‘ศาลหลักเมือง’ อาคารสถาปัตยกรรมพระราชทานจาก ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’
รูปแบบสถาปัตยกรรมอาคาร “ศาลหลักเมือง” กรุงเทพมหานคร ที่ปรากฏในปัจจุบัน เป็นอาคารหลังหนึ่งที่ “ในหลวงรัชกาลที่ 9” ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยแก้ไขปรับปรุงรูปแบบระหว่างการออกแบบ และทรงมีพระราชดำรัสถึงการเลือกใช้วัสดุตกแต่งหลังคาและปรางค์ส่วนยอดแบบพอเพียง
อาคาร ศาลหลักเมือง ของกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทย เป็นอาคารหลังหนึ่งที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยแก้ไขปรับปรุงรูปแบบในระหว่างการออกแบบ
อาคารหลังนี้สร้างขึ้นภายหลังการฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 200 ปีในปีพ.ศ.2525 ซึ่ง นาวาอากาศเอกอาวุธ เงินชูกลิ่น เป็นผู้ได้รับมอบหมายจากรองราชเลขาธิการในสมัยนั้นให้ออกแบบอาคารศาลหลักเมืองหลังใหม่(แบบที่เห็นในปัจจุบัน)ขึ้นตามแนวพระราชดำริ
ในการเริ่มต้นออกแบบศาลหลักเมืองหลังใหม่ ‘พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร’ ทรงมีพระราชดำรัสถึงรูปแบบอาคารศาลหลักเมืองที่จะสร้างใหม่หลังนี้ว่า
"ศาลหลักเมืองนั้น ให้มีลักษณะเหมือนๆ กับประตูพระบรมมหาราชวัง คือมีความสูง แต่มีมุขยื่นโดยรอบทั้งสี่ด้าน”
นาวาอากาศเอกอาวุธ สถาปนิกผู้ถวายงาน จึงได้ร่างแบบศาลหลักเมืองหลังใหม่เป็น อาคารทรงยอดปรางค์ มีลักษณะสถาปัตยกรรมคล้ายประตูพระบรมมหาราชวัง และมีมุขยื่นโดยรอบทั้งสี่ด้าน ยาวเท่ากัน แล้วจึงนำขึ้นกราบบังคมทูลขอพระบรมราชวินิจฉัยเป็นครั้งแรก
ภายหลังทอดพระเนตรแบบร่างดังกล่าว ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้นำมาดำเนินการต่อ สถาปนิกผู้ถวายงานจึงได้สร้างแบบจำลองขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายให้ทอดพระเนตรอีกครั้ง
ครั้งนี้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยให้พิจารณาแก้ไขมุขที่ยื่นโดยรอบทั้งสี่ด้าน ซึ่งในแบบจำลองนั้นหลังคามุขชั้นล่างและชั้นบนยื่นออกมาเท่าๆ กัน ทรงให้ทดลองขยายหลังคามุขชั้นบนออกมาอีก ‘หนึ่งก้านไม้ขีด’ โดยประมาณ ในอัตราส่วนของแบบจำลอง นอกจากนั้นยังทรงมีความสนพระราชหฤทัยในเรื่องวัสดุการก่อสร้าง ทรงมีพระราชดำรัสถึงการเลือกใช้วัสดุว่า
“อย่าให้ต้องทาสีบ่อย”
นาวาอากาศเอกอาวุธจึงกราบบังคมทูลเสนอ ‘กระเบื้องเคลือบสี’ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงได้พระราชทานตัวอย่าง กระเบื้องเคลือบสีขาวอมเทา มาเพื่อเป็นวัสดุในการตกแต่งยอดปรางค์ศาลหลักเมืองในครั้งนั้น
อาคารศาลหลักเมืองหลังใหม่นี้มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบยุคสมัย "รัชกาลที่ 4" กล่าวคือ
- เป็นอาคารเครื่องปูนทรงยอดปรางค์มีมุขยื่นทั้งสี่ด้าน แต่ละด้านมีหลังคาซ้อน 2 ชั้น และมีมุขลดอีกด้านละ 1 ชั้น
- มีหลังคากันสาดโดยรอบ
- เครื่องปิดเครื่องมุงประดับกระเบื้องเคลือบ
- ลักษณะศิลปกรรมได้รับอิทธิพลจากวัดเฉลิมพระเกียรติ โดยมีช่อฟ้าเป็นแบบ "นกเจ่า" ซึ่งเป็นศิลปกรรมที่เป็นที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 4 ส่วนใบระกานั้นปรับปรุงรูปแบบจากวัดเฉลิมพระเกียรติ โดยทำเป็นลายช่อหางโตแทนลายใบเทศ
