตัวเองขณะรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคแอลดีพีคนใหม่ ด้วยการบอกว่า “เขาเริ่มต้นทุกอย่างจากศูนย์”
“ด้วยพื้นเพของผมที่มาจากครอบครัวชาวไร่ ผมจะอุทิศทั้งชีวิตให้กับประเทศชาติและชาวญี่ปุ่น”
- พันธมิตรคู่ใจ “อาเบะ”
ซูกะชนะเลือกตั้งเป็นส.ส.สมัยแรกในฐานะผู้แทนเขต 2 จังหวัดคานางาวะเมื่อปี 2539 และเป็นผู้สนับสนุนอาเบะมาอย่างยาวนาน โดยผลักดันจนอดีตผู้นำพรรคแอลดีพีได้บริหารประเทศ 2 สมัย ถึงแม้สมัยแรกจะไม่น่าจดจำนัก เพราะอยู่ได้เพียง 1 ปีเศษก่อนประกาศยุบสภา
เมื่ออาเบะกลับสู่อำนาจอีกครั้งหลังชนะการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2555 ซูกะก็ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าเลขาธิการครม.ที่ทรงอิทธิพล และอยู่ในตำแหน่งนี้ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ด้วยผลงานชิ้นโบแดงในการช่วยออกนโยบายสำคัญของรัฐบาลอาเบะมาแล้วมากมาย รวมถึงการผ่อนคลายข้อจำกัดเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติ
ด้วยความสนิทสนมกับอาเบะของซูกะ ทำให้เขาเป็นเพียงไม่กี่คนที่สามารถพูดตรงไปตรงมากับนายกรัฐมนตรี และเมื่อปี 2556 เขาเคยแนะนำอาเบะไม่ให้เดินทางไปสักการะศาลเจ้ายาสุกุนิในโตเกียว ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านมองว่าเป็น “สัญลักษณ์แห่งยุคแสนยนิยม” ของญี่ปุ่นในอดีต
อย่างไรก็ตาม แม้อาเบะไม่ฟังคำแนะนำครั้งนั้นของซูกะ ซึ่งทำให้เกิดกระแสไม่พอใจทั่วภูมิภาค รวมถึงเสียงประณามจากสหรัฐ แต่หลังจากนั้น อาเบะก็ไม่เคยไปสักการะศาลเจ้าแห่งนี้ด้วยตัวเองอีกเลย แม้ยังมีรัฐมนตรีบางคนไปเยือนสถานที่ดังกล่าวอยู่บ้างก็ตาม
สำหรับเรื่องชีวิตส่วนตัวและครอบครัว แม้ซูกะแทบไม่เปิดเผยต่อสาธารณชนเลย แต่เป็นที่รู้กันว่าสุขภาพของเขาในวัยแตะเลข 7 ยังคงฟิตแอนด์เฟิร์มไม่ต่างกับชายหนุ่มสมัยนี้ โดยเคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกิจวัตรประจำวันไว้ว่า เขาซิทอัพ 100 ครั้งในตอนเช้าและอีก 100 ครั้งในตอนเย็น ส่วนจุดอ่อนของเขาคือ “แพนเค้ก”
----------------------
อ้างอิง: AFP, BBC, Japan Times