รมว.อว.ชี้ภูมิศาสตร์ไทย 1 ใน 7 ของโลกสามารถทำฐานปล่อยจรวด spaceport
รมว.อว. ลงพื้นที่ GISTDA ศรีราชา เยี่ยมชมความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านนวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐานกิจการอวกาศของประเทศ ระบุไทยมีศักยภาพเป็นฐานปล่อยจรวด spaceport สั่งให้ศึกษามานำเสนอเพื่อผลักดันต่อไป
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวง อว. เยี่ยมชมการดำเนินงานของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ณ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ หรือ SKP อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี พร้อมรับฟังการบรรยายบทบาทภารกิจของ GISTDA โดยมี รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานกรรมการ GISTDA และ ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA พร้อมคณะให้การต้อนรับ
ภายหลังจากการเยี่ยมชม รมว.อว. กล่าวว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศเรา เรียกว่ากำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสร้างกำลังคนเพื่อการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะที่เราส่งไปเรียนหรือฝึกเองตามสาขาต่างๆ เวลานี้กำลังไปได้ดี ผมดูมาหลายที่รวมถึงมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็เห็นเป็นเช่นนั้น และวันนี้ได้มีโอกาสมาที่ GISTDA เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง งานด้านอวกาศและภูมิสารสนเทศของไทยเราถือว่าอยู่ในระดับแนวหน้าของอาเซียน ซึ่งก็ได้มอบหมายให้ GISTDA ทำเปรียบเทียบทั้งด้านสมรรถนะและศักยภาพในงานด้านนี้กับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเช่นมาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์ ว่าเราทำได้ในระดับไหน เขาทำได้ในระดับไหน แนวทางความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านควรทำอย่างไร เพื่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกันในภูมิภาคนี้
สำหรับเรื่องการพัฒนากำลังคนนั้น ขณะนี้บุคลากรของ GISTDA ที่ส่งไปเรียนได้เริ่มกลับมาทำงานที่ประเทศไทยแล้ว ซึ่งสามารถออกแบบและผลิตเครื่องมือ รวมถึงโซลูชั่นต่างๆ ได้น่าสนใจและมีความหลากหลาย จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะดึงสรรพกำลังของมหาวิทยาลัยเข้ามาร่วมด้วย เพื่อขับเคลื่อนและผลักดันให้สิ่งเหล่านี้มีพลังที่มากขึ้น นอกจากนี้ เรื่องของการเรียนการสอนหลักสูตร SCGI Master Program ระดับปริญญาโทนานาชาติ สาขาภูมิสารสนเทศศาสตร์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง GISTDA มหาวิทยาลัยอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน และมหาวิทยาลัยบูรพา ก็ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าที่ผ่านมาจะประสบปัญหาโควิด-19 และตอนนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้นแล้ว
รมว.อว. ยังกล่าวต่อไปอีกว่า งานด้านอวกาศถือเป็นโอกาสที่จะทำให้ประเทศเกิดการพัฒนาและเติบโตขึ้นในหลายมิติ สิ่งหนึ่งที่มีความน่าสนใจและเป็นไปได้ คือเรื่อง spaceport หรือท่าอวกาศยาน หลายคนอาจจะไม่คุ้นชื่อ แต่จริงๆ แล้วจะมีความคล้ายกับแอร์พอร์ต แต่ spaceport จะใช้เป็นฐานยิงจรวด ยิงดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ รวมทั้งเป็นจุดสำหรับรับจรวด รับดาวเทียมกลับสู่โลกด้วย ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ได้เปรียบและเหมาะสมเป็น 1 ใน 7 ของโลก เนื่องจากอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ใกล้ทะเลทั้ง 2 ฝั่งคืออ่าวไทยและอันดามัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เบื้องต้นได้ให้ GISTDA ทำข้อมูลและรายละเอียดอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม การทำ spaceport จะเป็นแม่เหล็กสำคัญที่จะดึงให้คนเก่งจากทั่วโลกมารวมตัวกันทำเรื่องจรวดและดาวเทียม ซึ่งประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ คือ กระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจด้านอวกาศในประเทศ เกิดการสร้างรายได้เข้าประเทศ เกิดการจ้างงาน ประชาชนจะกินดีอยู่ดีมากขึ้น นอกจากนี้ยังเกิดอุตสาหกรรมการก่อสร้าง อุตสาหกรรมพลังงาน รวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอีกด้วย
"ถามว่าทำไมต้องทำเทคโนโลยีมากมาย สาเหตุเพราะเราต้องการให้ประเทศมีรายได้สูงขึ้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องลงทุนทางด้านเทคโนโลยีด้วยความรอบคอบ และระมัดระวังอย่างที่สุด ไม่ใช้จ่ายเงินทองแบบฟุ่มเฟื่อยและไม่มีเป้าหมาย ทั้งนี้ ท่านนายกรัฐมนตรีเอง ก็ให้ความสำคัญและสนใจกับงานด้านวิทยาศาสตร์อย่างมาก และพูดถึงงานของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ อยู่บ่อยครั้ง"