ที่ผ่านมา...ตำรวจใช้เครื่องมือ ‘ควบคุมม็อบ’ อะไรบ้าง
อุปกรณ์ที่นิยมใช้กันในการควบคุมฝูงชน (รวมถึงการสลายการชุมนุม) ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พบว่าในประเทศไทยเคยใช้ระเบิดควัน, น้ำฉีดความดันแรงสูง, สเปรย์พริกไทย, แก๊สน้ำตา, กระสุนยาง และบางเหตุการณ์ก็ถึงขั้นใช้กระสุนจริง
จากเหตุการณ์การสลายการชุมนุม "คณะราษฎร 63" ในช่วงเช้าของวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมากลายเป็นคำถามต่อประชาชนส่วนหนึ่งว่า ทำเกินกว่าเหตุไปหรือไม่? สำหรับการเตรียมกองกำลังจำนวนมาก รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการควบคุมฝูงชนที่อาจจะก่อให้เกิดความรุนแรงโดยใช่เหตุ
ในปี 2558 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง เครื่องมือควบคุมฝูงชนในการชุมนุมสาธารณะ โดยระบุว่า
การสมควรกำหนดเครื่องมือควบคุมฝูงชน เพื่อให้การชุมนุมสาธารณะเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี
ตลอดจนสุขอนามัยของประชาชน หรือคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ และไม่กระทบสิทธิและเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง มาตรา ๑๙ วรรคเจ็ด และมาตรา ๒๔ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ๒๕๕๘
และมีข้อกำหนดให้ผู้ควบคุมสถานการณ์และผู้ซึ่งได้รับมอบหมาย อาจเลือกใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนได้ ตามอุปกรณ์ต่อไปนี้
1. หมวกปราบจลาจล หรือหมวกกันกระสุนพร้อมกระบังหน้า
2. โล่ใส หรือโล่กันกระสุน
3. ชุดป้องกันสะเก็ด สนับแข้ง สนับเข่า สนับศอก อุปกรณ์ป้องกันสะเก็ดบริเวณลำตัว แขน และขา
4. กระบองยาง หรืออุปกรณ์ใช้ตี (Baton)
5. สายรัดบังคับ (สายล็อคข้อมือ) หรือกุญแจมือ
6. หน้ากากป้องกันแก๊สพิษ พร้อมหม้อกรองแก๊สพิษและไมโครโฟน
7. แก๊สน้ำตาชนิดสเปรย์ สกัดจากพืชธรรมชาติ
8. เสื้อเกราะอ่อนป้องกันกระสุน
9. เครื่องขยายเสียงพร้อมไมโครโฟน ขนาดเล็ก
10. อุปกรณ์ส่งคลื่นเสียงรบกวนพิเศษระยะไกลชนิดพกพา
11. เครื่องเสียงและระบบป้องกันอันตรายรถสั่งการ
12.เครื่องยิงแก๊สน้ำตาชนิดใช้แล้วทิ้ง
13. เครื่องฉีดแก๊สแบบสะพาย
14. ชุดปืนยิงแก๊สน้ำตาพร้อมอุปกรณ์
15. แก๊สน้ำตาชนิดเผาไหม้
16. แก๊สน้ำตาสำหรับผสมน้ำ
17. ลูกขว้างแบบควัน
18. ลูกขว้างแบบแสง – เสียง
19. ลูกขว้างแก๊สน้ำตา ชนิด OC
20. ลูกขว้างแก๊สน้ำตา ชนิด CS
21. ถุงลมบอกทิศทาง
22. เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง และสีผสมน้ำ
23. อาวุธปืนลูกซอง สำหรับยิงกระสุนยางหรือแก๊สน้ำตา
24. อุปกรณ์ช็อตไฟฟ้า (Taser)
25. ปืนยิงตาข่าย
26. รถฉีดน้ำแรงดันสูง หรือรถดับเพลิง
27. เครื่องกีดขวางการผ่านของรถ
28. อุปกรณ์ตรวจหาอาวุธบุคคล
29. อุปกรณ์ตรวจหาอาวุธยานพาหนะ
30. แผงกั้นเหล็ก
31. กรวยยาง
32. แท่นปูน หรืออุปกรณ์สำหรับป้องกันสถานที่
33. ลวดหีบเพลงแถบหนาม
34. ถุงมือหนัง
35. รถเครนยกแท่นปูน
36. ยานพาหนะสำหรับเจ้าหน้าที่และการลำเลียงเครื่องมือ
37. รถควบคุมฝูงชน (Riot Truck) ขนาด ๖ ล้อ
38. รถควบคุมฝูงชน (Riot Truck) ขนาด ๑๐ ล้อ