- หน้าบันเป็นรูปดอกพุดตานประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ พื้นลายสีเหลือง ตัวดอกและช่อลายสลับสี
- โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ผนังบุหินอ่อน
- มีประตูทางเข้าทั้ง 4 ด้าน ยกพื้นโดยรอบบุด้วยหินอ่อน และมีพนักระเบียงหินอ่อนโดยรอบ มุมพนักระเบียงประดับเสาหัวเม็ด ทำด้วยหินอ่อนเช่นเดียวกัน
นอกเหนือจากการพระราชทานความช่วยเหลือราษฎรทั่วประเทศในลักษณะ โครงการพระราชดำริ มากมายหลายแขนง ทั้งในด้านการเกษตร การพัฒนาแหล่งน้ำ สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข การศึกษา สวัสดิการสังคม ส่งเสริมอาชีพ คมนาคม
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ยังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณและพระปรีชาสามารถในงาน สถาปัตยกรรม ทรงประกอบพระราชภารกิจเกี่ยวกับโครงการสถาปัตยกรรมประเภทต่างๆ ผ่าน ‘สถาปนิกผู้ถวายงาน’ ก่อกำเนิดเป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีความงดงามทางสถาปัตยกรรมไทยหลายแห่งทั้งในและต่างประเทศ
พ.ศ.2529 คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ มีมติให้คิดหา พระราชสมัญญา อันเป็นพระคุณนามพิเศษถวาย ‘พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร’ มีผู้คิดหาไว้หลายชื่อด้วยกัน
ในที่สุดอาจารย์ภาวาส บุนนาค เสนอควรใช้คำว่า อัครศิลปิน เป็นคำสั้นๆ แต่ความหมายเหมาะสมกับคติประเพณีที่ถือว่า ‘พระมหากษัตริย์’ ประกอบด้วยพระมหิมานุภาพเหนือศิลปินทั้งหลาย
คำว่า ‘อัครศิลปิน’ แปลตามศัพท์ว่า ผู้มีศิลปะอันเลอเลิศ หรือจะหมายเอาว่า ‘ผู้เป็นใหญ่ในศิลปิน’ ก็น่าจะได้ เพราะ ‘พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร’ นอกจากทรงเป็นเลิศในศิลปะทั้งปวงแล้ว ยังทรงมีคุณูปการอุปถัมภ์ศิลปินทั้งหลายมาโดยตลอด
ครั้นถึงวันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2529 อันเป็น ‘วันศิลปินแห่งชาติ’ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จออก ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ขณะนั้นคือนายสัมพันธ์ ทองสมัคร) เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลสดุดีพระเกียรติคุณ และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระราชสมัญญา ‘อัครศิลปิน’ และ ‘โล่อัครศิลปิน’ ทำด้วยทองคำ
พสกนิกรชาวไทยมีโอกาสชื่นชมจิตรกรรมฝีหัตถ์ ภาพถ่ายฝีหัตถ์ ประติมากรรมฝีพระหัตถ์ บทเพลงพระราชนิพนธ์ แต่งานด้าน สถาปัตยกรรม อาจจะยังมีผู้ทราบในวงจำกัด ว่าสิ่งปลูกสร้างหลายแห่งในประเทศไทยและในต่างแดน ‘พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร’ ทรงประกอบพระราชกรณียกิจด้านสถาปัตยกรรมไทยไว้เป็นจำนวนมาก
หลังจาก คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ดำเนินการศึกษาและค้นคว้าพระราชกรณียกิจด้านสถาปัตยกรรมไทย สภามหาวิทยาลัยศิลปากรก็ได้มีมติทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสถาปัตยกรรมไทย แด่ ‘พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร’ เฉลิมพระเกียรติคุณให้ปรากฏในวงวิชาการ กับทั้งเพื่อเป็นเกียรติประวัติและสิริมงคลแก่มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2548
