ส่องอาณาจักร 'SCB' หรือ 'ธนาคารไทยพาณิชย์' ในวันที่ต้องเผชิญดราม่า #แบนSCB
สำรวจอาณาจักรธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ "SCB" ในวันที่ต้องเผชิญดราม่า #แบนSCB หลังกระแส "การเมือง" เล่นงาน
กลายเป็นประเด็นดราม่าในโลกออนไลน์ เมื่อการเมืองทำพิษจน "ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)" ตกอยู่ในสถานะองค์กรที่ถูกแบน สะท้อนจากเทรนด์ #แบนSCB ที่เริ่มจาก twitter และโซเชียลมีเดียต่างๆ ออกมารณรงค์ให้คนที่เห็นด้วย ร่วมแบน SCB ด้วยการหลีกเลี่ยงการใช้บริการต่างๆ จากธนาคารทุกช่องทาง เช่น ถอนเงินจากบัญชีเงินฝาก ปิดบัญชี ไม่ลงทุนกับทางธนาคาร ฯลฯ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
'ศรีพันวา' เกี่ยวข้องกับ กองทรัสต์ SRIPANWA ที่ 'ประกันสังคม' ถือหุ้นอย่างไร
จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดข้อสงสัยตามมาว่า แล้วการแบนธนาคารในลักษณะนี้ กระทบต่อธนาคารมากน้อยแค่ไหน โดย "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" พาไปผ่าอาณาจักร “ธนาคารไทยพาณิชย์” หรือ “SCB” ธนาคารแห่งแรกของประเทศไทยที่มีอายุรวมถึง 114 ปี ว่า ณ เวลาปัจจุบันธนาคารไทยพาณิชย์มีสถานะอย่างไรบ้าง
ธนาคารไทยพาณิชย์ ปัจจุบันมีสถานะเป็นธนาคารพาณิชย์ ที่มีบริการทางด้าน การเงินครบวงจรให้แก่ลูกค้าทุกประเภท ทั้งที่เป็น บริษัทขนาดใหญ่ วิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม และลูกค้ารายย่อย ได้แก่ การรับฝากเงิน การโอนเงิน การให้กู้ยืมประเภทต่างๆ การรับซื้อลด การรับรองอาวัล ค้ำประกัน บริการด้านปริวรรตเงินตรา Bancassurance บริการด้านการค้าต่างประเทศ บริการ Cash Management บริการด้านธุรกิจหลักทรัพย์ อาทิ บริการจำหน่ายหุ้นกู้ การจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนส่วนบุคคล บัตรเครดิต ฯลฯ
- SCB มีผู้ใช้บริการเยอะแค่ไหน
แบบแสดงรายการข้อมูลประจําปี 2562 (แบบ 56-1) ธนาคารไทยพาณิชย์ จํากัด (มหาชน) ระบุว่า เมื่อสิ้นปี 2562 ระบุไว้ดังนี้
- จำนวนผู้ใช้งาน SCB EASY แอพพลิเคชั่น Moblie Banking ของธนาคารจำนวน 10.5 ล้านราย
- ยอดธุรกรรม เฉลี่ย 135 ล้านรายการ/เดือน
- จํานวนลูกค้าบุคคล 16.4 ล้านราย
- สินทรัพย์ รายได้ และกำไรสุทธิ
เมื่อมองไปถึงสินทรัพย์ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 ระบุดังนี้
- ธนาคารมีสินทรัพย์รวม 3,111 พันล้านบาท
- มีเงินฝาก 2,255 พันล้านบาท
- มีสินเชื่อ 2,144 พันล้านบาท
นอกจากนี้ ธนาคารจดไทยพาณิชย์ได้ทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2519 ปัจจุบันหุ้นของธนาคาร ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกอบด้วย หุ้นสามัญ (SCB, SCB-F) หุ้นบุริมสิทธิ (SCB-P, SCB-Q) ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 ธนาคารมีมูลค่าหุ้น ตามราคาตลาด (Market Capitalization) 246,464 ล้านบาท ด้วย
สำหรับ รายได้และกำไร ของธนาคารไทยพาณิชย์ ณ สิ้นปี 2562 ดังนี้
- รายได้รวม จำนวน 166,098 ล้านบาท
- มีกำไรสุทธิ 40,436 ล้านบาท