39. รถที่ทำการทางยุทธวิธี
40. รถบรรทุกน้ำ
41. รถส่องสว่าง
42. อุปกรณ์ส่งคลื่นเสียงรบกวนพิเศษระยะไกล ขนาดกลาง
43. อุปกรณ์ส่งคลื่นเสียงรบกวนพิเศษระยะไกล ขนาดใหญ่
44. ชุดเครื่องเสียงความดังสูง พร้อมอุปกรณ์กำเนิดพลังงาน
45. โคมไฟส่องสว่างฉุกเฉิน
46. อุปกรณ์ถ่ายภาพทั้งภาพนิ่งและเคลื่อนไหว
47. เครื่องบันทึกเสียง
48. เครื่องมือวัดระดับเสียง
แต่ถึงอย่างนั้น อุปกรณ์ที่นิยมใช้กันในอดีตที่ผ่านมาของการควบคุมฝูงชน (รวมถึงการสลายการชุมนุม) ในประเทศไทยมักจะใช้ระเบิดควัน ฉีดน้ำความดันแรงสูง สเปรย์พริกไทย แก๊สน้ำตา กระสุนยาง และรุนแรงถึงขั้นใช้กระสุนจริงที่เป็นที่ถกเถียงต่อความรุนแรงของอำนาจรัฐที่กระทำต่อผู้ชุมนุม
- แก๊สน้ำตา สลายการชุมนุมพันธมิตรฯ 7 ตุลา 51
กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือกลุ่มเสื้อเหลือง ถูกสลายการชุมนุม และอุปกรณ์สำคัญคือแก๊สน้ำตา ถูกยิงขึ้นนัดแรกหลังกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเข้าปิดล้อมอาคารรัฐสภา เมื่อช่วงเช้าวันที่ 7 ตุลาคม 2551 สถานการณ์ยืดเยื้อไปจนถึงช่วงเย็นของวันที่ 7 ตุลาคม ระหว่างนั้นก็มีการยิงแก๊สน้ำตาเป็นระยะ เหตุการณ์จบลงสรุปผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต คือ 443 คนเสียชีวิต 2 คน
- กระสุนยาง และกระสุนจริง เมษา- พฤษภา 53
ความพยายามสลายการชุมนุมใหญ่คนเสื้อแดงของ ศอฉ. เกิดขึ้นอย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งแรกในวันที่ 10 เม.ย. 2553 ถูกเรียกขานว่า "ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่" เพื่อเปิดการจราจร ถ.ราชดำเนิน ต่อมามีความพยายามสลายการชุมนุม นปช. เกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 19 พ.ค. 2553 ภายใต้ชื่อเรียกใหม่ว่า "ปฏิบัติการกระชับวงล้อม"
เหตุปะทะที่สี่แยกคอกวัว และการปรากฏตัวของ “ชายชุดดำ” ทำให้ให้เจ้าหน้าที่ใช้กระสุนจริง "เพื่อการป้องกันตัวและประชาชนได้ตามความจำเป็นและอย่างเหมาะสมกับสภาพการณ์" ตามคำสั่ง ศอฉ. ฉบับวันที่ 18 เม.ย. 2553
จากเดิมกำหนด "กฎการใช้กำลัง" จากเบาไปหาหนัก 7 ขั้นตอน ได้แก่ การแสดงกำลัง, แจ้งเตือนผู้ชุมนุมให้ทราบ, ใช้โล่, ใช้น้ำฉีด/ใช้คลื่นเสียง, ใช้แก๊สน้ำตา, ใช้กระบอง และใช้กระสุนยาง
ข้อมูลจาก ศปช. ระบุว่า ในช่วงการชุมนุมคนเสื้อแดง มีการเบิกจ่ายกระสุนจริง 597,500 นัด ก่อนส่งคืนให้กรมสรรพาวุธในภายหลัง 479,577 นัด เท่ากับมีการใช้กระสุนจริงไป 117,923 นัด และมีการเบิกกระสุนสำหรับการซุ่มยิง 3,000 นัด ส่งคืน 880 นัด เท่ากับใช้ไป 2,120 นัด
- เตรียมฉีดน้ำแรงดันสูง สลายการชุมนุมคณะราษฎร 15 ตุลา 63
การชุมนุมของ คณะราษฎร 15 ต.ค. 63 แม้จะอยู่ในกฎการใช้กำลังระยะเบา และไม่มีการใช้อุปกรณ์ทั้ง กระสุนยาง และแก๊สน้ำตา แต่ถึงอย่างนั้นตำรวจก็มีการเตรียม รถฉีดน้ำแรงดันสูง หรือที่เรียกว่าจีโน่ ที่มีทั้งกระบอกฉีดน้ำความดันสูง และเครื่องเสียงความถี่สูง พร้อมระบบรักษาความปลอดภัยกันกระสุนรอบคัน สุดท้ายแล้วการสลายการชุมนุมใช้เพียงกำลังของตำรวจไม่ใช่รถจีโน่ แต่อย่างใด
----------------------
อ้างอิง : ราชกิจจานุเบกษา