ต่อมา เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในปีพุทธศักราช 2549 และ การเฉลิมฉลองพระชนมายุครบ 80 พรรษาของ ‘พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร’ วันที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2550 มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้จัดโครงการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวาระสำคัญดังกล่าวในหัวข้อ ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับงานศิลปะและการออกแบบ’ เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจทางด้านศิลปะและการออกแบบ เฉลิมพระเกียรติให้เป็นที่ประจักษ์แก่บรรดาพสกนิกรชาวไทยและชาวต่างประเทศ
อีกทั้งยังเป็นการแสดงความจงรักภักดีของเหล่าศิลปิน สถาปนิก และนักออกแบบทั้งหลาย ที่เคยมีโอกาสได้รับใช้ฝ่าละอองธุลีพระบาทในการถวายงานสนองพระราชดำริและพระบรมราชวินิจฉัยในโครงการต่างๆ
กิจกรรมหนึ่งคือการจัดทำ หนังสือรวบรวมพระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับงานศิลปะและการออกแบบ จัดพิมพ์พร้อมภาพประกอบ 4 สี ทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ขนาดหนังสือ 30 x 32.50 เซนติเมตร จำนวน 174 หน้า
“งานออกแบบซึ่งเป็นพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในหนังสือเล่มนี้ เราให้คำจำกัดความว่าเป็นงานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชดำริริเริ่ม หรือทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย หรือทรงตัดสินว่าให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้” ผศ. สุนนท์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ประธานอนุกรรมการฝ่ายรวบรวมงานในพระราชกรณียกิจ กล่าวไว้ในโอกาสจัดทำหนังสือดังกล่าว
การเก็บข้อมูลในทุกส่วนของหนังสือ ‘คณะทำงาน’ คำนึงถึงความแม่นยำและมีความระมัดระวังสูง เพื่อให้ข้อมูลถูกต้องที่สุด และจัดขึ้นในวาระที่สำคัญอย่างยิ่ง การเก็บข้อมูลจึงเน้นไปที่บุคคลซึ่งเป็นผู้ทำงานจริง เช่น ศิลปิน สถาปนิก ผู้ออกแบบ ซึ่งมีหน้าที่รับใช้เบื้องพระยุคลบาทถวายงาน
“เราสัมภาษณ์เก็บข้อมูลเป็นรายบุคคล เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมไทยเราก็สัมภาษณ์สถาปนิกผู้ออกแบบถวายงาน ซึ่งสามารถให้ข้อมูลหรือข้อความเกี่ยวกับพระบรมราชวินิจฉัยในแต่ละเรื่องอย่างไร ต้นตอของข้อมูลจึงถูกต้อง และเราพยายามให้กลุ่มของงานต่างๆ มีความหลากหลาย จะได้เห็นภาพว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่ประชาชนทั่วไปอาจจะนึกไม่ถึงคือ มีงานหลายอย่างมากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทั้งทรงงานไว้ ทรงมีพระราชดำริและพระบรมราชวินิจฉัย” รศ.ชินศักดิ์ ตัณฑิกุล คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าว
อาคารศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานคร เป็นเพียงหนึ่งในสถาปัตยกรรมอันงดงามอีกหลายแห่งที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในขั้นตอนการออกแบบ เป็นพระราชกรณียกิจด้านสถาปัตยกรรมคู่แผ่นดินสืบไป
น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตในหลวงรัชกาลที่ 9 พ.ศ.2563
: ------------------ :
อ้างอิง : หนังสือรวบรวมพระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับงานศิลปะและการออกแบบ
ภาพ : ศูนย์ภาพเนชั่น และขอบคุณภาพจาก bangkokcitypillarshrine.com