3 เรื่องต้องรู้ก่อน 'ช้อปดีมีคืน' ให้ได้ลดหย่อนภาษีสุดคุ้ม
เปิดเงื่อนไข "ช้อปดีมีคืน" พร้อมทริคการใช้งานให้ได้สิทธิประโยชน์ในการ "ลดหย่อนภาษี" แบบสูงสุด
โครงการ "ช้อปดีมีคืน" เริ่มต้นแล้วตั้งแต่ 23 ต.ค. 63 และจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธ.ค. 63 ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับประชาชนที่จะได้ใช้สิทธิจากโครงการนี้เพื่อ "ลดหย่อนภาษี" โดยเฉพาะคนที่จะต้องเสียภาษีในอัตราสูงๆ เนื่องจากมีจำนวนเงินได้สุทธิสูง
ก่อนที่จะตัดสินใจ "ช้อป" เพื่อให้ได้ "คืนภาษี" อยากให้ลองพิจารณา 3 ข้อนี้ ก่อนที่จะควักในกระเป๋าจับจ่าย โดย "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" รวบรวม 3 เรื่องที่ต้องรู้และทบทวนก่อนใช้สิทธิช้อปดีมีคืน เพื่อให้การช้อปครั้งนี้ไม่สูญเปล่า และได้ประโยชน์ทางภาษีแบบเต็มๆ
1. ต้องรู้เงินได้สุทธิ และอัตราภาษีที่ต้องจ่ายของตัวเอง
"ช้อปดีมีคืน" เป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ สามารถนำค่าซื้อสินค้าและบริการที่มีการซื้อขายในช่วง 23 ตุลาคม - 31 ธันวาคม 2563 มา "ลดหย่อนภาษี" เงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2563 ตามจำนวนจ่ายจริงรวมกันไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน
ซึ่งผู้เสียภาษีแต่ละคนจะได้รับสิทธิ์ ลดหย่อนภาษี มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ จำนวนเงินที่ซื้อ และคิดอัตราภาษีคืนตามระดับ "เงินได้สุทธิ" ในแต่ละปี โดยมีโอกาสได้รับเงินคืนภาษีสูงสุดตามระดับรายได้ ดังนี้
- เงินได้สุทธิต่อปี 0-150,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี ไม่ได้สิทธิ์คืนภาษี จากโครงการช้อปดีมีคืน แม้จะช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท
- เงินได้สุทธิต่อปี 150,001-300,000 บาท หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิ์คืนภาษีสูงสุด 1,500 บาท
- เงินได้สุทธิต่อปี 300,001-500,000 บาท หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 3,000 บาท
- เงินได้สุทธิต่อปี 500,001-750,000 บาท หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 4,500 บาท
- เงินได้สุทธิต่อปี 750,001-1,000,000 บาท หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 6,000 บาท
- เงินได้สุทธิต่อปี 1,000,001-2,000,000 บาท หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 7,500 บาท
- เงินได้สุทธิต่อปี 2,000,001-5,000,000 บาท หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 9,000 บาท
- เงินได้สุทธิต่อปี 5,000,001 บาทขึ้นไป หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 10,500 บาท
เรามีรายได้สุทธิเท่าไร? คำนวณได้จาก
"รายได้ต่อปี - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน"
= รายได้สุทธิ