ขณะที่ครึ่งแรกปี 2563 มีรายได้รวม จำนวน 73,917 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 17,611 ล้านบาท
- SCB ใหญ่แค่ไหนในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย
ธนาคารไทยพาณิชย์ นับเป็นธนาคารขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ของไทย ตามระบบธนาคารพาณิชย์ที่มีธนาคารจดทะเบียนในตลลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 11 แห่ง โดยข้อมูลเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 62 ระบุว่า ธนาคารไทยพาณิชย์มีส่วนแบ่งการตลาดต่างๆ ดังต่อไปนี้
- สินทรัพย์ คิดเป็น 16.5% ของระบบธนาคารพาณิชย์
- สินเชื่อ คิดเป็น 17.1% ของระบบธนาคารพาณิชย์
- เงินรับฝาก คิดเป็น 17.3% ของระบบธนาคารพาณิชย์
- กำไรสุทธิ คิดเป็น 19.4% ของระบบธนาคารพาณิชย์
- การปรับตัวของธนาคาร
"ดิสรัปชั่น" ทำให้ธนาคารต่างๆ ต้องปรับตัวเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลง และสร้างกลยุทธ์เพื่อเปิดรับโอกาสใหม่ๆ "ไทยพาณิชย์" เอง ก็มีการปรับตัวเพื่อเผชิญสถานการณ์ที่ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และสถานการณ์ต่างๆ เช่นเดียวกัน
ก่อนหน้านี้ SCB วางกลยุทธ์ ต่อเรือเล็กแทนเรือใหญ่ นับตั้งแต่เริ่มประกาศลดพนักงาน และลดสาขา ช่วงเดือน ม.ค.61 โดยมีการตั้งเป้าว่าจะลดสาขาจาก 1,153 สาขาเหลือ 400 สาขา และลดพนักงานจาก 27,000 คน เหลือ 15,000 คน เนื่องจากต้องการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่การเป็น "ดิจิทัลแบงก์กิ้ง" อย่างเต็มรูปแบบ
ผ่านมาถึงปี 2563 การเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นอย่างชัดเจน โดยข้อมูล ณ เดือน ส.ค. 63 ธนาคารไทยพาณิชย์มีสาขาลดลงเหลือ 914 สาขาแล้ว ซึ่งมีแนวโน้มว่าธนาคารไทยพาณิชย์จะบรรลุถึงเป้าหมายของการทรานส์ฟอร์มในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
นอกจากการปรับลดสาขา ธนาคารยังมีการปรับรูปแบบธนาคารบางส่วนมาอยู่ในรูปแบบใหม่ๆ เช่น “ศูนย์บริหารความมั่งคั่ง” (Investment Center) “ศูนย์บริการธุรกิจเอสเอ็มอี” (Business Center) และ “ศูนย์บริการลูกค้า” (Service Center)
รวมถึงการให้บริการจ่าย ถอน โอน ฝากเช็ค ฯลฯ ผ่านเครื่องอัตโนมัติที่สามารถทอนเงินได้ทุกบาททุกสตางค์กระจายไปยังจุดบริการต่างๆ มากขึ้น ซึ่งสะท้อนว่าการใช้กลยุทธ์แล่นเรือเล็ก หรือ การสร้าง New business model ผ่านการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์เหล่าเทคคัมพานี และฟินเทคต่างๆ แทนการยึดติดกับสินทรัพย์ เงินฝาก หรือสาขาจำนวนมากในอดีต เพื่อให้สามารถเข้าถึงความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป และเข้าถึงลูกค้าให้ได้มากที่สุด
แม้การดราม่า #แบนSCB ในครั้งนี้ จะเป็นหนึ่งในอุปสรรคที่เข้ามากระทบกับการดำเนินธุรกิจของ SCB ที่ต้องรับมือทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว แต่เป็นที่น่าจับมองตามองว่า ไทยพาณิชย์จะขับเคลื่อนองค์กร หรือสื่อสารกับผู้ใช้บริการรวมถึงพนักงานให้สามารถจัดการกับกระแสด้านลบ หรือต่อต้านของสังคมได้ให้ผ่านไปได้อย่างไร