นอกจากนี้ในกรณีที่ไม่ได้ซื้อสินค้าครบเต็มจำนวน 30,000 บาท ก็จะได้รับการลดหย่อนภาษีลดหลั่นลงไปตามยอดที่ซื้อจริง นั่นหมายความว่าในกรณีที่เรามีรายได้สุทธิไม่สูงมาก ไม่ต้องเสียภาษีในอัตราที่สูง การช้อปเพื่อให้ได้ลดหย่อนภาษีก็ไม่ได้คุ้มค่านัก หากซื้อสินค้าที่ไม่ได้จำเป็นมาเพียงเพราะหวังการลดหย่อนภาษีเพียงอย่างเดียว
ดังนี้เรื่องแรกที่ต้องพิจารณา สำหรับคนที่อยากได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีจาก "ช้อปดีมีคืน" จะต้องคำนวณก่อนกว่า ในปีภาษี 2563 เรามีเงินได้สุทธิอยู่ระดับใด และการช้อปเพื่อรับสิทธิช้อปดีมีคืนจะได้ลดหย่อนภาษีคุ้มกับสิ่งที่จ่ายไปหรือไม่ หรืออาจใช้วิธีลองคำนวณดูก่อนว่าเรามีตัวช่วยในการลดหย่อนภาษีจากส่วนอื่นๆ ครอบคลุมภาษีที่เราควรจะเสียแล้วหรือไม่ ถ้าครบแล้วก็อาจจะข้ามสิทธิ์ช้อปดีมีคืนไป เพื่อรักษาสภาพคล่องของตัวเองไว้ในช่วงวิกฤติแบบนี้
2. ต้องเก็บเอกสารให้ครบ
- หลักฐานที่ต้องใช้สำหรับใช้สิทธิลดหย่อนภาษี "ช้อปดีมีคืน" ได้แก่
1. ซื้อสินค้าและบริการทั่วไป ใบกํากับภาษีแบบเต็มรูป (ทั้งแบบกระดาษ และแบบ e-Tax Invoice) ที่ระบุข้อมูลผู้ขาย และข้อมูลของคุณ รวมถึงวันที่ รายการและจํานวนเงินด้วย
2. ซื้อหนังสือ (รวมถึง e-book) ใบเสร็จรับเงิน (ทั้งแบบกระดาษ และแบบ e-Receipt) ที่ระบุข้อมูลผู้ขาย และข้อมูล ของคุณ รวมถึงวันที่ รายการและจํานวนเงินด้วย
3. ซื้อสินค้า OTOP ใบกํากับภาษีแบบเต็มรูป/ใบเสร็จรับเงิน (ทั้งแบบกระดาษ และแบบ e-Tax Invoice & eReceipt) ที่ระบุรายการสินค้า OTOP, ข้อมูลผู้ขาย และข้อมูลของคุณ รวมถึงวันที่ รายการและจํานวนเงินด้วย
- รูปแบบใบเสร็จรับเงินที่ใช้ลดหย่อนภาษีได้ ในกรณีซื้อสินค้าจากผู้ขายที่ไม่ได้จด VAT
หากซื้อสินค้าจากผู้ขายที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีช้อปดีมีคืน ใบเสร็จรับเงินต้องมีข้อมูลครบถ้วนดังต่อไปนี้
- เลขประจําตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ขาย
- ชื่อหรือยี่ห้อของผู้ขาย
- เลขลําดับของเล่มและใบเสร็จรับเงิน
- วันเดือนปีที่ออกใบเสร็จรับเงิน
- ชื่อ นามสกุล และเลขประจําตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อ
- ชนิด ชื่อ จํานวน และราคาสินค้าที่ซื้อ
- จํานวนเงิน
3. ช้อปในสิ่งที่จำเป็นกับตัวเอง
อีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้เงื่อนไขของโครงการ คือ การคำนึงถึง "ความจำเป็น" ของสิ่งที่จะซื้อ หลายคนอาจมองข้ามเรื่องนี้เพราะให้ความสำคัญกับการลดหย่อน จนตัดสินใจซื้อแบบไม่ทันได้นึกถึงความคุ้มค่าในการใช้งานที่เหมาะกับตัวเอง
โดยอาจพิจารณาสินค้าที่จำเป็นต้องใช้อยู่แล้วในอนาคตอันใกล้ อาทิ ยางรถยนต์ ข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน หนังสือ ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถใช้ประโยชน์จากของที่ช้อปมาได้เต็มที่ และได้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี ที่เรียกได้ว่าได้ประโยชน์ถึงสองเด้ง
ที่มา: iTAX